20 พ.ย. 2022 เวลา 04:37
ฎีกาที่ 1678/2564
ศาลชั้นต้นวินิจฉัย โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่าทำสัญญากู้เงินกับจำเลยเป็นเงิน 2,015,000 บาท และเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โจทก์ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรธาตุพนมว่าจำเลยไม่คืนเงินตามสัญญากู้เงิน ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีผิดสัญญาทางแพ่งต้องไปว่ากล่าวกันในคดีแพ่ง ดังนั้น การที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลย เชื่อว่าเป็นความสมัครใจของโจทก์เอง
มิใช่เพราะจำเลยหลอกลวงโจทก์ ข้อเท็จจริงตามฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจะนำเงินที่ได้จากโจทก์ไปร่วมลงทุนทำธุรกิจซื้อทองคำกับภริยาของนักการเมืองทั้งที่ความจริงไม่มีการลงทุนดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกลงแล้ว แม้โจทก์จำเลยจะทำสัญญากู้เงินกันก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อที่จะพิจารณาว่าเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง
ดังนี้ ย่อมเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าเป็นความสมัครของโจทก์เอง ไม่ใช่เพราะจำเลยหลอกลวง เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมาย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
คดีโจทก์จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาคนในซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะได้วินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499
ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามหลักกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว
โฆษณา