17 พ.ย. 2022 เวลา 11:53 • สัตว์เลี้ยง
แมวสามสีตัวผู้ เป็นหมันทุกตัวจริงหรือเปล่า? แล้วแมวสามสีที่มีแต้มบนหน้าแบ่งครึ่งกันเป็น Chimera ทุกตัวจริงไหม ?
จากบทความเก่าที่สุเคยเขียนถึงเรื่องแมวสามสีตัวผู้มักเป็นหมัน ในบทความนี้สุจะมาอัพเดท ภาวะทางพันธุกรรมใหม่ๆ ที่เป็นสาเหตุเพิ่มเติมที่ทำให้เกิดแมวสามสีค่ะ
ขอเท้าความเรื่องสีบนตัวน้องแมวสั้น ๆ สีในแมวมี 2 กลุ่ม คือ ดำ และ แดง โดยยีนส์กำหนดกลุ่มสีในแมวนั้นจะอยู่บนโครโมโซม X ซึ่งในน้องแมวตัวเมียที่มีโครโมโซมเพศเป็น X สองตัว หรือมีสัญลักษณ์ว่า XX ทำให้น้องแมวตัวเมียสามารถ ถือยีนได้ 2 กลุ่มสี เช่น
ดำ/ดำ จะแสดงออกมาเป็นแมวในกลุ่มดำ ,
แดง/แดง จะแสดงออกมาในแมวกลุ่มแดง
และ ดำ/แดง จะแสดงออกมาในกลุ่มตอตี้ หรือ เรียกกันง่าย ๆ ว่าสามสีค่ะ
ในน้องแมวตัวผู้ โดยปกติจะมีโครโมโซมเพศเป็น XY ดังนั้นจึงสามารถถือกลุ่มสีได้เพียง 1 กลุ่ม ทำให้ตามปกติน้องแมวตัวผู้จะมีเพียง ดำ หรือ แดงเท่านั้น ส่วนลักษณะแต้มขาว หรือ ขาวล้วนบนตัวของน้องแมว เปรียบเสมือนแมวที่มีสีปกติ แต่ใส่เสื้อคลุมสีขาวเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นลักษณะที่ถูกกำหนดโดยยีนส์กำหนดกลุ่มสีที่อยู่บนโครโมโซมเพศ
กลุ่มสีของแมว ไม่ว่าจะกลุ่มสีดำ หรือ กลุ่มสีแดง จะอยู่บนตำแหน่งโครโมโซม X
กลับมาที่แมวสามสีตัวผู้จะเกิดภาวะเป็นหมันทุกตัวไหม? โดยทั่วไปแมวตัวผู้สามสีที่พบ มักเป็นภาวะโครโมโซมเพศ X เกิน มากกว่า 70% ของแมวสามสีทั้งหมด [1] โดยมักจะมีโครโมโซมเป็น XXY เมื่อมี X จำนวน 2 ตำแหน่ง จึงทำให้มีกลุ่มสีได้ 2 กลุ่ม เมื่อมีโครโมโซมเพศผิดปกติ ทำให้น้องแมวตัวผู้ที่เกิดภาวะสามสีนั้นมีโอกาสเป็นหมันได้นั้นเองค่ะ
แต่ก็ไม่ใช่แมวตัวผู้สามสีทุกตัวจะเป็นหมันเสมอไปค่ะ
นอกจากแมวสามสีตัวผู้บางตัวที่มีโครโมโซมเพศ X ที่เกินขึ้น บางตัวอาจไม่เป็นหมันแล้ว ยังอาจเกิดจากภาวะอื่น ๆ ทางพันธุกรรม ที่ทำให้เกิด 3 สีบนตัวน้องแมวตัวผู้ได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับโครโมโซมเพศ (X,Y) เช่น การเกิด Somatic mutation ที่มีการกลายพันธุ์บนเม็ดสีบางจุดของร่างกาย ทำให้เม็ดสีเมลานินสีดำ มีการผลิตสีแดง จนดูเป็นแมวสามสี หรือ เม็ดสีเมลานินสีดำดำผลิตสีเทา ทำให้เกิดแมวดำ-เทาในตัวเดียวกันได้ด้วยนั้นเองค่ะ
การกลายพันธุ์ของเม็ดสี พบเมื่ออยู่ในช่วง Embryo
ในปัจจุบันนี้ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่า การกลายพันธุ์ของเม็ดสีในลักษณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตัวน้องแมวอย่างไรบ้าง ในความเห็นส่วนตัวของสุเอง ‘เชื่อ’ ว่า ลักษณะอะไรก็ตามที่ถูกพัฒนาขึ้นมา จะต้องแลกกับบางอย่างเสมอ เมื่อเรายังไม่มั่นใจปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ลักษณะนี้ จึงยังไม่ควรให้แมวตัวนั้นมีลูกต่อ และ ในส่วนของพี่น้องเค้าที่มีการแสดงสี ของเม็ดสีตามปกติ ก็ควรจะมีการติดตามว่ามีการส่งต่อเม็ดสีที่มีการกลายพันธุ์ลงสู่รุ่นต่อๆ ไปหรือไม่ค่ะ
อีกภาวะหนึ่งที่สามารถเกิดแมวสามสีได้ ก็คือการเกิด ‘Chimera’ หรือ ‘ฝาแฝดที่รวมตัวกันอยู่ในร่างกายเดียวกัน’ ลักษณะนี้จะมีโอกาสทำให้น้องแมวมีลักษณะที่ต่างกันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตั้งแต่อยู่ในท้องของตัวแม่ เช่น อาจเกิดในน้องแมวตัวผู้ที่มีการรวมตัวรวมกันของน้องแมวสีส้ม และ สีดำ ทำให้เกิดจึงเกิดน้องแมวตัวผู้สามสี หรือในแมวหนึ่งตัว สามารถพบขนบางส่วนสั้น ขนบางส่วนยาว ขนบางส่วนไม่มีลายแทบบี้ ขนบางส่วนมีลายแทบบี้ ขนบางส่วนเป็น dilute บางส่วนเป็น Dense ฯลฯ ปะปนกันไปในแมวหนึ่งตัวที่มีการรวมกันของแฝด
ตัวอย่างน้องแมว Chimera ตัวเมีย ที่มีฝาแฝดตัวนึง เป็น Blue Calico ขนยาว และ อีกตัวหนึ่งเป็น Brown Classic Tabby ขนสั้น
Chimera โดยทั่วไปเมื่อเรามีการตรวจทางพันธุกรรม เราจะพบว่าน้องแมวมี DNA 2 ชุด ที่แตกต่างกันในตัวเดียวกัน ดังนั้น แมวสามสีที่เกิดจากภาวะ Chimera เอง ก็อาจเป็น หรือ ไม่เป็นหมันได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะการรวมกันของ chimera ว่า chimera ตัวนั้นได้ส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์มาสมบูรณ์หรือไม่
ในส่วนน้องแมวสามสี ที่พบว่ามีการแบ่งกลุ่มสีดำ-แดง บนใบหน้าฝั่งซ้าย-ขวานั้น เรามักจะถือว่าเป็นลักษณะปกติของรูปแบบการเกิดสามสีอย่างหนึ่งค่ะ เราจึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าน้องแมวตัวนั้นเป็น Chimera หรือไม่[2]จากการดูเพียงลักษณะภายนอกได้โดยปกติแล้วจะต้องมีการสุ่มตรวจ DNA จากร่างกายของน้องหลายๆ ส่วนค่ะ
1] An animal model for the XXY Klinefelter's syndrome in man: tortoiseshell and calico male cats , W R Centerwall, K Benirschke, American Journal of Veterinary Research, 1975 Sep;36(9):1275-80
2]The Genetics Behind Venus, the Mysterious Two-Faced Cat, Rachel Nuwer , Smithsonian magazine, September 4, 2012 (https://www.smithsonianmag.com/smart-news/the-genetics-behind-venus-the-mysterious-two-faced-cat-25323536/)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา