1 ธ.ค. 2022 เวลา 05:00 • ยานยนต์
ตรวจสภาพรถยนต์ เพื่อต่อภาษีรถ ตรอ.ตรวจอะไรบ้าง ?
ในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปี สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก่อนที่จะสามารถต่อภาษีรถยนต์ประจำปีได้นั่นก็คือการต่อพ.ร.บ.รถยนต์
และเข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ที่กรมการขนส่งทางบกหรือตรวจสภาพรถยนต์ที่ตรอ.ใกล้บ้านที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก
เพื่อขอเอกสารการันตีว่า รถของคุณนั้นได้ตรวจสภาพรถยนต์ผ่านแล้วและสามารถขับขี่ได้ตามมาตรฐานโดยขั้นตอนการนำรถให้เจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์
จะเห็นว่ามีทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เข้ามาใช้ในการตรวจสภาพรถยนต์ของคุณ แต่หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่าตรอ.ตรวจสภาพรถยนต์ ตรวจส่วนไหนของรถบ้าง โดยในขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ มีขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ส่วนไหนบ้างดังนี้
  • ตรวจสอบเล่มทะเบียนหรือสำเนาทะเบียนรถยนต์ก่อน
การตรวจเล่มทะเบียนรถยนต์ก่อนตรวจสภาพรถยนต์นั้น เป็นการตรวจสอบว่ารายละเอียดรถยนต์ ชื่อเจ้าของรถ เลขตัวถัง เลขเครื่องยนต์ สีรถ ชนิดเชื้อเพลิง ว่ามีความถูกต้องตรงกับรถยนต์ของคุณหรือไม่
หากรถของคุณมีการติดแก๊ส จะต้องมีใบตรวจสภาพระบบแก๊ส LPG และ NGV มาก่อนที่จะนำรถมาเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสภาพรถยนต์ที่ ตรอ.
ถ้าหากไม่มีใบตรวจสภาพระบบแก๊ส จะยังไม่สามารถตรวจสภาพรถยนต์ได้ และการติดตั้งแก๊ส LPG/NGV ต้องลงเล่มแล้วเท่านั้น
  • ตรวจสภาพรถยนต์ภายนอก
เป็นการตรวจส่วนต่าง ๆ ภายนอกรถว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้ปกติหรือไม่ เช่น ล้อและยาง ศูนย์ล้อ ระบบไฟส่องสว่าง ค่าไฟพุ่งไกล ไฟพุ่งต่ำ
ตำแหน่งไฟพุ่งไกล ด้านซ้าย-ขวา ตำแหน่งไฟพุ่งต่ำ ด้านซ้าย-ขวา สภาพตัวถังและโครงรถ ประตูและพื้นรถ ปัดน้ำฝน เป็นต้น
ข้อควรรู้ การทดสอบศูนย์ล้อคู่หน้า โดยขับรถผ่านเครื่องทดสอบด้วยความเร็วประมาณ 3-5 กม./ชม. ในขณะที่ล้อหน้าผ่านเครื่องทดสอบ ค่าเบี่ยงเบนของศูนย์ล้อหน้าจะต้องไม่เกิน +-5 เมตรต่อกิโลเมต
  • ตรวจสภาพรถยนต์ภายใน
แตรรถยนต์ มาตรวัดความเร็ว เข็มขัดนิรภัย เบรกมือ เบรกเท้า ประสิทธิภาพห้ามล้อ ประสิทธิภาพเบรกมือ แรงห้ามล้อของแต่ละล้อ น้ำหนักลงเพลาหน้า-หลัง
ข้อควรรู้ การทดสอบระบบเบรกโดยการเหยียบเบรกจนสุด
1
เบรกมือ แรงเบรกทุกล้อ รวมกันไม่น้อยกว่า 20% ของน้ำหนักรถ
เบรกเท้า แรงเบรกทุกล้อ รวมกันไม่น้อยกว่า 50% ของน้ำหนักรถ
ผลต่างของแรงเบรก ผลต่างแรงเบรกล้อซ้าย-ขวาต้องไม่เกิน 25% ของแรงเบรกสูงสุดในเพลานั้น
  • ตรวจสภาพใต้ท้องรถ
ระบบบังคับเลี้ยวและพวงมาลัย ถังเชื้อเพลิง และท่อส่ง เครื่องล่าง หมายเลขเครื่องยนต์
