28 ต.ค. 2022 เวลา 09:41 • อาหาร
“บ้าบิ่น: สิ้นชีวิตคารถเข็นริมทางอล้วฟื้นชีพในห้างกลางใจเมือง”
แต่ไหนแต่ไรมาเห็นบ้าบิ่นรถเข็นริมทางชิ้นขนาดเหรียญห้าบาทรุ่นแปดเหลี่ยม แม้มันจะไม่เคยถูกพยายามทำให้กลมหรือเหลี่ยมก็ตาม แต่มันก็ทำด้วยข้าวเหนียวดำมะพร้าวอ่อนมาตั้งแต่จำความได้ ไม่มีความจำเป็นต้องใส่ชื่อรุงรังว่า “บ้าบิ่นข้าวเหนียวดำมะพร้าวอ่อน” เคยกินตอนชิ้นละ 1 บาท ห่างหาย ลืม ๆ กันไปตอนชิ้นละ 2 บาท เจออีกที มันเข้ามาอยู่ในห้างสรรพสินค้า ชิ้นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเท่าแผ่นซีดี (ตัวเปรียบยังคงจินตนาการยากสำหรับคนเจน Z) ใน Packaging กระดาษลูกฟูก สแตมป์โลโก้อย่างเท่ ราคากล่องละ 60 บาท
2
ภาพลักษณ์ใหม่บ้าบิ่น บิ๊กไซส์ บนเตาย่างญี่ปุ่น เพิ่มเติมมะพร้าวอ่อนเน้น ๆ ราคาแบบกล้าได้กล้าเสีย พบได้ตามคอมมูนิตี้มอลล์ สถานีรถไฟใต้ดิน สถานีรถไฟลอยฟ้า ห้างสรรพสินค้าแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ และตลาดนัดชนชั้นกลางในเมือง
ผมนึกเกลียดประวัติศาสตร์ขนมบ้าบิ่นมากพอสมควร แม้จะมีหลากหลายตำนาน เรื่องเล่า ทำให้สนุกดี แต่บางตำนานก็ออกจะพิมพ์นิยมไทย คล้ายนางเอกในหนังอาเปี๊ยกพิศาล หลังถูกพระเอกเข้าใจผิดลงมือเหยียบย่ำน้ำใจ กระทำชำเราโดยอ้างว่าแก้แค้น แต่ตอนท้ายก็รักกัน เหมือนประวัติศาสตร์ขนมบ้าบิ่นฉบับ Classic ที่ถูก "ลากเข้าความ" ว่าผู้ที่เป็นต้นคิดขนมชนิดนี้ คือ “ป้าบิ่น” (Aunty Bin)
2
ตำนานแรก
ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ "ขนมแม่เอ๊ย" (2564) ว่า "ขนมนี้เมื่อสมัยในรัชกาลที่ 5 เคยมีคนเขียนไปถาม ก.ศ.ร.กุหลาบ เอดิเตอร์หนังสือ "สยามประเภท" ว่า ทำไมจึงเรียกขนมชนิดนี้ว่า ขนมบ้าบิ่น ก.ศ.ร.กุหลาบตอบว่า ที่เรียกอย่างนี้ เพราะเมื่อก่อนนั้น "ป้าบิ่น" แกเป็นคนทำขึ้น เลยเรียกขนมป้าบิ่น ต่อมาเลยเรียกเพี้ยนเป็น บ้าบิ่น..."
2
ตำนานที่ 2
เป็นของไพโรจน์ บุญผูก (2549) สันนิษฐานว่าขนมบ้าบิ่นเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง เค้าลางมาจาก "บาร์บิล" (Babin) มาจากขนมโปรตุเกสชื่อ "เกลชาดาซ เดอ กรูอิงบรา" (Queijadas de Coimbra) ซึ่งใช้เนยแข็ง ส่วนของไทยใช้มะพร้าว รวมทั้งขนมชนิดนี้มีส่วนผสมของไข่ไก่ด้วย นอกจากแป้งข้าวเหนียวดำ (หรือแป้งข้าวเหนียวขาว) กะทิ น้ำตาลทราย เกลือ มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย (หรือมะพร้าวอ่อน) และผงฟู ตามสูตรขนมตระกูลทองของโปรตุเกส
1
น่าสนใจว่า ข้อมูลของไพโรจน์ บุญผูก แม้จะดูแอบอิงฝรั่งแต่ก็ได้รับการรับรองโดยสถาบันวิชาการ เมื่อภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแสดงนิทรรศการขนมนานาชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2541 ภายในงานได้จัดแสดงประเภทขนมหวานของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส และหนึ่งในนั้นก็มี "บ้าบิ่น" รวมอยู่ด้วย
ตำนานที่ 3
มาจาก สุดารา สุจฉายา (2561) อดีตบรรณาธิการวิชาการนิตยสารสารคดี เป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คุณยายเป้า (ประสาทพร) มณีประสิทธิ์ ชาวชุมชนกุฏิจีน ฝั่งธนบุรี ผู้มีเชื้อสายโปรตุเกส ได้ความว่า "ญาติผู้ใหญ่ทางมารดาชื่อ 'แม่บิ่น' เป็นคนประดิษฐ์คิดทำขนมชนิดนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เดิมคงเรียกว่า 'ขนมป้าบิ่น' แล้วอย่างไรกลายเป็นขนมบ้าบิ่นไปไม่ทราบ บางทีจะถนัดปากคำว่า 'บ้าบิ่น' มากกว่ากระมัง..."
