24 พ.ย. 2022 เวลา 02:42 • หนังสือ
การคิดทบทวนไม่เพียงเป็นทักษะเท่านั้น แต่มันยังเป็นทัศนคติด้วยเรามีเครื่องมือทางความคิดมากมายที่จำเป็นต้องใช้อยู่แล้ว เราแค่ต้องไม่ลืมที่จะหยิบมันออกมาใช้เท่านั้นเอง
วันนี้เล่าให้ฟังอยากจะพามาทำความรู้จักกับ 4 วิธีคิด ว่ามันคืออะไร และแบบไหนที่เราใช้วิธีคิดอยู่เป็นประจำเพื่อทำให้เรารู้เท่าทันต่อวิธีคิดตัวเองและสามารถเอาไปปรับใช้ได้จริง เล่าให้ฟังเชื่อว่าหากผู้อ่านที่เข้ามาอ่านบทความนี้ ท่านอาจเคยได้ยินมาก่อนแล้วก็ถือเป็นการทบทวนอีกครั้งว่าจริงๆ เรากำลังสวมหมวกใบไหนบ่อยที่สุด และสำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่าน 4 วิธีคิดท่านอาจต้องเอะใจว่าบางครั้งฉันก็คิดแบบนี้นี่หน่า
เมื่อการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า ความรู้ของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้บีบให้เราต้องตั้งข้อสงสัยในความเชื่อของตัวเองมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา
โดยปรกติแล้วมนุษย์เรามักจะสวมบทบาทวิธีคิดอยู่ด้วยกัน 4 อาชีพ ได้แก่ นักเทศน์ นักอัยการ นักการเมือง และนักวิทยาศาสตร์ เมื่อเราสวมบทเป็นคนเหล่านี้ เราก็จะใช้หลักคิดแบบชุดเครื่องมือที่แตกต่างกันไป เมื่อเราสวมบทเป็นนักเทศน์ความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ของเราก็จะตกอยู่ในอันตราย โดยพยายามพร่ำสอนเพื่อปกป้องและส่งเสริมอุดมการณ์ของตัวเอง
หากเราสวมบทบาทเป็นนักอัยการเมื่อเราเล็งเห็นข้อบกพร่องในการให้เหตุผลของคนอื่น โดยรวบรวมข้อโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาคิดผิดและทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะคดี
หากเราสวมบทบาทเป็นนักการเมืองเมื่อเราพยายามเอาชนะใจผู้ฟัง โดยรณรงค์หาเสียงและวิ่งเต้นเพื่อให้ได้การยอมรับจากผู้ลงคะแนนเสียง
โดยความเสี่ยงของการสวมบทบาทเป็นคนเหล่านี้ก็คือ เราจะกลายเป็นผู้ที่หมกมุ่นกับการเทศนาว่าตัวเองถูกต้อง โต้แย้งว่าคนอื่นคิดผิด และเล่นการเมืองเพื่อหาเสียงสนับสนุนจนเราไม่สามารถคิดทบทวนมุมมองของตัวเองได้เลย
แต่บทความนี้อยากให้เราทุกคนลองมาคิดทบทวนมุมมองของตัวเองดูก่อนว่าจริงๆ แล้วเราเคยสวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์บ้างกันมั้ย?
หากคุณสวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ การคิดทบทวนย่อมเป็นพื้นฐานของอาชีพของคุณ คุณจะได้รับค่าตอบแทนแลกกับการรู้เท่าทันข้อจำกัดของตัวเองอยู่ตลอดเวลา คุณถูกคาดหวังให้ตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่คุณรู้ และอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่คุณไม่รู้ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองของคุณให้เท่าทันปัจจุบันโดยอาศัยข้อมูลใหม่ๆ มาหักร้าง
แต่จริงๆ แล้วการเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นแค่อาชีพนะเพราะมันยังเป็นกรอบความคิดอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการคิดในรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากการเป็นนักเทศน์ นักการเมือง และนักอัยการ
เราสวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์เมื่อเราแสวงหาความจริง โดยดำเนินการทดลองเพื่อทดสอบสมมุติฐานและค้นพบความรู้ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ใช่แค่ของสงวนสำหรับคนที่สวมเสื้อคลุมสีขาวและถือบีบเกอร์เท่านั้นนะครับ และการใช้เครื่องมือก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรากตรำทำงานกับกล้องจุลทรรศน์และจานเพาะเชื้อนานหลายปีทสมมุติฐานมีบทบาทในชีวิตเรามากพอๆ กับที่มีบทบาทในห้องทดลองนั่นแหละครับ โดยการทดลองในช วิตจริงอาจเป็นในเชิงข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของคนเราในแต่ละวันมากกว่า
ดังนั้น การที่ใครสักคนมีอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้รับประกันเช่นกันว่าพวกเขาจะใช้เครื่องมือที่ตัวเองฝึกฝนมา บางครั้งนักวิทยาศาสตร์อาจกลายร่างเป็นนักเทศน์เมื่อพวกเขานำเสนอทฤษฎีอันเป็นที่รักราวกับมันคือหลักคำสอน และมองว่าคำวิจารณ์ที่ผ่านการไตร่ตรองมาแล้วเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น และพวกเขาอาจหันไปสวมบทบาทเป็นนักการเมืองเมื่อปล่อยให้ความคิดเห็นของตัวเองถูกชักนำไปตามความนิยมแทนที่จะเป็นความถูกต้องแม่นยำ
ว่ากันว่าขนาดไอน์สไตน์ก็ยังต่อต้านทฤษฎี ควอนตัมเลย หลังจากที่เขาได้พลิกวิชาฟิสิกส์จากหน้ามือเป็นหลังมือด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพอย่างที่เรารู้กัน
สุดท้ายหากใครอ่านจบผมเชื่อว่าจะทำให้ท่านได้กลับไปคิดทบทวนตัวเองอีกครั้งนะครับ บางครั้งเราอาจจะเผลอสวมบทบาทเป็นนักเทศน์เมื่อเราถูกโจมตีความเชื่อของเราเองซึ่งไม่ต่างอะไรกับศาสนา หรือแม้กระทั่งบางครั้งเราอาจสวมบทบาทเป็นนักอัยการเมื่อเราคิดว่าสิ่งที่เราทำมาศึกษามาเป็นเรื่องที่ถูกต้องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสังคมในประเทศไทยในปัจจุบันอย่างที่เห็นกันได้ทั่วไปในเรื่องของ แนวคิดระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า นำไปสู่การเมือง ว่าจะไม่แตะแล้วนะเนี่ยยยย.
ที่มา : หนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don't Know
โฆษณา