15 พ.ย. 2022 เวลา 03:00 • สุขภาพ
#ปวดศีรษะคลื่นไส้อ่อนเพลียกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคุณอาจมีปัญหาเกลือแร่ต่ำ
สวัสดีครับ วันนี้คุยเฟื่องเรื่องศัลย์กับหมอโภคิน หมอมีเรื่องราวเกี่ยวกับอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากการที่ร่างกายเราขาดเกลือแร่มาฝากทุกคน โดยในวันนี้ หมอจะเน้นเล่าถึงภาวะอาการอ่อนเพลียที่เกิดจากการขาดเกลือแร่ “โซเดียม” ในร่างกายของเรา มาฝากทุกคนครับ
เกลือแร่ “โซเดียม” เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบหลักของร่างกายคนเรา โดยมีหน้าที่ในการควบคุมสมดุลของปริมาณน้ำและเกลือแร่อื่นๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมในการที่ร่างกายจะทำงานเผาผลาญพลังงานได้อย่างปกติ ดังนั้นถ้าปริมาณของเกลือ “โซเดียม” มีปัญหา ก็จะทำให้ร่างกายเราทำการเผาผลาญพลังงานได้ผิดปกติด้วยเช่นกัน
เกลือโซเดียมนี้ ร่างกายเราสามารถรับได้จากการกิน “เกลือ” เค็มๆ ปกติของเรานี่แหละครับ โดยที่เกลือเค็มๆ จะเป็นองค์ประกอบของโซเดียม และ คลอไรด์นั่นเอง
โดยปกติแล้วค่าของเกลือโซเดียมในร่างกายคนเราจะมีค่าอยู่ที่ประมาณ 135-145 mmol/L ส่วนความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นจะมี2แบบคือ เกิดจาก การที่ค่าโซเดียมสูงเกินไป หรือค่าโซเดียมต่ำเกินไปนั่นเอง
ค่าเกลือโซเดียมที่ “ต่ำ” เกินไป จะทำให้เกิดอาการอะไรบ้าง?
ค่าเกลือโซเดียมที่ต่ำเกินไปในร่างกายจะทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อเป็นตะคริว โดยถ้าเกิดปัญหาค่าเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำลง รวดเร็วฉับพลันจะเกิดอาการ ชักเกร็ง และอาจจะทำให้คุณเกิดภาวะ “โคม่า” ได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ “โซเดียมต่ำ” ในร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ
1.ร่างกายมีปริมาณน้ำมากเกินไป ทำให้เกิดการเจือจางของเกลือโซเดียมในเลือด
โดยภาวะนี้มักเป็นผลที่เกิดขึ้นจากอาการไตวาย หรือ ผู้ป่วยได้รับสารน้ำต่างๆในปริมาณที่มากเกินไป
2.ร่างกายขาดเกลือโซเดียม ทำให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ
มักเกิดจากการใช้ยาขับปัสสาวะต่างๆที่กระตุ้นให้ไตต้องขับเกลือโซเดียมออกทางปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากการท้องเสียถ่ายเหลวที่มีปริมาณมากจนทำให้เกิดภาวะการของเกลือแร่โซเดียมในร่างกายนั่นเอง
https://www.coreimpodcast.com/2022/08/03/hyponatremia-management-part-1-5-pearls-segment/
โดยที่ทั้ง 2 สาเหตุมีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อคุณไปพบแพทย์ คุณหมอจึงต้องทำการตรวจสอบว่า คุณมีสาเหตุที่เกลือโซเดียมต่ำมาจากอะไรกันแน่?
1.การรักษาภาวะโซเดียมต่ำที่เกิดจาการที่มีปริมาณน้ำในร่างกายมากเกินไป
 
การรักษาจึงเน้นไปที่การจำกัดการได้รับสารน้ำต่างๆและเพิ่มการขับน้ำออกจากร่างกายโดยการใช้ยาขับปัสสาวะ
2.การรักษาภาวะโซเดียมต่ำที่เกิดจากปริมาณเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ
ถ้าเป็นกรณีนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการอาจจะต้องได้รับน้ำเกลือที่มีความเข้มโซเดียมสูง (HYPERTONIC SALINE) เพื่อรักษาอาการ ซึ่งโดยปกติแล้วการให้น้ำเหลือจะค่อยๆให้ช้าๆใน24-48 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงค่าโซเดียมอย่างรวดเร็วจนร่างกายปรับตัวไม่ทันนั่นเอง
ถ้าคุณมีอาการอ่อนเพลียอย่ารอช้า
รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยไวนะครับ
ด้วยรัก
#คุยเฟื่องเรื่องศัลย์
#หมอโภคิน
ศัลยแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ
ผู้บังคับการกองพันพยาบาล กรมสนับสนุน หน่วยบัญชาการต่อสูอากาศยานและรักษาฝั่ง กองทัพเรือ
Reference
1. Adrogué HJ, Madias NE: The challenge of hyponatremia. J Am Soc Nephrol 23: 1140–1148, 2012 [PubMed] [Google Scholar]
2. Greenberg A, Verbalis JG, Amin AN, Burst VR, Chiodo JA 3rd , Chiong JR, Dasta JF, Friend KE, Hauptman PJ, Peri A, Sigal SH: Current treatment practice and outcomes. Report of the hyponatremia registry. Kidney Int 88: 167–177, 2015 [PMC free article] [PubMed] [Google Scholar]
3. Sterns RH: Disorders of plasma sodium--causes, consequences, and correction. N Engl J Med 372: 55–65, 2015
โฆษณา