29 ต.ค. 2022 เวลา 07:08 • นิยาย เรื่องสั้น
[Review] นักเขียนที่ล้มเหลว
1.
พูดกันในฐานะนักเขียน Freelance ผมนับว่าเป็นนักเขียนที่ “ล้มเหลว”
เอาเข้าจริงคำว่า “ล้มเหลว” เป็น “คำกำกวม” ที่ไม่อาจระบุความหมายอย่างแน่ชัดได้ ล้มเหลวอย่างไร? ล้มเหลวในแง่ไหน? หรือใช้เกณฑ์อะไรมาบอกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งล้มเหลว?
ถ้าใช้มาตรฐานของโลกสมัยใหม่ สถิติทั้งหลายของผมบ่งชี้ว่าผม “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิงในแง่ของผู้อ่าน และการทำรายได้ งานอะไรแบบนี้ที่ผมใช้เวลาขลุกอยู่กับมันแสนนานจึงเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยง “จิตใจ” ได้มากกว่าเลี้ยง “ปากท้อง”
แต่การล้มเหลวในแง่ของจำนวนผู้อ่าน และรายได้ ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ชัดเจนในการบ่งบอกว่าความเป็นนักเขียนของผมนั้น “ล้มเหลว” H. P. Lovecraft ที่ชื่อของเขากลายเป็นคำเรียกกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องกับความกลัวชนิดที่สติปัญญาของมนุษย์ไม่อาจจะเข้าใจได้ ก็เป็นนักเขียนท่านหนึ่งที่ประสบความล้มเหลวในทั้งสองแง่นี้ในยุคของของตน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่อาจบอกได้เลย Lovecraft ล้มเหลวในแง่ของ “ความเป็นนักเขียน” แต่อย่างใด
คำถามต่อมาคือ แล้วอะไรคือความล้มเหลวในแง่ของ “ความเป็นนักเขียน”?
จากการขบคิดกับตัวเองมาหลายต่อหลายวัน ต่อหน้าคำถามนี้ สิ่งเดียวที่ผมมีอยู่คือ “ความไม่รู้”
2.
ใครคือคนนิยามความเป็นนักเขียน?
ไอ้สิ่ง ๆ นี้มันช่างไม่เป็นธรรมชาติเอาเสียเลย มันเป็นแค่ประดิษฐกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาแรกเริ่มเพื่อแค่ดำรงชีพ และเอาตัวรอดจากความโหดร้ายของสภาพแวดล้อม แต่มันดันทำให้เผ่าพันธุ์ของเราแข็งแกร่ง และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกใบนี้ไปตลอดกาล
ในขณะเดียวกัน ไอ้สิ่งที่เรียกว่า “นักเขียน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักเขียนอาชีพ” มันก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่มีความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ มีเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ดีพอ และคนทั้งหลายมีกำลังมากเพียงพอที่จะซื้อหนังสือที่เหล่า “นักเขียน” เขียนออกมาได้
การเขียน (และการอ่าน) ในแบบที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันจึงไม่ได้เก่าแก่เช่นงานวิจิตรศิลป์ หรือคีตศิลป์
แต่ความใหม่เช่นว่าก็ไม่ได้ทำให้นักเขียนมีศักดิ์ศรีต่ำต้อยกว่าศิลปินประเภทอื่น ๆ มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งที่เล่ากันว่า ในบรรดาศิลปินทั้งสามแขนง นักเขียนคือผู้ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด และเป็นศิลปินแขนงที่ “จน” ที่สุดในเวลาเดียวกัน
กาลเวลาจึงหล่อหลอม “ความเป็นนักเขียน” บางประการขึ้นมาเป็นหลักการให้ชนรุ่นหลังยึดถือ เป็นหลักปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ยึดโยงกับชีวิตเช่นเดียวกับศาสนา ผมไม่แน่ใจว่าวิถีแห่งการเป็นเสรีชนผู้ยึดโยงตัวเองกับสังคม โลก และมนุษย์ผู้ถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวอักษรเช่นนี้จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตามสถิติของผู้นับถือศาสนาหรือไม่ แต่ผมเป็นหนึ่งในนั้นที่ยังคงมีศรัทธา
Photo by Jessica Lewis Creative from Pexels: https://www.pexels.com/photo/ball-point-pen-on-opened-notebook-606541/
3.
...นักเขียนน่ะหรือ?... ก็คือไอ้เบื๊อกที่ถูกตรึงไว้กับโต๊ะในห้องสี่เหลี่ยมอุดอู้ ทำร้ายตัวเองด้วยกาแฟวันละสิบถ้วย และบุหรี่วันละซองเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้มึนงงพอที่จะเพ่งมองฝาผนังแล้ววาดฝันถึงการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งโลก!!...
(บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร,2556)
ผมว่านิยามนี้ของนักเขียนซีไรต์ปี 2539 น่าจะเป็นนิยามที่ตรงกับการทำงาน และอุดมคติของนักเขียนที่สุดแล้ว อีกทั้งมันยังไม่ได้ผูกโยงกับรายได้ และจำนวนผู้อ่านอย่างที่ผมได้สาธยายไปข้างต้น และหากเรายึดนิยามนี้อย่างซื่อตรง สิ่งเดียวที่จะทำให้เราขาดจากนิยามของการเป็น “นักเขียน” ได้ คือการหยุดการกระทำเช่นนั้นเสีย
ผมหยุดทำร้ายตัวเองด้วยบุหรี่ไปแล้ว กาแฟยังมีบ้าง แต่ด้วยภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจทั้งของตัวเองและสังคม ผมเลยยังไม่ได้กินกาแฟเยอะพอจะทำร้ายอะไรได้ แต่สิ่งที่ร่อแร่ดิ้นพล่าขาดออกซิเจนกองอยู่บนพื้น ร้องเรียกให้ผมช่วย CPR แล้วนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาขั้นต่อไปคือตัวของ “การเขียน” เองนี่แหละ
ตัวหนังสือของผมในสมองมันวกวน สับสน และพันกันไปมาเหมือนหูฟังมีสายที่ยัดใส่ไว้ในกระเป๋า ตัวเรื่องเล่าเองก็เลือนรางราวเปลวไฟใกล้ดับ ผมไม่แน่ใจว่าลักษณะอาการเช่นนี้ของตัวเองมีที่มาจากอะไร รู้ตัวอีกทีผมก็ตกแก่สภาวะไปเสียแล้ว ที่น่าสนใจยิ่งกว่า จากการวินิจฉัยของตัวเอง สภาวะตีบตันเหมือนกินแครกเกอร์แบบไม่มีน้ำชานี้มีที่มาหลัก ๆ อยู่ที่การขาดแรงจูงใจที่มาจากรายได้และจำนวนผู้อ่าน!!
4.
“เราเข้าใจ ว่าเรื่องราวแบบที่เธอเจอมามันเป็นอีกอย่าง แต่ที่เราเจอมา วงการนี้มันมีแต่ Connection” ผมพูดกับเธอด้วยความอึดอัด เป็นเวลาสามเดือนที่ผมเร่เดินสมัครงานด้วยนิตยสารที่เคยทำสมัยปริญญาตรี กับผลงานเกี่ยวกับเชียงใหม่ในบล็อกที่ไม่ค่อยจะมีคนใส่ใจอ่านเท่าไรนัก แน่นอนว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาคือการเขียนที่ไม่ค่อยจะตรง Target ผู้อ่านยุคสมัยนี้ และการไม่ตอบเมล์ของ HR
เธอกุมมือผมแน่นด้วยใบหน้าที่ร้อนผ่าวกับสีหน้ายากจะคาดเดา ความกดดันโถมเข้าห้อมล้อมบรรยากาศรอบกายให้เย็นยะเยียบ ผมเดาได้ว่าคำพูดต่อไปจากปากเธอคืออะไร เราคุยเรื่องนี้กันมาแล้วเป็นร้อย ๆ รอบ และทะเลาะกันทุกรอบที่คุยกัน
แรงกระชากของรถไฟฟ้าทำผมตื่นจากภวังค์ด้วยความรู้สึกแน่นหน้าออก ลึกในเบ้าตาและจมูกตีบตันเหมือนพยายามจะระบายของเหลวออก ความรู้สึกนี้จะกลับมาอีกเรื่อย ๆ หากผมยังอยู่ในสภาวะเช่นนี้ต่อไป มองดูความเป็นจริง สถานการณ์ในชีวิตหลายด้านมันก็ยังสุกงอมไม่มากพอจะให้ผม “เกิด” ในฐานะนักเขียนจริง ๆ ได้ อาจจะฝีมือยังไม่ถึง ทัศนคติไม่ตรงกับนายจ้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่มีใครสักคนบอกได้ว่าผมพลาดตรงไหน อ่อนตรงไหน ปรับปรุงอะไร แค่ “อาจจะ” ยังไม่เข้าตา
ในลักษณะนี้เองที่ผมคิดว่าผมล้มเหลว ผมยังตีฝ่ามันออกไปไม่ได้ ภาวะจิตใจที่สับสนวุ่นวาย ความขาดแคลนสิ่งจุนเจือชีวิตเพื่อมุ่งมั่น และจดจ่อกับการสร้างสรรค์งานเขียนที่จะเปลี่ยนโลก รายได้และจำนวนผู้อ่านเป็นเหตุปัจจัยสำคัญต่อการหล่อเลี้ยงอุดมคตินั้นเอาไว้ให้ได้
ผมโทรไปขอโทษเธอ และพยายามประคับประคองสติกับซากอารมณ์ของตัวเองเอาไว้ให้ได้ ความรักชนะได้ทุกสิ่งแม้แต่ความสิ้นหวังในชีวิต ผมพิจารณาไตร่ตรองบางอย่างขณะเดินผ่านถนนในตรอกซอกซอยที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ กลับถึงที่พักว่าจะไปนั่งเขียนอะไรสักอย่างหนึ่ง เขียนไปเรื่อย ๆ แบบที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเดดไลน์
ผมขอล้มเหลวแค่เรื่องรายได้ กับจำนวนคนอ่านก็พอแล้ว ไม่ขอล้มเหลวเรื่องการเขียน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา