15 พ.ย. 2022 เวลา 12:14 • ธุรกิจ
"ปลากุเลาเค็มตากใบ" เจ้าของฉายา "ราชาแห่งปลาเค็ม"
อาหารพื้นบ้าน สู่ กาลาร์ดินเนอร์💃
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ให้ข้อมูลว่า "ปลากุเลาตากใบ" ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565
การจัดงานเลี้ยงต้อนรับครั้งนี้ ใช้คอนเซ็ปต์ "Sustainable Thai Gastronomy" เพื่อแสดงถึงศักยภาพของอาหารไทย และประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสำคัญของโลก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์ คัดสรรจากวัตถุดิบของไทยทั้งหมด จากทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น...
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก กล่าวเพิ่มเติม
"ปลากุเลา" คือหนึ่งในตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปลาที่อาศัยหากินอยู่ตามหน้าดินโคลน บางครั้งก็เข้าไปอยู่ในน้ำกร่อย พบได้ทั่วไปในฝั่งอ่าวไทย แต่เป็นที่พูดถึงกันมากในขณะนี้เพราะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในที่มาของวัตถุดิบหนึ่งในเมนูจัดเลี้ยงต้อนรับผู้นำเอเปค จนเกิดดราม่า "ปลาผิดน้ำ?"
วัตถุดิบที่ใช้ในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์ เมนูอาหารจากปลากุเลา ทางทีมเชฟชุมพล ผู้ดูแลรายการอาหารเลือก "ปลากุเลาเค็มตากใบ" ปลาเค็มขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสที่ได้รับการกล่าวขานว่า อร่อย มีรสสัมผัสกลมกล่อม ไม่เค็มจัด เนื้อฟู มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และเป็นสินค้าที่ "คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน" เพราะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300-1,800 บาท
ทำไมต้องเป็นปลากุเลาที่ "ตากใบ"
🐟 ปลากุเลา เป็นปลาธรรมชาติที่มีมากเฉพาะชายทะเลภาคใต้ ทั้งนราธิวาส ปัตตานี สงขลา โดยเฉพาะปลากุเลาของนราธิวาส อำเภอตากใบ นั้น เป็นปลาจากแหล่งน้ำที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เนื้อจึงมันหวาน และมีกรรมวิธีพิเศษในการทำปลาเค็ม อันเป็นวิธีที่สืบทอดกันมาในพื้นที่อำเภอตากใบ จึงมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์
🐟 "ปลากุเลาเค็มตากใบ" ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผลิตจากปลากุเลาสดในท้องถิ่นซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ท้องทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ติดกับแม่น้ำตากใบและแม่น้ำสุไหงโกลกที่นำพาแร่ธาตุไหลลงสู่ทะเล ทำให้ชายฝั่งทะเลแถบอำเภอตากใบมีแพลงตอนจำนวนมากเป็นอาหารปลากุเลา ถือเป็นสินค้าระดับมาตรฐานที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเฉพาะชุมชน และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ปลากุเลาเค็มตากใบมีราคาสูง
🐟 การทำปลากุเลาเค็มตากใบ ใช้กรรมวิธีที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี ขึ้นชื่อว่าทำยาก ทำนาน และต้องใช้ปลาสดมาทำ นำมาหมักกับเกลือหวานของนราธิวาส ซึ่งมีความพิเศษในรสเค็มหวานปลายลิ้น หมักไว้ประมาณ 2 คืน แล้วนำไปแขวนตากแดด เอาหัวห้อยลงเป็นเอกลักษณ์ของปลากุเลาตากใบ โดยเฉพาะที่หัวนั้น ต้องมีกระดาษห่อไว้กันแมลงวันมาไข่ ใช้เวลาตากแห้งประมาณ 1 เดือน ซึ่งแต่ละเจ้าอาจมีวิธีแตกต่างไปบ้างเล็กน้อย บางเจ้าในระหว่างตากต้องเอาไม้คลึงแป้งหรือขวดมานวดให้เนื้อปลานุ่มขึ้น
เมนูเด็ดของชาวบ้านอย่างเรา ๆ แค่นำปลากุเลาเค็มมาตัดเป็นชิ้น ทอดน้ำมันร้อนจัด พอหนังกรอบ ยกขึ้นสะเด็ดน้ำมัน เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อน ๆ พริกขี้หนูซอย หอมแดงซอย บีบมะนาวเล็กน้อย แค่นี้ก็เด็ดแล้ว กลิ่นของปลาเค็มนั้น สำหรับคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยและเรียกน้ำย่อยดีนัก😋
มีคำถามว่า เมื่อเป็นเมนูอาหารให้ชาวต่างชาติ เขาจะชื่นชอบรสชาติและกลิ่นแบบชาวไทยหรือไม่? ก็คงต้องคอยดูฝีมือทีมเชฟชุมพล ว่าจะรังสรรค์เมนูออกมาน่าตาและรสชาติถูกใจชาวต่างชาติหรือไม่ แต่ถ้าเทียบปลากุเลาเค็มตากใบ กับปลาร้าฝรั่ง "แอนโชวี่" ก็น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของสาวกปลาดอง ปลาเค็ม ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมนู "ซีซาร์สลัดใส่ปลากุเลาตากใบ"
หากช่วงนี้ปลากุเลาเค็มตากใบ ราคาดีดขึ้นมาก ลองแวะอุดหนุนปลากุเลาเค็ม OTOP ของพื้นที่อื่น ๆ บ้างก็จะเป็นการช่วยกระจายรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่นชายแดนภาคใต้ เช่น "ปลากุเลา บ้านตันหยงเปาว์" ของดี อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งรสชาติก็จัดว่า เลิศ🤤
ที่มาบางส่วนอ้างอิง : https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_129270
โฆษณา