11 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
สงครามยังไม่จบ: ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
ปัจจุบัน โรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก และมาถึงจุดที่เรามีวัคซีน มียารักษา ประกอบกับ เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่อ่อนกำลังลง ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อ ณ ปัจจุบัน ดีขึ้น ลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตไปมาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา
เมื่อเป็นเช่นนี้เราอาจรู้สึกสบายใจ ดูเหมือนสงครามจะจบลง อย่างไรก็ตามมีข้อมูลทางระบาดวิทยา บ่งชี้ว่า การติดเชื้อโควิด-19 สัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มโอกาสที่จะเสียชีวิตภายหลังติดเชื้อได้ แม้ว่าจะหายจากเชื้อโรคโควิด-19 แล้วก็ตาม
ล่าสุดมีงานวิจัยจากสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง British Medical Journal เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโอกาสการเสียชีวิตที่มากขึ้น
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นการศึกษาย้อนหลัง ศึกษาในระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 คนถึง มีนาคม ค.ศ. 2021 ทีมวิจัยศึกษาข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 17871 ราย และนำข้อมูลมาเปรียบเที่ยบกับคนที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุ เพศ ดัชนีมวลกาย เชื้อชาต โรคประจำตัว ใกล้เคียงกัน โดยติดตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
ลักษณะของผู้เข้าร่วมในงานวิจัยนี้ อายุประมาณ 62-75 ปี ส่วนใหญ่มีเชื้อชาติอังกฤษ เป็นเพศหญฺิง 55% มีโรคความดันโลหิตสูง 33% และเป็นเบาหวาน 7% มีการติดตามผู้ป่วยภายหลังติดเชื้อไปแล้วเฉลี่ย 141 วัน (พิสัย 32-395 วัน)
ผลวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล มีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดดำอุดตันเพิ่มขึ้น 2.74 เท่า และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 10.23 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยติดเชื้อ
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และได้รับการนอนโรงพยาบาล (บ่งว่าโรครุนแรง) มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเพิ่มขึ้น 27.6 เท่า ภาวะหัวใจวาย 21.6 เท่า ภาวะอัมพฤกษ์/อัมพาต 17.5 เท่า ภาวะหัวใจขาดเลือด 9.9 เท่า เพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ 118 เท่า และเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น 8.76 เท่า
โดยภายใน 30 วันแรกหลังติดเชื้อ เป็นช่วงที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลื้อด และการเสียชีวิตสูงสุด
ผู้วิจัยได้อธิบายสาเหตุที่การติดเชื้อโควิดเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยกล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อให้เกิดการอักเสบทั้วร่างกาย ทำให้ผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ ระบบการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้คราบหินปูนที่เกาะบนผนังหลอดเลือดไม่เสถียร และหลุดออกมาอุดตามหลอดเลือดต่าง ๆ นำมาซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชิวิตตามมาในที่สุด
จากผลวิจัยดังกล่าว แม้ว่าจะทำในต่างประเทศ ไม่ใช่บริบทในประเทศบ้านเรา แต่เชื่อว่า ผลของการติดเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับในคนไทยก็น่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้นแล้วทางที่ดี ป้องกันตัวเองมิให้ติดเชื้อน่าจะดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ควรฉีดวัคซีนให้ครบ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด
และในกรณีที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการมากจนต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อกลับบ้านแล้วควรสังเกตกลุ่มอาการโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เจ็บแน่นหน้าอก นอนราบไม่ได้ ขาบวม หรือใจสั่นผิดปกติ ถ้ามีความผิดปกติเช่นนี้ ให้มาพบแพทย์โดยเร็ว ท่านอาจเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดภายหลังติดเชื้อโควิด-19 ก็เป็นได้ สงครามยังไม่จบ อย่าพึ่งนับศพทหาร อย่าชะล่าใจครับ
อ้างอิง
Raisi-Estabragh Z, Cooper J, Salih A, et al. Heart Epub ahead of print: [please include Day Month Year]. doi:10.1136/ heartjnl-2022-321492

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา