17 พ.ย. 2022 เวลา 11:15 • ธุรกิจ
พรบ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตฉบับแก้ไข เปิดโอกาสให้บริการใหม่เข้าถึงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อ
โดยปกติเมื่อเราจะให้ใครกู้ยืมเงินก็ต้องดูว่ารายได้และประวัติการชำระหนี้ของคนนั้นเป็นเช่นไร มีโอกาสจะได้เงินคืนมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่จะนำ "ข้อมูลเครดิต" ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล ความตั้งใจในการชำระหนี้ และความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของเจ้าของข้อมูล มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเช่นกัน
ในประเทศไทย กฎหมายเพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเกิดขึ้นในปี 2545 จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 เนื่องจากขณะนั้นการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินยังมีข้อมูลฐานะทางการเงินและประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ไม่ครบถ้วน ส่งผลให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น และเกิดปัญหาความมั่นคงแก่สถาบันการเงินและระบบสถาบันการเงิน จึงได้มีการออกกฎหมายดังกล่าวขึ้น
โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงเป็นระยะ เช่น การให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถคํานวณคะแนนเครดิตและจัดทำรายงานเชิงสถิติ การให้สมาชิกสามารถนําข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทข้อมูลเครดิตในส่วนที่ไม่ระบุตัวตนไปจัดทำแบบจําลองด้านเครดิตได้ เพื่อให้การให้สินเชื่อสอดคล้องกับศักยภาพในการชําระหนี้ของลูกหนี้มากยิ่งขึ้น
ในปี 2565 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถรับผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อเข้าเป็นสมาชิกได้ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อจะได้รับประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิก คือ จะสามารถใช้ข้อมูลเครดิตเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อแทนผู้ที่จะให้สินเชื่อได้ดียิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะมีหน้าที่ส่งข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตด้วย
รู้จักข้อมูลเครดิต
ข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงตัวลูกค้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด สถานภาพการสมรส อาชีพ เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน และกรณีที่เป็นนิติบุคคล เช่น ชื่อ สถานที่ตั้ง เลขที่ทะเบียนนิติบุคคล และ (2) ประวัติการได้รับอนุมัติสินเชื่อและการชำระสินเชื่อ รวมทั้งประวัติการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเครดิต
ข้อมูลเครดิตสะท้อนถึงพฤติกรรมและวินัยทางการเงินของเจ้าของข้อมูล ความตั้งใจในการชำระหนี้ และความน่าเชื่อถือหรือ "เครดิต" ของเจ้าของข้อมูล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเครดิตไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่สถาบันการเงินใช้ในการตัดสินใจให้สินเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเครดิตร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการหารายได้ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ และหลักประกัน ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เพื่อให้เจ้าของข้อมูลได้รับสินเชื่อในวงเงินและอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับศักยภาพในการชําระหนี้
บริษัทข้อมูลเครดิตและการกำกับดูแล
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีบริษัทข้อมูลเครดิต 1 แห่ง คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) สามารถรับสมาชิกประเภทสถาบันการเงินได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทเช่าซื้อ/ลีสซิ่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตนั้น ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.)[1] มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลและออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต โดยปัจจุบัน กคค. กำหนดให้สมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตต้องนำส่งข้อมูลของลูกค้าของตนให้บริษัทข้อมูลเครดิตจัดเก็บ ซึ่งเป็นการจัดเก็บเท่าที่จำเป็นโดยมุ่งเน้นที่คุณภาพของข้อมูล
กล่าวคือ ข้อมูลที่นำส่งต้องถูกต้องครบถ้วนและทันสมัยอยู่เสมอ หากมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สมาชิกมีหน้าที่ต้องแก้ไขและนำส่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อคุ้มครองเจ้าของข้อมูล รวมทั้งเพื่อให้ระบบข้อมูลเครดิตมีความถูกต้องครบถ้วน นอกจากนี้ เจ้าของข้อมูลมีสิทธิตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล รวมทั้งอุทธรณ์โต้แย้งความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง และหากมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ต้องระวางโทษตามกฎหมาย
ที่มาและสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับแก้ไขล่าสุด
ตามกฎหมายเดิม สมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตมีประเภทเดียว คือ สมาชิกประเภทสถาบันการเงิน แต่ปัจจุบันมีธุรกิจและแพลตฟอร์มทางการเงินใหม่ ๆ รวมถึง "ธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ" เป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินโดยตรง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ที่ต้องการสินเชื่อกับผู้ที่ต้องการให้สินเชื่อโดยได้ผลตอบแทน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ให้สินเชื่อเอง จึงไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตได้
ในปี 2565 จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว โดยออกพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 กำหนดให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ (ตามที่ กคค. ประกาศกำหนด) เข้าเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตได้ พร้อมทั้งกำหนดสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกประเภทดังกล่าว และการให้ความคุ้มครองเจ้าของข้อมูลให้ชัดเจน
โดยให้ กคค. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงลักษณะของธุรกิจตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้และเป็นธรรมกับเจ้าของข้อมูลผู้ขอสินเชื่อ เช่น กำหนดให้ใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อแทนผู้ที่จะให้สินเชื่อเท่านั้น การเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ที่จะให้สินเชื่อเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจให้สินเชื่อ และต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลผู้ขอสินเชื่อก่อนทุกครั้ง รวมถึงมีบทกำหนดโทษหากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
การจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง
ต่อมา กคค. ได้ออกประกาศใหม่และปรับปรุงประกาศเดิมที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาถึงลักษณะของธุรกิจตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ ตลอดจนการคุ้มครองเจ้าของข้อมูล รวม 7 ฉบับ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending Platform และ Debt Crowdfunding Portal เป็นผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ
รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทข้อมูลเครดิตสามารถเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกประเภทผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ หลักเกณฑ์การขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อจัดทำแบบจำลองด้านเครดิต ประเภทข้อมูลที่นำส่งให้บริษัทข้อมูลเครดิต และเงื่อนไขการนำส่งและหยุดนำส่งข้อมูล ทั้งนี้ ประกาศ กคค. ดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้
ปัจจุบันการขอสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ ถือเป็นอีกทางเลือกให้แก่ผู้กู้นอกเหนือจากการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินโดยตรง การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้ SMEs และสตาร์ตอัปรวมถึงประชาชนที่ไม่มีประวัติทางการเงิน มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อหรือผู้ลงทุนมีทางเลือกในการกระจายความเสี่ยง และแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน
นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการจัดหาสินเชื่อส่งข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิต ทำให้ระบบฐานข้อมูลเครดิตของประเทศมีความครบถ้วนมากขึ้น ระบบการให้สินเชื่อจึงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าใกล้การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลยิ่งขึ้น
[1] คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน
เรื่อง : ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน/
ทีมงานฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายตรวจสอบผู้ให้บริการทางการเงิน
โฆษณา