24 พ.ย. 2022 เวลา 04:11 • สุขภาพ
กระจกตาเทียมชีวภาพ ทดแทนกระจกตาจริงได้อย่างไร ?
ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ นักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (#ไบโอเทค) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัป #ReLIFE
ตั้งแต่ได้เริ่มทำงานวิจัยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า "กระจกตาเทียม" ยังคงเป็นที่ต้องการของผู้ป่วยหลายประเทศทั่วโลก เพราะการรับบริจาคกระจกตาเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการแพทย์ไม่พร้อม เนื่องจากกระจกตามีอายุสั้น
หากมีการจัดเก็บจากผู้เสียชีวิตล่าช้าหรือจัดเก็บด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมจะทำให้กระจกตาเสื่อมสภาพทันที การวิจัยและพัฒนา “กระจกตาชีวภาพ” จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของทีมวิจัยเรา เพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ผู้เฝ้ารอรับบริจาคกระจกตา และบุกเบิกสร้างสรรค์นวัตกรรมกระจกตาชีวภาพเป็นรายแรก ๆ ของโลก
ตามธรรมชาติกระจกตาของมนุษย์จะมีลักษณะเป็นเจลลีที่เหนียว แข็งแรง ทนทาน เนื่องจากต้องรับแรงดึงจากการกะพริบหรือกรอกตาตลอดเวลา ความแข็งแรงนี้มาจากโครงสร้างภายในที่มีลักษณะเป็นเส้นใยสานกันแน่นเป็นตาข่าย 300-500 ชั้น ทีมวิจัยจึงพยายามเลียนแบบลักษณะและโครงสร้างภายในกระจกตาเพื่อให้มีลักษณะใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด
ทีมวิจัยได้พัฒนากระจกตาให้มีลักษณะเป็นเจลลีเสริมแรงเส้นใย ผ่านกระบวนการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าแรงสูง เพื่อนำเจลลีที่มีลักษณะเหมือนกับกระจกตาของมนุษย์มาใช้เป็นโครงเลี้ยงสเต็มเซลล์ สำหรับนำไปผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้แก่คนไข้
หลังจากทั้งโครงเลี้ยงเซลล์และสเต็มเซลล์เข้าไปยึดติดบนดวงตาของคนไข้แล้ว สเต็มเซลล์จะค่อย ๆ กินโครงเลี้ยงเซลล์เป็นอาหารจนหมด และเติบโตขึ้นมาใหม่เป็นเซลล์กระจกตาตามธรรมชาติที่ลักษณะเหมือนกับโครงเลี้ยงเซลล์ทุกประการ ทำให้มีความปลอดภัยไม่เกิดการต่อต้านจากร่างกาย
การเปลี่ยนกระจกตาโดยใช้กระจกตาชีวภาพทำให้ผู้ป่วยได้ใช้กระจกตาที่ใสเหมือนกระจกตาของเด็กแรกเกิด แตกต่างจากกระจกตาที่รับบริจาคซึ่งมีความขุ่นมัวตามอายุการใช้งานของผู้เสียชีวิต นอกจากนี้ทีมวิจัยยังออกแบบการผลิตทั้งแบบใช้งานทั่วไปและแบบจำเพาะกับลักษณะลูกตาของคนไข้ได้อีกด้วย
🎙 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ Podcast
รายการ Sci เข้าหู EP37 : ReLIFE กระจกตาเทียมชีวภาพ
โฆษณา