21 ต.ค. 2022 เวลา 11:25 • หนังสือ
[Review] : สามฤดูเป็นหนึ่งใจ
ผมรู้จักพี่พู-อุรุดา โควินท์เป็นครั้งแรกผ่าน Podcast แนะนำหนังสือรายการหนึ่ง ขณะกำลังทอดน่องดื่มด่ำกับไอหมอกเช้าของหน้าหนาวในทุ่งรังสิตที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้หลากสีผู้ปล่อยให้แสงนวลของดวงอาทิตย์โลมเลียผิวกายอย่างอ่อนละมุน โดยมีเสียงโปรยปรายของน้ำพุ และดอกตีนเป็ดกลิ่นฉุนกำลังแอบมองอยู่อย่างฉงนใจ
ตอนนั้นผมยังได้อ่านวรรณกรรมอะไรมากมาย หนังสือจะสอบยังไม่ค่อยจะแตะด้วยซ้ำ ชื่อของนักเขียนหญิงคนนี้ในเวลานั้นจึงเป็นอะไรที่แปร่งหู แต่พอฟัง Podcast ตอนนั้นจบ ผมก็ลองไปหา “ค่อย ๆ ไป แต่ไม่หยุด” มาลองอ่านดูเพราะกำลังสนใจการวิ่ง
แน่นอนว่าหนังสือเล่มนั้นวิ่งหายเข้าไปในกองดองจนกระทั่งถึงเวลาต้องส่งคืนห้องสมุด
จนได้เรียนวิชาวรรณกรรมเด่นร่วมสมัยของไทย “แผ่นดินอื่น” เป็นหมุดหมายที่จำเป็นต้องพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากความเป็นเพื่อชีวิตที่ถูกนำเสนอด้วยขนบแบบใหม่ อย่างที่นักเขียนจากทวีปละติน อเมริกาในยุคหนึ่งนิยมใช้กันอย่าง “สัจนิยมมหัศจรรย์” ผมจึงได้ยินชื่อของอุรุดาอีกครั้งในฐานะ “คนรัก” ของกนกพงศ์ที่อาศัยอยู่ด้วยกันที่ “หุบเขาฝนโปรยไพร”
จากตอนนั้น ผมพยายามอ่าน พยายามเขียน พยามถ่ายทอดความคิดต่อโลก ผู้คน และสังคมด้วยสื่อแบบวรรณกรรม แน่นอน กนกพงศ์ สงสมพันธุ์คือแรงบันดาลใจสำคัญที่ส่งผลกับมุมมอง ความคิด สำนวนภาษา กระทั่งพฤติกรรมบางอย่างของผม ผู้หมายมั่นจะยึดเอาการเขียนเป็นเครื่องหาเลี้ยงทั้งชีวิต และจิตวิญญาณให้จงได้
แต่ผมก็ไม่เคยอ่านงานของพี่พูอย่างเป็นจริงเป็นจัง
เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อน ขณะที่ผมกำลังหัวฟูกับข้อมูลมหาศาลในการสมัครงานในห้องสี่เหลี่ยมรก ๆ กับกลิ่นจาง ๆ ของกลิ่นเทียนหอมที่ใช้มาจนไม่ค่อยจะหอมเท่าไหร่ กองหนังสือกองหนึ่งถูกหยิบมาวางในสภาพเปื่อยน้ำเป็นปื้น ๆ ดำ ๆ เขียว ๆ แถมยังมีราขึ้น น้องชายผมกล่าวว่าจะเอารถไปเคลมประกันเลยเอาหนังสือที่ผมวางลืมเอาไว้มาคืน ก่อนจะเดินจากไปด้วยสีหน้าเรียบเฉย
“สามฤดูเป็นหนึ่งใจ” คือเล่มหนึ่งที่อยู่ในหนังสือกองนั้น และดูจะเป็นเล่มที่เสียหายหนักที่สุด
ความเปื่อยพองของน้ำและราถูกฆ่าด้วยแอลกอฮอล์ และไฟ ยังมีอีกหลายเล่มที่เสียหาย เช่น เที่ยวบินกลางคืน ของอองตวน เดอ แซงเต็ก ซูเปรี แต่ก็ไม่หนักเท่าเล่มนี้ (ตุลาคม,2022)
