29 ต.ค. 2022 เวลา 12:22 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
EP.5 ใต้ร่ม(เงา)แม่ คือผู้อุ้มชูการศึกษาของลูก : พินิจการศึกษาเด็กเกาหลีผ่าน Under the Queen’s Umbrella
(ขอความกรุณาไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการนำเนื้อหาไปใช้รบกวนอ้างอิง หรือให้เครดิตหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ)
รับชมได้ทางแอปพลิเคชัน Netflix ทุกวันเสาร๋-อาทิตย์ เวลา21.00 ค่ะ
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน หายไปนานกับ blog ชวนเม้ามอยสไตล์เกา ๆ (หลี) Ep. นี้ซอจะมาชวนพาทุกคนท่องเวลาย้อนยุคกลับไปสมัยโชซอนของเกาหลี เพราะละครที่น่าจับตามอง และเป็นที่พูดถึงตอนนี้คงไม่พ้น “Under the Queen’s Umbrella” หรือ “ใต้ร่มราชินี” ซึ่งตอนนี้ออนแอร์ไปได้ 4 ตอน ยอมรับว่ามีทั้งฉากที่เชือดเฉือนอารมณ์ คอเมดี้ สนุก เศร้า ซาบซึ้ง และประทับใจไม่น้อยเลยค่ะ
พระราชินีอิมฮวารยอง (ซ้าย) | พระพันปีโจ (ขวา)
และเหมือนเดิมกับเอกลักษณ์ของ blog อิน(ไซต์)ซีรีส์ เราจะไม่สปอยล์เนื้อหาส่วนสำคัญ แต่จะชวนเม้าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้คนที่ยังไม่ดู เข้าใจได้ รวมถึงคนที่ดูละครเรื่อง Under the Queen’s Umbrella สนุกกับละครมากขึ้น ก่อนจะเริ่ม ซอขอปูพื้นสักนิดว่าละครเรื่องนี้เป็นพีเรียดที่ไม่ได้อิงกับประวัติศาสตร์ยุคไหนของเกาหลี แต่มีเค้าโครงว่าเกิดขึ้นช่วงใดช่วงหนึ่งของราชวงศ์โชซอน พิจารณาจากบริบทสังคม การแต่งกายของตัวละคร ชื่อเรียกสถานที่ เป็นต้น
เรื่องราวหลัก ๆ ก็จะกล่าวถึงสงครามระหว่างพระราชินีกับพระพันปีที่ขับเคี่ยวอำนาจ โดยพระพันปีมีจุดประสงค์บางอย่างต้องการปลดองค์รัชทายาท (ลูกชายคนโต) ของพระราชินีออกจากตำแหน่ง และให้องค์ชายของสนมคนอื่นขึ้นรับตำแหน่งแทน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พระราชินีและองค์ชายคนที่เหลือจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไป (จะต้องมีคนคิดกำจัดคนที่สามารถขึ้นตำแหน่งพระราชาได้ทุกเมื่อ) พระราชินีจึงต้องหาทางปกป้ององค์ชายหรือลูก ๆ ของตนเอง ซึ่งพระองค์มีลูกชายด้วยกันทั้งหมด 5 คนค่ะ
สิ่งที่ห่อหุ้มโครงเรื่องนี้และซอคิดว่านักเขียนบทถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก ๆ คือมุมมองความรักของหัวอกคนเป็นแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งไม่ว่าจะตำแหน่งใหญ่โตแค่ไหน คนเป็นแม่ก็คือแม่ และความรักของแม่ก็ยังยิ่งใหญ่ อบอุ่น จริงใจ และหวังดีกับลูกเสมอ แม้ละครจะดำเนินเรื่องในสมัยอดีต แต่แนวคิดของพระราชินีผู้เป็นแม่นั้น ซอขอบอกว่ามีความทันสมัย เป็นคุณแม่ยุคใหม่มาก ๆ อยากแนะนำให้คุณผู้อ่านทุกคนลองดูละครเรื่องนี้ แล้วอิ่มเอมไปกับความรักของแม่พร้อมกันค่ะ
เกร็ดวัฒนธรรมที่ซอจะชวนทุกคนเม้ามอยใน Ep นี้เป็นเรื่องการเรียนที่คร่ำเคร่งของเด็กเกาหลีค่ะ หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเด็กเกาหลีถึงเรียนหนัก และจริงจังกับการเรียนมากกว่าเด็กประเทศอื่น Ep.นี้ จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันค่ะ
กลับมาที่ Under the Queen’s Umbrella ถ้าใครได้ตอนที่ 1 ไปก็จะพบว่า เป้าหมายที่ทั้งพระราชินี และพระสนมทุกพระองค์ต่างใช้ขับเคี่ยวชิงชัยเพื่อให้ลูกของตนเองประสบความสำเร็จในอนาคตนั้นคือ….'การศึกษา'
องค์ชายที่แสดงความสามารถทางวิชาการ และสติปัญญาออกมาได้เป็นประจักษ์นั้นจะมีภาพลักษณ์ที่น่าชื่นชมในสายตาของพระราชาและพระพันปี (เสด็จย่า) ในขณะที่องค์ชายที่ทำตัวเหลวแหลก ไม่ตั้งใจเรียน วัน ๆ เอาแต่กินนอนเล่น ก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่เอาไหน เป็นผู้ชายเสเพล ผู้เป็นแม่จึงพยายามผลักดันให้องค์ชายของตัวเองเรียนเก่ง ฉลาดรอบด้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในสมัยโชซอน สังคมเกาหลีได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื๊อใหม่จากจีน การนำระบบ ระเบียบ แนวคิดของขงจื๊อใหม่จากจีนมาใช้นั้น เกาหลีไม่ได้นำมาใช้โดยตรง แต่เลือกมาประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพสังคมของเกาหลี แนวคิดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นหลักปฏิบัติ จริยธรรม และแบบแผนพิธีกรรมต่าง ๆ ส่งผลต่อประชาชนทุกชนชั้น ธรรมเนียมหนึ่งที่คนเกาหลีเคร่งครัดคือ “ซัมกัง-โอ-รยุน” (삼강오륜; 三綱五倫) หรือ หลักปฏิบัติ 3 ประการ และจริยธรรม 5 ประการ
หลักปฏิบัติ 3 ประการ
โดยหลักปฏิบัติ 3 ประการจะพูดถึงความสัมพันธ์ของกษัตริย์และขุนนาง ความสัมพันธ์ของสามีและภรรยา ความสัมพันธ์บิดาและบุตร
หลักจริยธรรม 5 ประการ
ส่วนจริยธรรม 5 ประการนั้นจะพูดถึงความสัมพันธ์ย่อย 5 ข้อดังนี้
  • 1.
    กษัตริย์กับข้าราชบริพารพึงต้องมีคุณธรรมต่อกัน (กษัตริย์ต้องให้เกียรติข้าราชบริพาร และข้าราชบริพารต้องจงรักภักดีต่อกษัตริย์)
  • 2.
    พ่อแม่กับลูกๆพึงต้องใกล้ชิด สนิทกัน (พ่อแม่ต้องเลี้ยงดูลูก ลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่)
  • 3.
    สามีภรรยาพึงต้องมีการแบ่งแยก (ทำหน้าที่ของตัวเองให้เหมาะสม)
  • 4.
    ผู้อาวุโสและผู้น้อยพึงต้องมีลำดับ (ทั้งคู่ต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน)
  • 5.
