30 ต.ค. 2022 เวลา 23:30 • หนังสือ
ภาษี (เงินได้บุคคลธรรมดา) ต้องรู้
ตอนที่ 7 ค่าลดหย่อนภาษี
ถ้าทุกคนได้อ่านบทความของผมหลาย ๆ ตอนที่ผ่านมา แล้วลองคิดคำนวณภาษีที่ตัวเองต้องยื่นจ่ายในแต่ละปีแล้วรู้สึก "เสียดายตัง" (ซึ่งผมเชื่อว่ามีหลายคน ฮ่าๆ) ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เราเสียภาษีน้อยลงก็คือ "ค่าลดหย่อน" นั่นเองครับ
ซึ่งในตอนนี้ผมจะอธิบายให้ทุกคนได้รู้ว่า ค่าลดหย่อนคืออะไร? และรายการใดที่เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง
ค่าลดหย่อนก็คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้เราเสียภาษีน้อยลงเมื่อคำนวณภาษี หรืออาจช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น
ซึ่งรายการที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในปี 2565 ได้นั้น ได้แก่
1.ภาระส่วนตัวและครอบครัว
1.1 ค่าลดหย่อนส่วนตัว
-60,000 บาท
1.2 คู่สมรส (กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้)
-60,000 บาท
1.3 ฝากครรภ์และคลอดบุตร (กรณีที่ภรรยาไม่มีรายได้)
-ไม่เกิน 60,000 บาท/ปี
1.4 บุตร (ที่อายุไม่เกิน 20 ปี หรือ ไม่เกิน 25 ปีและกำลังศึกษาอยู่)
-คนละ 30,000 บาท
*กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป และเกิดตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท*
1.5 ค่าเลี้ยงดูบิดามารดาทั้งของตนเองและของคู่สมรส (ที่มีอายุเกิน 60 ปีและรายได้ไม่เกิน 30,000/ปี)
-คนละ 30,000 บาท ไม่เกิน 4 คน
*ไม่สามารถใช้สิทธ์ลดหย่อนซ้ำระหว่างพี่น้องได้*
1.6 อุปการะผู้พิการหรือทุพพลภาพ (ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี)
-คนละ 60,000 บาท
2.ประกัน,เงินออม และการลงทุน
2.1 ประกันสังคม
-ลดหย่อนตามจริงได้ สูงสุดไม่เกิน 6,300 บาท
2.2 ประกันสุขภาพบิดามารดา (ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี)
-ลดหย่อนตามจริงได้ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
2.3 ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ (ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป)
-ลดหย่อนตามจริงได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
*หากคู่สมรสไม่มีรายได้สามารถลดหย่อนค่าประกันของคู่สมรสได้สูงสุด 10,000 บาท
2.4 ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ
-ลดหย่อนตามจริงได้ สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
* 2.3 + 2.4 ต้องไม่เกิน 100,000 ครับ *
2.5 เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป)
-15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
2.6 กองทุนรวม RMF
-30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
2.7 กองทุนรวม SSF
-30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
2.8 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กบข. / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน
-15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
2.9 กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
-ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท
* 2.5 + 2.6 + 2.7 + 2.8 + 2.9 ต้องไม่เกิน 500,000 บาท *
3.เงินบริจาค
3.1 เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม และ สถานพยาบาลของรัฐ
-2 เท่าของที่บริจาคจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
3.2 เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง
- สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
3.3 เงินบริจาคอื่น ๆ
- ตามที่บริจาคจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
4.กระตุ้นเศรษฐกิจ
4.1 ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย
-สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
4.2 โครงการช็อปดีมีคืน 2565
-สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
*สินค้าที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี ได้แก่ สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้า OTOP และ สินค้าหมวดหนังสือ
4.3 เงินลงทุนธุรกิจ Social Enterprise (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
-ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
จากค่าลดหย่อนทั้งหมดที่มีมา ลองกลับไปที่ตัวอย่างของนาย A อีกรอบนึงนะครับ
A มีรายได้จาก
-เงินเดือน+ฟรีแลนซ์ ปีละ 420,000 บาท
-สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท
ถ้า A ใช้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาทเพียงสิทธิ์เดียว A จะมีเงินได้สุทธิอยู่ที่
(420,000 - 100,000 - 60,000) = 260,000
ซึ่งจะเสียภาษีอยู่ที่
(260,000-150,000) x 5% = 5,500 บาท
แต่ถ้า A ใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อนเพิ่มเติมดังนี้
-ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
-ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุรวมกัน 30,000 บาท (หักเป็นค่าลดหย่อนได้แค่ 25,000 บาท)
-กองทุน RMF และ SSF รวม 80,000 บาท
(เรื่องการคิดค่าลดหย่อนกองทุนจะมีความซับซ้อนเพิ่มไปอีกสักนิดนึง ไว้มีโอกาสผมจะทำภาคแยกออกมาให้นะครับ)
A จะมีเงินได้สุทธิอยู่ที่
(420,000 - 100,000 - 60,000 - 25,000 - 80,000 ) = 155,000 บาท
ซึ่งจะต้องเสียภาษี = (155,000 - 150,000) x 5%
= 250 บาท
เห็นไหมครับ พอมีค่าลดหย่อนเพิ่มเข้ามาทำให้เราเสียภาษีน้อยลงขึ้นเยอะเลย ดังนั้นเราควรวางแผนลดหย่อนภาษีกันไว้นะครับ เพื่อรักษาสิทธิ์ที่เราพึงรักษาได้
และนี่คือรายการลดหย่อนภาษีประจำปี 2565 ที่ผมลิสต์มาให้ทุกคนได้อ่านกันนะครับ (อาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ผมโพสต์ไป) อาจจะเยอะหน่อย แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่อยากใช้สิทธิ์ลดหย่อนให้คุ้มค่ามากที่สุดนะครับ
ทั้งนี้บทความนี้เป็นบทความที่ผมใช้เวลาเรียบเรียงค่อนข้างนาน หากผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะครับ 🙏🏻😊
เรียบเรียงบทความจาก
__________________________________________เว็ปไซต์ : www.finnomena.com
 
Facebook Fanpage : TaxBugnoms
ติดตามบทความดีๆ จากหนังสือดีๆ ได้ที่
โฆษณา