1
มะพร้าวอ่อน "ชิ้นใหญ่" และ "ให้เยอะ" คือจุดขายสำคัญของขนมบ้าบิ่นยุคนี้
"บ้าบิ่น" รสชาติหอม หวาน มันเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือมะพร้าวอ่อนที่เคี้ยว "โดน" ทุกคราวคำ บอกได้คำเดียวว่า แค่เปลี่ยนมุมมองและ Packaging ความรู้สึกและ Marketing ก็เปลี่ยนตาม
จะว่าไปแล้ว อาหารไทย ขนมไทย ความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องสืบเชื้อไทยมาแต่ทวารวดี ฟูนัน เจนละ ศรีวิชัย หรือสุโขทัยเท่านั้น คิดสร้างสรรค์ได้วันนี้ สังคมยอมรับ มีคนสืบทอดมันก็ไทยได้เช่นกัน
แต่ก็ใช่ว่าจะสร้างสรรค์จากอากาศ ท่วงทำนองความคิดก็คงจะมีต้นทุนมาจากบรรพชนปู่ย่าตายาย การได้ยินได้ฟัง ได้พบได้เห็น สั่งสมตกตะกอนความคิด ตำนานของป้าเป้าจึงดูมีความน่าเชื่อ ขนาดป้าเกิดในชุมชนโปรตุเกส มีเลือดโปรตุเกสก็ใช่ว่าจะเชียร์โปรตุเกส ตำนานของไพโรจน์ก็ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนบางเสี้ยวของถ้อยคำที่ผิดเพี้ยนจาก "ป้าบิ่น" เป็น "บ้าบิ่น" ในตำนานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ ส.พลายน้อย นำมาเล่าต่อ ก็ล้วนมีส่วนถูกอยู่ด้วย
แล้วทำไม "บ้าบิ่น" ที่ดูจะล้มหายตายจากไปจึงคืนชีพกลับมาในช่วงเวลานี้? ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร รู้แต่ว่าแม่ค้าบ้าบิ่นยุคใหม่ที่คนเข้าแถวรอกันเป็นชั่วโมงโผล่ขึ้นมาพร้อม ๆ กันช่วงปลายปี 2564 อย่างน้อยสื่อสังคมออนไลน์คงมีส่วน เช่น "ขนมบ้าบิ่นกัสโต้ ลาดกระบัง" "ขนมบ้าบิ่นหน้าธ.ธนชาติ นครปฐม" "รำไพขนมไทย เซ็นทรัล อุดรธานี" "บ้าบิ่นศรีย่าน กรุงเทพฯ" และ "บ้าบิ่นอินทาวน์ พระรามเก้า รามคำแหง"
เจ้าดั้งเดิมที่เคยใช้เตาขนมเบื้องกลม ๆ ทำบ้าบิ่นชิ้นกลมจิ๋วนั้นหายหน้าหายตาไป เหลือเพียงบางเจ้าที่เปลี่ยนกระทะและรูปลักษณ์ก็ยืนยาวต่อมา เช่น "แม่ทองอยู่ ตลาดน้ำดอนหวาย" รวมทั้งบ้าบิ่นพี่แนต น้องนิว เฮียหมิว หรือเจ๊แอน ที่มารวมตัวกันตามตลาดนัดคนเมือง เป็นความสนุกที่เห็นขนมไทยบ้าน ๆ กลับมามีชีวิตอีกครั้งแม้ว่าราคาจะไม่บ้านเท่าไหร่เลย
1
โฆษณา