    สหายต่างต้องเชื่อใจ ไว้ใจซึ่งกันและกัน
ถ้าพิจารณาจาก 5 ข้อด้านบน ข้อ 2 ก็จะสอดคล้องกับละครเรื่อง Under the Queen’s Umbrella มากที่สุด บทบาทของแม่ที่ละครเรื่องนี้เน้นก็คือการเป็น “ผู้อุ้มชูการศึกษา” ของลูก ทั้งพระราชินีและพระสนม รวมถึงพระพันปีในช่วงที่เคยเป็นแม่นั้น ต่างทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้ดีผ่านการเรียนหนังสือทั้งสิ้น
มีสุภาษิตเกาหลีโบราณหนึ่งกล่าวว่า “แม่ของเม่งจื๊อนั้นต้องย้ายบ้าน 3 ครั้ง เพื่อการศึกษาของบุตรชาย” 맹모삼천지교(孟母三遷之敎) ประโยคข้างต้นและการกระทำของบรรดาแม่ ๆ ในละคร สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของลูกจะสำเร็จได้ ต้องมีพ่อแม่หนุนนำ และเกื้อกูล
ชีกังวอน สำนักศึกษาสำหรับองค์รัชทายาทโดยเฉพาะ
การเรียนของเหล่าองค์รัชทายาทและองค์ชาย จากที่เห็นในละครนั้นจะพบว่า องค์รัชทายาท ผู้ที่จะต้องสืบทอดบัลลังก์ต่อจากพระราชา มีตารางเรียนค่อนข้างแน่นกว่าน้อง ๆ ที่เป็นองค์ชายธรรมดา ขนาดสำนักศึกษายังถูกจัดแยกออกมาต่างหากโดยเฉพาะ เรียกว่า “เซ-จา-ชี-กัง-วอน” (세자시강원; 世子侍講院) คาบเรียนตอนเช้าจะเริ่มตอน 05.00-07.00 (조강) คาบเรียนตอนสาย-บ่ายจะมีช่วง 09.00-11.00 (주강) และคาบเรียนตอนบ่ายเย็นมีช่วง 15.00-17.00 (석강)
ตารางกิจวัตรขององค์รัชทายาทใน 1 วัน จะเริ่มต้นที่ตี 4 문안인사 คือการเสด็จไปทักทายพระราชา พระราชินี หรือพระพันปี หลังจากนั้นก็จะเริ่มคาบเรียนเช้าค่ะ
ส่วนบรรดาองค์ชาย และเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ จะได้เข้าเรียนในสำนักศึกษารวมที่เรียกว่า “จง-ฮัก” ค่ะ (종학; 宗學) วิชาที่เรียนก็จะมีทั้งการคำนวณ หลักการปกครอง วรรณกรรมจีน กวีนิพนธ์จีน อักษรจีน และตำราขงจื๊อ แต่ขององค์รัชทายาทเนื้อหา และการประเมินว่าสอบผ่าน ถึงเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่จะเข้มข้นกว่าเชื้อพระวงศ์คนอื่น ๆ
บรรยากาศการเรียนในจงฮักของเหล่าองค์ชายใน Under Queen's Umbrella
คงจะสงสัยกันต่อใช่มั้ยคะ ถ้าไม่ได้เป็นองค์ชายในรั้ววัง แต่เป็นเด็กเกาหลีทั่วไปในสมัยโชซอนจะเรียนกันยังไง? มีแม่อุปถัมภ์ค้ำชูมั้ย ซอจะเม้าให้ฟังค่ะ
ก่อนจะเริ่มเม้า ขออินโทรชนชั้นเกาหลีในสมัยโชซอนให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนค่ะ
1. ชนชั้นยัง-บัน (양반; 兩班) หรือชนชั้นสูง เป็นชนชั้นที่มีอิทธิพลมากในสังคมโชซอน ประกอบไปด้วยขุนนางระดับสูง (ระดับ1-3) และขุนนางระดับกลาง (ระดับ 4-6)
2. ชนชั้นชุงอิน (중인; 中人) หรือชนชั้นกลาง ประกอบด้วยข้าราชการ หรือขุนนางระดับล่าง (ระดับ7-9) เช่น เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ช่างฝีมือ นักแปล ภรรยาและบุตรนอกสมรสของชนชั้นยังบันจะถูกจัดรวมอยู่ในชนชั้นนี้ แม้พ่อจะเป็นยังบันก็ตาม
3. ชนชั้นซังมิน (상민; 常民) ประกอบด้วย ชาวนา พ่อค้า และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
4. ชนชั้นชอนมิน หรือโนบี (천민; 賤民 / 노비; 奴婢) ได้แก่ ทาส นักแสดง มูดัง(แม่หมด หมอผี) คีแซง