ผมหยิบมันขึ้นมาปั๊มหัวใจ พลางนึกถึงตอนที่หยิบมันใส่ตะกร้า จากงานสัปดาห์หนังสือ ผมที่กำลังกระเตงหนังสือกองใหญ่ในตอนนั้นยืนตาลุกวาวกับหนังสืออยู่ที่บูธสำนักพิมพ์มติชน แน่นอนว่ามันโดดเด่นสะดุดตา แต่สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพราะชื่อคนเขียนที่เคยได้ยินผ่าน ๆ มานาน
แต่เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหาร
สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น หลังคาบพักเที่ยงของวันหนึ่ง อยู่ดี ๆ คุณครูก็พาเราไปนั่งในห้องประชุมใต้ตึกวิทยาศาสตร์ ที่ปกติมีไว้ใช้กับการประชุมสายชั้น เอาจริงตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดอะไรเยอะ กลับชอบด้วยซ้ำที่ไม่ต้องต่อแถว ท่องอาขยานในวิชาภาษาไทยของครูลดาวัลย์
พอนั่งไปพักหนึ่งจึงรู้ว่าโรงเรียนพาคนมาแนะแนวการเรียนต่อในระดับม.ปลาย ที่มันจะเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้งจากนี้ เผอิญว่าวันนี้เป็นคิวของโรงเรียนสอนอาหารที่ผมไม่ได้คิดว่ามันน่าสนใจอะไร กะจะแอบหลบไปเล่นการ์ดกับเพื่อนหลังหอประชุมด้วยซ้ำ แต่ประโยคแรกของผู้บรรยายเรียกความสนใจของผมได้อยู่หมัด
...ถ้าแค่ข้าวผัดยังทำไม่อร่อย อย่าหวังว่าอย่างอื่นจะอร่อย...
โลกของอาหารมันลึกลับซับซ้อนกว่าที่เราเข้าใจ วัตถุดิบทั้งหลายกว่าจะเดินทางมาถึงเราได้นั้น มันผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากมาย ทั้งยังเกี่ยวสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของเราอาจจะไม่รู้ตัว การปรุงให้อร่อยลิ้น และอร่อยหูไปพร้อม ๆ กันจึงเป็นอะไรที่ท้าทาย สิ่งนี้กลายเป็นจุดขายของร้านอาหาร Find Dining หลายร้านในปัจจุบัน แต่ในตอนนั้นมันเป็นอะไรที่ยังไม่ได้เป็นที่นิยม แต่เรื่องเล่าเช่นนี้เอง ทำให้ผมนั่งฟังการ Talk วันนั้นจนจบราวกับต้องมนต์
“สามฤดูเป็นหนึ่งใจ” สะกดผมได้ด้วยอะไรที่คล้าย ๆ กับที่ได้ฟังในวันนั้น จานอาหารแต่ละจานที่ผ่านไปในแต่ละหน้าไม่เพียงแต่กระตุ้นลิ้นให้อยากไปหามาลองกิน แต่ยังถูกปรุงด้วยเรื่องเล่าอย่างพิถีพิถันด้วยเอกลักษณ์ทางภาษา การเล่าเรื่องเฉพาะตัว และภาพประกอบที่สวยงามจนแทบจะวางจากหนังสือ แล้วไปเข้าครัว ทำอาหารตามสูตรที่มีในนั้น
หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสูตรอาหารหลายประเภท ตั้งแต่อาหารง่าย ๆ อย่างไข่ลวก ไปจนถึงอาหารรัสเซียที่หาสูตรได้ยากมาก
สิ่งที่เป็นแกนหลักของหนังสืออีกอย่างหนึ่งคือ “เวลา” ในความเป็นจริงมันก็เป็นสิ่งที่เคลื่อนผ่านเราไปอยู่แล้วทุกขณะ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ แต่อะไรบางอย่างก็มีระยะเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง เราอาจจะกินแกงกระด้างในหน้าร้อนได้ แต่มันก็พรือโฉ้ (แปลก ๆ) ไปหน่อย ความลงตัวของฤดูกาลนี้เองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้อร่อยขึ้น ทั้งส่วนที่เป็นเรื่องสั้น และส่วนที่เป็นเรื่องเล่า ทั้งยังทำให้สัมผัสถึงกลิ่นจาง ๆ ของไอฝนที่เพิ่งผ่านไป และไอหนาวที่กำลังจะมาเยือนได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีกลิ่นดอกตีนเป็ด
ทว่าสิ่งที่ถูกซ่อนเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ (และคงอยู่ในอีกหลาย ๆ เล่มของอุรุดา) และทำให้ผมรู้สึกชอบ คือภาษาแบบที่มีจริตจะก้าน ทว่าแฝงความละเมียดละไม มันส่งพลังหญิงแบบเต็มร้อยเข้ามาปะทะ แต่ไม่ได้โถมถามาเป็นคลื่นสึนามิ แต่ค่อย ๆ หยอด ค่อย ๆ ตะล่อมจนเราเข้าไปอยู่ในนั้นแบบไม่รู้ตัว เป็นภาษาที่มีความเอาแต่ใจบ้าง แต่ก็ไม่เกินเลยจากความเป็นจริง
หลังจากกู้ชีพทำความสะอาดมันได้ ผมนั่งลงอ่านมันจนจบ,หลังจากที่ดองไว้อย่างยาวนาน,ด้วยความรู้สึกหลาย ๆ อย่าง มันไม่ได้มีพล็อตเรื่องสลับซับซ้อน ไม่ได้เครื่องเยอะ จัดจ้าน สะใจเหมือนต้มยำ แต่มันคืออาหารง่าย ๆ ที่กินได้เรื่อย ๆ แบบไข่เจียว และแน่นอน มันมักจะหมดก่อนเป็นจานแรก แต่ผมดันพลาดที่ทิ้งไข่เจียวเล่มนี้นานเกินไปหน่อย ถ้าผมได้อ่านมันตั้งแต่ยังมีควันฉุย มันคงจะอร่อยกว่านี้มาก ๆ
อาหารบางอย่างอร่อยในบางโอกาส และฤดูกาล ยิ่งสำรวจ ยิ่งทดลองมาก ๆ เข้า เราจะรู้จักกับตัวเองมากขึ้นทั้งสิ่งที่เราชอบ และไม่ชอบ โลกการอ่านเองก็เช่นเดียวกันที่มีวาระเวลา หนังสือบางเล่มอร่อยในบางเวลา ยิ่งอ่านมาก สำรวจมาก เราก็ยิ่งเข้าใจตัวเองมากขึ้น และแน่นอน สำหรับผม อุรุดากลายเป็น “นักเขียน” อีกคนหนึ่งที่เฉิดฉายได้ด้วยภาษาของตัวเอง เรื่องในแบบของตัวเอง และยังปรุงมันได้ “อร่อย” เสียด้วย
เย็นวันนั้นผมกลับบ้านไปบอกพ่อว่าอยากเรียนต่อด้านอาหาร แน่นอนว่าโดนค้านแบบหัวชนฝา เอ็งจะทิ้งฟิสิกส์ เคมีที่อุตส่าห์ส่งเรียนพิเศษแสนแพงได้ยังไง เอ็งต้องเรียนต่อสายวิทย์สิ แต่พ่อก็ไม่เคยห้ามผมเขียนหนังสือ และไม่เคยห้ามผมเข้าครัว เสียดายที่ตอนนี้ทุกคนอยู่กันที่บ้าน ส่วนผมก็อยู่หง่อย ๆ ในคอนโดแคบ ๆ ไม่ได้กินอาหารกับพ่อแม่พร้อมหน้ากันมานาน เอาเถอะ ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ทำอะไรสักอย่างให้รางวัลตัวเองสักหน่อยก็ไม่เสียหาย
ผมเหลือบมองวัตถุดิบในครัวที่มีอยู่พลางคิดกับตัวเอง
“ข้าวผัดร้อน ๆ สักจานคงจะดี”
"สามฤดูเป็นหนึ่งใจ"
โดย อุรุดา โควินท์
พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2562 สำนักพิมพ์มติชน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา