4 พ.ย. 2022 เวลา 09:00 • สิ่งแวดล้อม
ข้อตกลงในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (26th Conference of the Parties: COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 ระบุ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. ยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี ค.ศ. 2030 (มี 105 ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่ารวมกันเป็น 85% ของป่าไม้โลกร่วมลงนามจะระดมเงิน 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว)
หมายเหตุ: ประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา จีน รัสเซีย และอินเดีย ไม่ได้เข้าร่วม
2. ลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 จากระดับปี ค.ศ. 2020 (มีกว่า 100 ประเทศนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปร่วมลงนาม)
หมายเหตุ: ประเทศผู้ปล่อยก๊าซมีเทนรายใหญ่ เช่น จีน รัสเซีย และอินเดีย ไม่ได้เข้าร่วม
3. ข้อตกลงที่เกิดขึ้นภายในการประชุม (Glasgow Climate Pact) ได้แก่ บรรเทาความสูญเสียและความเสียหายจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง, ระดมทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา, ร่วมกันเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือปัญหาภาวะโลกรวน
รวมถึงสร้างตลาดคาร์บอน, เพิ่มเป้าหมายด้านสภาพอากาศในแต่ละประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement Against Climate Change) ค.ศ. 2015 ว่าด้วยการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม, ลดการใช้ถ่านหินและเลิกสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสซียซึ่งส่งผลต่อตลาดพลังงาน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ราคาพลังงานในยุโรปจะตกลงมาจากช่วงต้นของสงครามแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติและการทำข้อตกลงกับเจ้าของแหล่งพลังงานอื่นนอกจากรัสเซียซึ่งเดิมเป็นผู้ขายก๊าซธรรมาติรายใหญ่ ทำให้ความต้องการพลังานในยุโรปตกลงมาถึง 7 - 9%
โดยปัจจุบันยุโรปมีพลังงานในคลังถึง 93.6% ของศักยภาพการจัดเก็บ ถึงกระนั้น ปัญหาการขาดแคลนพลังงานเนื่องจากภาวะสงครามและการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากประเทศอื่นมากเกินไปก็ทำให้ทั้งสหภาพยุโรปและหลายประเทศทั่วโลกหันกลับมาฉุกคิดเกี่ยวกับความยั่งยืนทางพลังงานภายในประเทศมากยิ่งขึ้น และในระยะสั้นถึงระยะกลาง ก็พบว่าหลายประเทศมีแนวโน้มหันกลับไปใช้พลังงานจากถ่านหินและฟอสซิลซึ่งมีอยู่แต่เดิมแทนการเลือกลงทุนในแหล่งพลังงานทางเลือกซึ่งต้องใช้ทั้งต้นทุนและระยะเวลา
บทบาทของจีนและสหรัฐอเมริกาทั้งในฐานะสองขั้วอำนาจหลักของโลกและสองประเทศที่ปล่อยมลพิษคาร์บอนมากที่สุดยังคงนาจับตามอง หลังจากที่ในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศมีแนวโน้มจะสร้างความร่วมมือกันเพื่อจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ ทั้งสงครามการค้า
และการยืนอยู่คนละขั้วในสงครามยูเครน-รัสเซียและข้อพิพาทจีน-ไต้หวัน ทำให้น่าจับตามองว่าทั้งสองประเทศจะมีท่าทีต่อกันอย่างไรในปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ 3 รูปแบบ คือ [1] มีการวางเป้าหมายร่วมกันแต่แยกดำเนินการภายในประเทศ, [2] มีการวางเป้าหมายและดำเนินการเชิงแข่งขันกันแก้ไขปัญหาวิกฤติภูมิอากาศ, [3] ไม่มีการกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสองประเทศในปีนี้เลย
ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก อุตสาหกรรมที่น่าจะมีบทบาทมากที่สุดคงหนีไม่พ้น การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) จากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินประมาณ 450 แห่งซึ่งควบคุมเงินราว 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเห็นชอบที่จะสนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์
ในปีนี้จึงน่าจับตามองว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรใดสามารถนำเสนอและแสดงตัวอย่างการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมของนโยบายทางการเงินที่จะสามารถพลิกเกมเศรษฐกิจสีเขียวในระดับโลกได้บ้าง หรือจะมีสถาบันการเงินใดบ้างที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปอย่างมีนัยสำคัญ
โดยภาพรวมแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ทุกประเทศจะสามารถทำได้ตามข้อตกลงการควบคุมอุณหภูมิและรักษาสภาพแวดล้อมรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ตั้งไว้ได้ โดยต้องลดการปล่อยมลพิษให้ได้ 45% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2010 ภายในปี 2030 และต้องมีการจัดการการปล่อยมลพิษสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อให้อุณหภูมิของโลกก็มีโอกาสที่จะอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เพราะคำมั่นสัญญาในที่ประชุม COP26 ส่วนมากเป็นความสมัครใจและการกำกับดูแลตนเองภายในประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น ตัวแทนรัฐบาลไทยที่ประกาศจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เช่นกัน แต่เป็นภายในปี ค.ศ. 2065 หรือ 43 ปีข้างหน้า เป็นต้น มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่ข้อผูกพันทางกฎหมายขึ้นมา บางประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อินเดีย มองว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมในกรอบระยะเวลา 10 ปีนี้ไม่ได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของอินเดียที่มุ้งเป้าขยายการก่อสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาว่าปัจจุบันอุณหภูมิโลกได้พุ่งสูงขึ้นถึง 1.3 องศาเซลเซียสแล้วจากที่ตั้งเป้าว่าจะไม่ให้เกิน 1.5 องศาสเซลเซียส ก็อาจทำให้อาจมีบางประเทศถอนตัวออกจากข้อตกลงในอนาคต หรือแม้แต่กลุ่มประเทศที่เหลือก็อาจมีการปรับเพดานอุณหภูมิให้สูงขึ้นเป็น 2 องศาเซลเซียสตามที่มีหลายฝ่ายเคยคาดการณ์ หรือแม้กระทั่ง 3 องศาเซลเซียสซึ่งแต่เดิมถูกประเมินว่าจะไต่ระดับไปถึงในปี ค.ศ. 2100
สิ่งที่น่าจับตามองในการประชุม COP27 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองชาร์ม เอล ชีค (Sharm El-Sheikh) ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 7 - 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 นี้จึงไม่เพียงแต่ความมุ่งหวังที่จะเห็นเพียงเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระหว่างผู้นำแต่ละประเทศหรือการแสดงบนเวทีเพื่อจรรโลงและโน้มน้าวใจผู้ชมให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาวิกฤติภูมิอากาศโดยนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรี กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เยาวชน และกลุ่มคนเปราะบางเท่านั้น
แต่เป็นการติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างเข้มข้นของประเทศผู้ลงนามในข้อตกลงต่าง ๆ การเร่งรัดดำเนินนโยบาย ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมทั้งภายในและระหว่างประเทศ โครงการด้านสิ่งแวดล้อมโดยภาครัฐ เอกชน และกลุ่มสังคมที่ปฏิบัติได้จริงและวัดผลความสำเร็จได้ตลอดจนบทบาทของกรรมาธิการติดตามและประเมินผลการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอำนาจบังคับใช้บทลงโทษทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรม
เพราะหากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่มนุษย์จะหันมากอบกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศท่ามกลางความกดดันของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ทวีความรุนแรงและต้องบริโภคทั้งพลังงานและปล่อยมลพิษมหาศาลไปพร้อมกัน
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- ปัญหาคลื่นความร้อนในเมือง ภาวะแห้งแล้ง ไฟป่ารุนแรง ภาวะฝนปรวนแปรจะยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นถึงความร้ายแรงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
- ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร น้ำ พลังงาน และการจัดการของเสียจะถูกขับเคลื่อนไปอย่างน้อยสองทิศทาง ทางแรก คือ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรในระดับเมือง และทางที่สอง คือ การสนับสนุนเทคโนโลยีอัจฉริยะในระดับครัวเรือนให้ประชาชนสามารถมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่อยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการบริหารจัดการจากส่วนกลาง
- จะมีการพูดถึงเมตาเวิร์สและโครงสร้างพื้นฐานอย่าง Digital Twin มากยิ่งขึ้นในมิติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการสถนการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องและยกระดับความอุมสมบูรณ์ของชีวนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
- กระแสความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม นักวิชาการ และประชาชนที่ให้ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในโลกจริงและแพลตฟอร์มออนไลน์จะยิ่งร้อนแรงมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ก่อนช่วง COP27 จะเริ่มขึ้นและจะลากยาวไปจนถึงไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2023
- ผู้มีอิทธิพลในวงการต่าง ๆ ที่หันมาจับกระแสด้านสิ่งแวดล้อมจะถูกกดดันจากความเคลื่อนไหวทางสังคมมากเป็นพิเศษจากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ตึงเครียดรวมไปถึงค่านิยมของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย
- รัฐบาลแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุม COP27 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศทีมีรายได้สูงจะถูกกดดันและวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทในเวทีโลกอย่างหนักไม่ว่าผลสรุปของการประชุม COP27 จะออกมาในรูปแบบใด และจะส่งผลถึงเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่าปีก่อนที่ผ่านมา
อ้างอิงจาก
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
โฆษณา