สถานภาพในสังคมจะขึ้นอยู่กับชนชั้นของคน บุตรที่เกิดมาจะถูกจัดอยู่ในชนชั้นเดียวกับบิดา มารดา การเปลี่ยนชนชั้นในสมัยโชซอนเป็นไปได้ยาก เพราะแนวคิดขงจื๊อใหม่อธิบายว่า การเกิดหรือสถานภาพของคนถูกกำหนดจากบัญชาแห่งสวรรค์ หน้าที่แต่ละคนจึงแตกต่างกันตามบัญชา เช่น ผู้ปกครอง ผู้อยู่ใต้ปกครอง ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงลิขิตนั้น ถือว่าผิดต่อระเบียบสังคม และขัดต่อบัญชาสวรรค์
ภาพวาด สำนัก 'ซอดัง' หรือโรงเรียนประถมสมัยโชซอน โดยจิตรกรทันวอน (คิมฮงโด)
การศึกษาของเกาหลีในสมัยโชซอน ส่วนใหญ่จะเอื้อให้คนในชนชั้น “ยัง-บัน” มากกว่าชนชั้นอื่น ยังบันประกอบไปด้วยขุนนางสายพลเรือน “มุน-บัน” (문반; 文班) และขุนนางสายทหาร “มู-บัน” (무반; 武班) (คำว่า “ยัง” ในตัวฮันจา แปลว่า “สอง” ค่ะ) เด็กในครอบครัวตระกูลยังบันที่อายุ 7-8 ปีจะได้เข้าเรียนใน “ซอดัง” (서당; 書堂) เทียบเท่ากับชั้นประถมศึกษา ตั้งอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน หรือชุมชนทั่วประเทศ ที่ซอดังจะเน้นการศึกษาพื้นฐานภาษาจีน วรรณกรรมจีน และแนวคิดขงจื๊อ
แม้ในสมัยก่อน ชาวเกาหลีจะมีตัวอักษรฮันกึลใช้หลังสมัยพระเจ้าเซจงมหาราชแล้ว แต่การใช้อักษรจีนยังคงเป็นที่นิยมในราชสำนัก และชนชั้นยังบันค่ะ ดังที่เราจะเห็นบรรดาองค์ชาย พระราชา ขุนนาง อภิปรายคำถามวิชาการด้วยตัวอักษรจีนในละครค่ะ
การศึกษาในฮักดัง โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาสมัยโชซอน
หลังจากศึกษาระดับประถมฯเป็นเวลา 8 ปี ผู้เรียนก็จะได้ศึกษาต่อระดับมัธยมใน “ฮัก-ดัง” (학당; 學堂) หรือโรงเรียนมัธยมศึกษา ในกรุงฮันยาง หรือโซลในปัจจุบันจะมีฮักดังอยู่ 4 แห่ง แต่ละแห่งรับนักเรียนได้ประมาณ 100-200 คน ซึ่งไม่เพียงพอ จึงมีการตั้งโรงเรียนมัธยมทุกเขตการปกครองนอกกรุงโซล เรียกว่า “ฮยัง-กโย” (향교; 鄕校)
นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจาก “ฮัก-ดัง” หรือ “ฮยัง-กโย” ก็จะสามารถเข้าสอบรับราชการเป็นขุนนาง การสอบคัดเลือก จะแบ่งเป็นการสอบขุนนางฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหาร และการสอบทั่วไป เช่น ช่างฝีมือ นักแปล ซอจะขอเน้นไปที่การสอบของฝ่ายพลเรือนนะคะ เพราะเป็นการสอบที่สำคัญที่สุด การสอบฝ่ายพลเรือนจะเป็นแบ่ง 2 ระดับ คือระดับสูง และระดับล่าง
การสอบจะจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี จะจัดในระดับมณฑลก่อน หากผ่านระดับมณฑลจะเรียกว่า “แซง-วอน” หรือบัณฑิตขั้นต้น เมื่อผ่านขั้นมณฑลจะเข้าสอบในส่วนกลางได้ ถ้าผ่านส่วนกลางจะเรียกว่า “ชิน-ซา” หรือบัณฑิตขั้นกลาง
ซอง-กยูน-กวาน มหาวิทยาลัยแห่งแรกของเกาหลี
บัณฑิตทั้งสองระดับจะสามารถเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาขั้นสูงแห่งชาติ หรือ “ซอง-กยูน-กวาน” (성균관; 成均館) เทียบเท่าระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ที่นี่จึงถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของเกาหลีในสมัยก่อน ซอง-กยูน-กวาน ไม่เพียงแต่หน่วยงานการศึกษา แต่ยังเป็นหน่วยงานจัดพิมพ์และเผยแพร่ตำราขงจื๊อ ตลอดจนเป็นหน่วยงานร่างพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และหน่วยงานจัดร่างเอกสารทางการทูตอีกด้วย เมื่อบัณฑิตสำเร็จการศึกษาที่นี่ จะสามารถเข้าสอบระดับสูงเพื่อรับราชการในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป
ฮารัม รับบท โดย อัน-ฮโย-ซอบ จากเรื่อง Lovers of the Red Sky
สำหรับการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ด้านภาษา หรือด้านเทคนิคอื่น ๆ เช่น ฮารัม ตำแหน่ง โหราจารย์ ทำหน้าที่ศึกษาดูดาว พยากรณ์ดวงชะตาของบ้านเมือง ในซีรีส์เรื่อง Lovers of the Red Sky (เรื่องนี้ไทม์ไลน์ก็มีเค้าโครงมาจากในสมัยโชซอนนะคะ ถึงแม้จะไม่ได้อ้างอิงตามในประวัติศาสตร์)
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะคัดเลือกบุคคลและฝึกสอนแยกจากระบบซอดัง ฮักดัง และซอง-กยู-กวานค่ะ ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้จะจัดอยู่ในชนชั้นชุงอินหรือชนชั้นกลาง สามารถสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดค่ะ
สำหรับเชื้อพระวงศ์ (왕족) เหล่าองค์ชายแทกุน หรือกุนนั้นสามารถเข้ารับราขการเป็นขุนนางในราชสำนักได้ แต่ไม่นิยมทำกัน เพราะเป็นการลดตัวจากเชื้อพระวงศ์ลงไปเป็นชนชั้นขุนนาง (귀족) แต่ก็มีบางพระองค์ทรงเลือกเป็นขุนนาง (คิดว่าไม่ทรงแคร์สายตาผู้อื่นค่ะ 😆)
เจ้าชายอีฮยอน ในตำแหน่งขุนนางฝ่ายพลเรือน รับบทโดย นัม-ยุนซู จาก King Affection
ตัวอย่างในเรื่อง King Affection (เรื่องนี้เป็นละครที่ไม่ได้อิงประวัติศาสตร์ แต่มีเค้าโครงสมมติว่าเกิดขึ้นในสมัยโชซอนเช่นเดียวกันค่ะ) เราจะได้เห็นเชื้อพระวงศ์ เจ้าชายอีฮยอน (จาอึนกุน) เจ้าชายวอนซัน ที่เป็นลูกชายของพระราชาองค์ก่อน เข้ามารับราชการเป็นขุนนางฝ่ายพลเรือนในราชสำนัก
สำหรับเด็กเกาหลีแล้ว หากใครปรารถนาจะได้เปลี่ยนชนชั้น(เป็นไปได้ยากมาก) หรือก้าวหน้าในชีวิตก็จะถูกกำหนดให้เกิดมาเรียนตำราขงจื๊อ และเชี่ยวชาญอักษรจีน
ทุกชนชั้นยกเว้นชอนมินหรือทาส สามารถเข้าสอบราชการเป็นขุนนางได้ น่าเสียดายว่า คนส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ยังบันนั้น ขาดกำลังทรัพย์และสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้พวกเขาได้มีโอกาสสอบ หรือสอบผ่าน การสอบคัดเลือกเป็นขุนนางในสมัยโชซอนจึงมีไว้สำหรับชนชั้นสูง หรือคนรวยเท่านั้น
ชนชั้นยังบัน รวมถึงคนในตระกูลขุนนางระดับกลางและสูง หากมีลูกหลานเกิดมาเป็นชายแล้ว ล้วนมุ่งเน้นให้ลูกหลานของตัวเองได้รับการศึกษามากที่สุด เพราะอำนาจในสังคมเกาหลีนั้นผูกพันกับตำแหน่งขุนนางในราชสำนัก การที่จะได้มาซึ่งตำแหน่งก็ขึ้นอยู่กับความประสบความสำเร็จในการสอบคัดเลือก
จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้ารากแนวคิดขงจื๊อด้านการศึกษาจะถูกฝัง บ่มเพาะส่งต่อจากสมัยโชซอนมายังสังคมเกาหลีในปัจจุบัน
เกาหลีใต้ประกาศตัวว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศเขาก้าวผ่านความยากจนในช่วงทศวรรษ 1950 กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสูงนั้นเกิดจากทรัพยากรมนุษย์ที่ยอดเยี่ยม คนเกาหลีถือคติว่า “ถึงแม้จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากแต่ก็ต้องเรียนหนังสือ” (“살림이 어려워도 배워야 산다.”)
