3 พ.ย. 2022 เวลา 08:34 • อาหาร
"บัน โจย เงื้อก: ขนมประจำเทศกาลวูลานสังคมบรรพกาลยุคผู้หญิงเป็นใหญ่"
"บัน โจย เงื้อก” (Bahn Troi Nuoc) สำหรับคนไทยอาจไม่คุ้น แต่หากเป็น "ขนมบัวลอยญวน" น่าจะคุ้นเคยกันบ้าง ขนมนี้นิยมทำกันในพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพชน โดยเฉพาะเทศกาล "วูลาน" (Vulan) วันสำคัญที่คนเวียดนามจะร่วมรำลึกถึงเพศแม่ด้วยความรักและกตัญญู
"บัน โจย เงื้อก” (Bahn Troi Nuoc) (ภาพ: Huong Sen Restuarant)
"บัวลอยญวน" หรือ “บัน หง่าว” ของคนเวียดนามในประเทศไทย และ “บัน โจย เงื้อก” ของคนเวียดนามในประเทศเวียดนาม
จุดเริ่มต้นของชนชาติเวียดนามตามตำนาน กษัตริย์หุ่งเวือง วีรบุรษคนเวียดนาม เริ่มบันทึกต้นวงศ์ที่บรรพชนฝ่ายหญิง โดยธิดาแห่งเทพ นาม "เอิวเกอ" กับหลักลองกวาน ผู้ยิ่งใหญ่ โดยตำนานสร้างภาพเอิวเกอเป็น "หงส์" สัญลักษณ์แทนคนพื้นเมืองที่ถูกปกครองโดยลองกวาน ผู้ยิ่งใหญ่ในภาพของ "มังกร"
“หงส์” จึงเป็นภาพแทนคนพื้นเมือง หรือคนเวียดนาม ซึ่งถูกตีความในฐานะผู้สร้างตัวตนในประวัติศาสตร์เวียดนามยุคหลัง จากที่ถูกกดขี่อยู่ใต้อำนาจจีน ได้สะท้อนให้เห็นเกียรติภูมิของเวียดนามที่สืบเชื้อสายจากธิดาแห่งเทพ ซึ่งมีสถานะเป็นมารดา (หงส์) ผู้ใกล้ชิดกับชนชาติจีนผู้รุกรานและมีสถานะเหนือ เป็นดั่งบิดา (มังกร) แต่ที่สุดก็เลือกประนีประนอมเข้าด้วยกัน ถูกถ่ายทอดออกมาในเชิงสัญลักษณ์ระหว่าง “หงส์” กับ “มังกร” ในวัฒนธรรมจีนและเวียดนาม
"เอิวเกอ" ธิดาของเทพเจ้าแห่งขุนเขา กับ "หลักลองกวาน" มังกรผู้เป็นเทพเจ้าแห่งทะเล ได้ให้กำเนิดไข่ 100 ฟอง ก่อนลาจากกันทั้งสองได้แบ่งไข่กันละครึ่ง โดยเอิวเกอบินขึ้นเขาไปทางเหนือ ส่วนหลักลองกวานเลื้อยลงทะเลมาทางใต้
ไข่ 100 ฟองนั้นฟักออกมาเป็นมนุษย์ร้อยคน เป็นบรรพชนของกลุ่มชนเผ่านับร้อยเผ่าทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี เรื่อยลงมาจนถึงบริเวณเวียดนามเหนือ หรือไป่เย่ว์ (Bai Yue) (“เย่ว์” ในภาษาจีนตรงกับ “เหวียด” ในภาษาเวียดนาม) หรือพวก “แบ๊คเหวียด” (Bach Viet)
1
บุตรคนโตซึ่งอยู่กับ เอิวเกอ ผู้เป็นแม่ได้สถาปนาราชวงศ์หุ่งเวือง (Hong Voung) นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งเวียดนาม (ปกครองเวียดนามช่วง 2,326 ปี ก่อนพุทธศักราชจนถึง พ.ศ. 285) ปกครองอาณาจักรวันลางในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง หรือฟองโจว (Phong Chu) ปัจจุบันคือจังหวัดฟู้เถาะ
กษัตริย์ทุกพระองค์ถูกเรียกรวมกันว่า “หุ่งเวือง” ส่วนพลเมืองของอาณาจักรวันลางหรือดินแดนทางใต้เรียกว่า “หลักเหวียด” (Lac Viet)
คนจีนกวางตุ้งนิยมเรียกพวก “หลักเหวียด” ว่า “เย่ว์” แต่ภาษาของชนเผ่าเย่ว์ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับพวกจีนที่อยู่ทางตอนเหนือ ขณะที่ภาษาของพวกหลักเหวียดมีความใกล้ชิดกับภาษาในตระกูลมอญ-เขมร (Austro-Asiatic) ของคนอุษาคเนย์ ที่สำคัญยังเป็นอาณาจักรที่เคยมีผู้หญิงเป็นใหญ่ ไม่ต่างจากอาณาจักรโบราณในอุษาคเนย์ เช่น หริภุญชัย หงสาวดี ล้านนา รวมทั้งอาณาจักรตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงเวลาเดียวกัน
เชื่อกันว่า พวกหลักเหวียด (Lac Viet) เป็นคนละกลุ่มกับพวกจีนทางตอนบน รวมทั้งความเชื่อในบรรพชนที่มาจากมังกรที่อาจหมายถึง “นาค” ตามความเชื่อของคนอุษาคเนย์ทั่วไปก็เป็นได้
แม้ปัจจุบันเวียดนามปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ มีการควบคุมกีดกันทางศาสนา โดยเฉพาะชาวคาทอลิกที่แทบหมดโอกาสเข้ารับราชการ ถูกกลั่นแกล้งรังควาญถึงต้องลี้ภัยออกนอกประเทศจำนวนมาก รวมทั้งผลพวงจากสงครามที่ต้องปากกัดตีนถีบจนดูเหมือนคนเวียดนามไม่มีศาสนา แต่คริสต์ศาสนาและวิธีคิดแบบเต๋าและขงจื้อของจีนที่มีเหนือเวียดนามกว่าพันปี รวมกับศาสนาผีที่เป็นแก่นแกนยังคงอยู่ ตกตะกอนเป็นแบบแผนทางสังคมว่าด้วยความกตัญญูในบรรพชน
1
ในวัฒนธรรมเวียดนามจึงมีสุภาษิตที่สื่อถึงความกตัญญูในบรรพชนมากมาย สุภาษิตที่ยกย่องเชิดชูบุญคุณพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด เช่น “บุญคุณของพ่อนั้นยิ่งใหญ่ดังขุนเขา ความรักของแม่ดังสายน้ำที่ไม่มีวันหยุดไหล” คนเวียดนามไม่ว่ายากดีมีจนมักไม่ทอดทิ้งบรรพชน เพราะเชื่อกันว่าชีวิตจะมีความเจริญ สุภาษิตที่เกี่ยวข้องกับครูอาจารย์ผู้ให้วิชาความรู้ เช่น “ไม่มีอาจารย์ให้ความรู้เราก็ไม่สู้จะประสบความสำเร็จได้”
เทศกาลในวิถีของเวียดนามจำนวนมากจึงเกี่ยวข้องกับบรรพชน เช่น เทศกาลวูลาน เทศกาลเต๊ด และเทศกาลบูชากษัตริย์หุ่งเวือง เป็นต้น
การตอบคำถามธรรมะเชิงสังคมแก่ศาสนิกชนโดยพระสงฆ์ญวนภายในอุโบสถวัดอุภัยราชบำรุง กรุงเทพมหานคร
เทศกาลวูลาน “วูลาน” ในภาษาเวียดนามแปลว่า “แม่” เทศกาลวูลานจึงหมายถึงวันแห่งความรักความกตัญญูรู้คุณต่อแม่ ทว่าในปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตกินความไปถึงพ่อแม่ผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย งานเทศกาลวูลานเป็นงานประเพณีทางพุทธศาสนา ต่างจากงานเทศกาลเต๊ดที่เป็นการเซ่นไหว้บรรพชนผู้ล่วงลับ
วัดอุภัยราชบำรุง ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย (เยาวราช) เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ วัดญวนในประเทศไทย
เทศกาลวูลานตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของคนเวียดนามทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ชุมชนเวียดนามทุกแห่งจะมีการจัดกิจกรรมกันอย่างดึกคักและหลากหลาย
จากการคาดการณ์เชื่อว่า มีคนเวียดนามในไทยราวหนึ่งแสนคน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น นครสวรรค์ มุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร กาฬสินธุ์ หนองคาย กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร
การแสดงความกตัญญูต่อแม่ (และพ่อ) ในเทศกาลวูลาน หรือวันแม่ตามประเพณีเก่าแก่ของเวียดนาม ซึ่งโดยมากจะเน้นเฉพาะแม่มากกว่า นับว่าสอดคล้องกับการปกครองโดยเพศหญิงเป็นใหญ่เมื่อสมัยบรรพกาล
ปัจจุบัน การแสดงความกตัญญูในทางพิธีกรรมร่วมสมัยก็คือการแสดงความรักผ่านการมอบดอกกุหลาบให้แม่ การถวายดอกกุหลาบแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากรูปแบบงานในปัจจุบันที่ให้ความหมายของกุหลาบแดงแทนความรักที่พึงตอบแทนต่อแม่ที่ยังมีชีวิต และกุหลาบขาวแทนการรำลึกถึงแม่ผู้ล่วงลับ