ปัจจุบันเด็กเกาหลีทุกคน ต้องกระตือรือร้นที่จะเรียนหนังสืออยู่ตลอดเวลา เพราะสภาพสังคมมีวัฒนธรรมการจัดลำดับชั้น และการแข่งขันอันดุเดือดรออยู่
จากการสำรวจสารคดีมนุษย์เล่าเรียน (Homo Academicus) ของชาวอเมริกัน พบว่าเด็กเกาหลีมีแรงกระตุ้น หรือแรงผลักดันในการเรียนคล้าย ๆ กันคือทุกคนเรียนหนังสือเพื่อครอบครัว และเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีและมีชื่อเสียง
ที่เกาหลีใต้ หากบัณฑิตคนไหนจบมาจากสถาบันการศึกษาดัง เป็นที่รู้จัก หรือ ranking สูงติดอันดับ โอกาสที่จะได้เข้าทำงานในบริษัทชั้นนำก็จะมีโอกาสสูงตามไปด้วย
สารคดีมนุษย์เล่าเรียน Homo Academicus(공부하는 인간) ที่ตีแผ่ชีวิตการเรียนของเด็กเกาหลีในยุคนี้ มีทั้งหมด 5 ตอนย่อย สามารถรับชมได้ โดยกดปุ่ม Visit ด้านบนเลยค่ะ ลิ้งก์รับชมตอนอื่น ๆ จะอยู่ที่คอมเมนต์แรกของ part 1/5 ค่ะ
ช่วง22.00 หลังกวดวิชาเลิกเรียน เด็ก ๆ เกาหลี จะกรูกันมาซื้ออาหารสำเร็จรูปเป็นข้าวเย็น จากซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo
ถ้าใครจำกันได้ในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo Ep.9 ตอนคนเป่าปี่ หรือ คดีลักพาตัวเด็กของ พังกูปง หัวหน้าทหารปลดแอกเด็ก ๆ เราจะได้เห็นวิถีชีวิตของเด็กเกาหลีที่ต้องเรียนหนังสือจนถึง 4 ทุ่มทุกวัน โดยหลังจากเลิกเรียนที่โรงเรียนแล้ว ก็จะมีรถบัสของกวดวิชามารับมุ่งหน้าไปสถาบันติวเตอร์ต่อ ระหว่างที่ติวกวดวิชาบางที่ หากเด็กคนไหนแก้โจทย์ไม่ได้ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมาเข้าห้องน้ำ
การติวหนังสือที่คาเฟ่กับกลุ่มเพื่อน จากซีรีส์ True Beauty
ถ้าไม่ไปเรียนที่กวดวิชา ก็ต้องไปคาเฟ่ติวหนังสือกับเพื่อน ๆ (เหมือนที่เราเห็น อิมจูกยองกับแก๊งเพื่อนสาวไปติวหนังสือกันในเรื่อง True Beauty) เท่ากับว่าเด็ก ๆ จะได้กินข้าวเย็นกันก็หลัง 4 ทุ่มเลย แถมอาหารที่กินส่วนใหญ่เป็นพวกรามยอน คิมบับ ไส้กรอก นมกาแฟที่มีคาเฟอีนสูงในร้านสะดวกซื้อ เด็กบางคนเป็นลูกเศรษฐี แต่ก็เลือกกินอาหารสำเร็จรูปที่ปรุงได้รวดเร็ว และให้พลังงานเยอะ
ภาพบรรยากาศ ย่านกังนัม แขวงแทชี จุดที่เด็กเกาหลีนิยมมาเรียนพิเศษกันมากที่สุด
ที่เกาหลีใต้ ย่านกังนัม มีแขวงแทชี (대치동) หรือเขตการศึกษาที่ 8 (8학군) เป็นย่านที่นักเรียน เรียนหนักที่สุดในประเทศเกาหลี ย่านนี้ ตึกราบ้านช่องจะมีแต่กวดวิชาตั้งทุกตระหง่านให้เห็นสองฝั่งถนนคู่กับร้านสะดวกซื้อ ราคาบ้านในแขวงนี้ค่อนข้างแพง เพราะเป็นย่านการศึกษา อยู่ใกล้กับโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ตั้งของกวดวิชาดี ๆ หลายแห่ง
แม่บางคนต้องยอมย้ายบ้านมาอยู่แขวงแทชี เพื่อให้ลูกของตัวเองเรียนกวดวิชาได้เข้มข้นที่สุด ตรงกับสำนวนของแม่เม่งจื๊อที่ต้องย้ายบ้านเพื่อลูกชายจริง ๆ ค่ะ
ภาพจากซีรีส์เรื่อง Sky Castle
ถ้าใครที่ดูซีรีส์เรื่อง Sky Castle จะจำบรรยากาศของถนน ย่านกวดวิชาได้ดี เราจะได้เห็นตัวละครแม่ ๆ มารับ-ส่งลูกเรียนพิเศษที่นี่เป็นประจำค่ะ ย่านกวดวิชาในซีรีส์นั้นอ้างอิงมาจากแขวงแทชีนี่แหละค่ะ
ความกระตือรือร้นด้านการเรียนที่สูงปรี๊ด ทำให้การศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบันอยู่ในระดับสูงมากในสากล อัตราผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพในปี 2020 ช่วงอายุ 25-34 ปีอยู่ที่ 69.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ซึ่งอยู่ที่ 45.5% (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ)
กราฟเปรียบเทียบอัตราการสำเร็จศึกษาระดับมัธยมศึกษาของประเทศกลุ่มสมาชิก OECD ในปี 2005 (ตัวเลขสีน้ำเงินเข้ม) และในปี 2019 (ตัวเลขสีฟ้าอ่อน) เกาหลีใต้ (한국) อยู่อันดับที่ 5 รองจาก แคนาดา ญี่ปุ่น ลักเซมเบิร์ก และอิสราเอล ตามลำดับ
และถ้าเปรียบเทียบจากในปี 2005 และในปี 2019 จะเห็นว่าอัตราผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงขึ้น 20% จาก 31.6 เป็น 50% เกาหลีใต้อยู่อันดับ 5 จากประเทศสมาชิก 38 ประเทศ
วันนี้เม้าหอมปากหอมคอ จบ Blog แบบแหกกฎสปอยล์ ชวนเม้ามอยสไตล์เกาแต่เพียงเท่านี้ แล้วเจอกันใหม่ Ep.6 นะคะ แม้เรื่องนี้จะไม่มีพระเอก นางเอกเป็นตัวเป็นตน แต่ขอบอกว่า “ตัวแม่” เด่นมากค่ะ ใครอยากเห็นฝีมือการแสดงปัง ๆ ระดับตำนานอย่างคิมฮเยซู ที่รับบทพระราชินี หรือ คิมแฮซุก ที่รับบทพระพันปีแล้ว บอกเลยว่าห้ามพลาดเรื่องนี้ค่ะ รับชมละครเรื่อง Under the Queen’s Umbrella ซับไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทางแอปพลิเคชัน Netflix ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00 ค่ะ
Fun Fact about Korean
  • เซจา (세자; 世子) คำนี้เรามักจะได้ยินคุ้นหูได้ซีรีส์เกาหลีพีเรียดเป็นอย่างดี ใช้เรียกแทนองค์รัชทายาท หรือมกุฎราชกุมารที่จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อไป
  • หรืออาจจะได้อีกคำเรียกหนึ่งว่า “ชอ-ฮา” (저하; 邸下) บางครั้งจะเรียกด้วยชื่อตำหนักที่ประทับก็ได้คือตำหนักตะวันออก หรือ “ทง-กุง” (동궁; 東宮)
  • แท-กุน (대군; 大君) ใช้เรียกองค์ชายที่ประสูติจากพระราชากับพระราชินี เช่น ซองนัมแทกุน มูอันแทกุน คเยซองแทกุน อิลยองแทกุน
  • ส่วน -กุน (-군) เฉย ๆ นั้นใช้เรียกองค์ชายที่ประสูติกับพระสนม เช่น อึยซองกุน โบกอมกุน ชิมโซกุน
2022년 10월 29일 - 서지혜 쓴 글.
References
ภาษาไทย
  • ไพบูลย์ ปีตะเสน. (2565). ประวัติศาสตร์เกาหลี: จากยุคเผ่าพันธุ์ถึงยุคสาธารณรัฐใหม่. แสงดาว.
ภาษาอังกฤษ
  • The Association of Korean History Teachers. (2010). A Korean History for International Readers. Translated by Michelle Seo, Humanist.
ภาษาเกาหลี
  • 권미경, 박은경. (2021). 한국어와 한국 문화에 대한 학식을 갖추는 프로젝트. 왕립쭐라롱껀대학교의 인문대학의 학문적 기관.
  • 나도부자도. (2022). [유용한 정보] 우리나라 고등교육 이수율. https://ojh7098.tistory.com/m/118
  • 린. (2021). 한국, 25∼34세 고등교육 이수율 OECD 국가 중 1위. https://m.blog.naver.com/dream9494/222519995094
โฆษณา