ชาวเวียดนามจากส่วนต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งชาวญวนจากประเทศเวียดนามเดินทางมาร่วมงาน ณ วัดอุภัยราชบำรุง กรุงเทพมหานคร โดยวัดญวนในเมืองไทยแต่ละวัดจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมชำระกายใจให้บริสุทธิ์ด้วยการกินเจ อาหารเลี้ยงแขกเหรื่อภายในงานจึงล้วนเป็นอาหารเจ การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ และการรำลึกถึงคุณของแม่ (และพ่อ) ตระหนักพร้อมตอบแทนในขณะที่ท่านยังมีชีวิต
เทศกาลวูลานในประเทศเวียดนามมีมาแต่โบราณ ทว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา เทศกาลวูลานได้กลายเป็นวันสำคัญประจำปีเพื่อแสดงถึงความสำนึกในบุญคุณต่อพ่อแม่และบรรพชน กระตุ้นเตือนให้ทุกคนรู้จักทะนุถนอมบุคคลรอบข้าง ทั้งกำชับว่า ในฐานะบุตรต้องสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่ที่ได้ให้กำเนิดและอบรมเลี้ยงดู อันเป็น 1 ในความสำนึกบุญคุณ 4 ประการ
“น้องชัช” จากสุขาภิบาล 3 เดินทางมาร่วมงานกับพ่อแม่ ขณะเล่นเกมผ่านมือถือกับเพื่อน ๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติชาวเวียดนาม
เนื้อแท้ของเทศกาลวูลานในประเทศเวียดนาม จึงเป็นการแสดงความสำนึกในบุญคุณต่อบุพการี มีการสวดมนต์รักษาศีลกินเจ ทำบุญอุทิศกุศลให้แม่พ่อ ปู่ย่าตายาย และบรรพชนที่เสียชีวิต
1
เข็มกลัดดอกกุหลาบสำหรับกลัดหน้าอกผู้เข้าร่วมงาน "วูลาน" วัดอุภัยราชบำรุง กรุงเทพมหานคร
ส่วนพิธีกรรมร่วมสมัยที่เพิ่มเข้ามาโดยผนวกเข้ากับหลักคิดเรื่องความกตัญญูต่อบรรพชน ได้แก่ พิธีสวดมนต์อุทิศกุศลเพื่อสำนึกในบุญคุณวีรชนที่สละชีพเพื่อพิทักษ์รักษาอธิปไตยเหนือน่านน้ำและแผ่นดินมาตุภูมิ ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยเสียชีวิตทั้งหลาย มีการจุดธูปเทียนและวางดอกไม้ยังอนุสาวรีย์วีรชนผู้สละชีพเพื่อชาติ
“บัน โจย เงื้อก” (Bahn Troi Nuoc) หรือ “บัน หง่าว” (Banh Ngao) หรือ "ขนมบัวลอยญวน" ในประเทศเวียดนามนิยมบัวลอยน้ำขิงนิยม ปรุงกินร้อน ๆ เป็นขนมหวานของคนเวียดนามในประเทศเวียดนาม หน้าตาเหมือนบัวลอยบ้านเรา และคล้ายกับ “ตังยวน” (Tang Yuan) ของจีน ในประเทศเวียดนามนิยมบัวลอยน้ำขิงมากกว่า
ตัวบัวลอยทำจากแป้งข้าวเหนียว ไส้บัวลอยทำจากถั่วเขียวบด น้ำกะทิ น้ำตาล และเกลือ ต้มในน้ำเปล่า สุกแล้วตักออกแช่ในน้ำเย็น จากนั้นจึงนำมาต้มในน้ำขิง น้ำตาลทรายแดง เวลากินราดน้ำกะทิและโรยงาคั่ว ปัจจุบันกินได้ทั่วไปในทุกโอกาส ในอดีตนิยมทำและกินในเทศกาลวูลาน นอกจากนี้ยังนิยมทำขึ้นเลี้ยงแขกในงานแต่งงาน เทศกาลเหมายัน และงานมงคลซึ่งจัดในช่วงฤดูหนาว
ผู้หญิงเวียดนามเป็นกำลังแรงงานสำคัญในการต่อสู้สร้างชาติเวียดนาม ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ว่าปัจจุบันไม่มีผู้หญิงเวียดนามคนไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ก็น่านิยมที่สังคมเวียดนามยังเปิดโอกาสให้ผู้คนรำลึกนึกถึงเพศแม่ อย่างน้อยก็ในฐานะเพศผู้ให้กำเนิดกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ และหากสังเกตให้ดีเกือบทุกครอบครัวในสังคมเวียดนาม เพศหญิงยังคงยิ่งใหญ่เสมอ
รายการอ้างอิง
องค์ บรรจุน. (2558). เทศกาลวูลานของ
เวียดนาม: จิตวิญญาณบรรพชนในพิธีกรรม
ร่วมสมัย. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 36(3):
26-32.
องค์ บรรจุน. (2564). เทศกาลวูลานของ
เวียดนาม: จิตวิญญาณบรรพชนในพิธีกรรม
ร่วมสมัย. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 42(5):
56-68.
โฆษณา