  • ตรวจค่าไอเสีย-วัดเสียงท่อไอเสีย
ตรวจวัดขณะเครื่องยนต์เดินเบาในขณะเกียร์ว่าง ปิดระบบปรับอากาศ โดยวัดปริมาณ CO และ HC จากปลายท่อไอเสียจำนวน 2 ครั้ง แล้วจึงนำค่ามาหาเฉลี่ยเป็นเกณฑ์ดังนี้
  • การตรวจสอบค่าไอเสีย
ต้องผ่านเกณฑ์วัดค่าก๊าซ CO และ HC โดยแยกประเภทรถและตามปีจดทะเบียนรถ ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (เก๋ง) จดทะเบียนก่อน 1 พ.ย. 2536 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน
จดทะเบียน 1 พ.ย. 2536 – 31 ธ.ค. 2549 CO ไม่เกินร้อยละ 1.5 HC ไม่เกินร้อยละ 200 ส่วนในล้านส่วน
รถยนต์อื่นนอกจากข้อ 1 ที่จดทะเบียนก่อน 1 ม.ค. 2550 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 HC ต้องไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือรถยนต์ที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ม.ค. 2550 CO ต้องไม่เกินร้อยละ 0.5 HC ต้องไม่เกิน 100 ส่วนในล้านส่วน
  • การตรวจวัดควันดำ
จะตรวจวัดขณะเร่งเครื่องประมาณ 3-4 พันรอบ ในเกียร์ว่างและปิดแอร์ ผ่านเครื่องมือวัดแบบกระดาษกรอง (Filter) โดยเก็บค่าควันดำจำนวน 2 ครั้ง
ใช้ค่าที่วัดได้สูงสุด ค่าควันดำต้องไม่เกิน 50% และเครื่องมือวัดระบบวัดความทึบแสง (Opacity) ค่าควันดำต้องไม่เกิน 45%
  • การวัดความดังของท่อไอเสีย
กรณีเป็นเครื่องยนต์ดีเซล จะเร่งเครื่องยนต์จนสุดคันเร่ง ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน จะเร่งเครื่องยนต์ประมาณ 3 ใน 4 ของรอบที่ให้กำลังม้าสูงสุดจนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงานด้วยความเร็วรอบคงที่ ค่าระดับเสียงสูงสุดต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ
  • การรายงานผลการตรวจสภาพรถ
รถที่ผ่านการตรวจสภาพรถยนต์เรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ตรอ.จะจัดพิมพ์รายงานผลการตรวจสภาพรถจากระบบสารสนเทศของกรมการขนส่งทางบก
โดย ตรอ.จะจัดเก็บเอกสารส่วนที่ 1 และมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้กับผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยถือเป็นใบรับรองการตรวจสภาพและให้มีอายุ 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ผ่านการตรวจสภาพรถ
กรณีไม่ผ่านการตรวจสภาพรถ เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการตรวจสภาพและข้อบกพร่องให้ผู้ที่นำรถเข้ารับการตรวจสภาพรับทราบ
พร้อมทั้งมอบเอกสารส่วนที่ 2 ให้เจ้าของรถเพื่อให้เป็นหลักฐานในการตรวจสภาพรถอีกครั้งภายหลังจากแก้ไขข้อบกพร่องแล้ว โดยมีรายละเอียดการตรวจสภาพรถใหม่ ดังนี้
1. กรณีตรวจสภาพรถยนต์ใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรก ให้ตรวจเฉพาะรายการข้อบกพร่องที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพ
2. กรณีตรวจสภาพรถใหม่เกิน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพครั้งแรกให้ตรวจสภาพรถยนต์ใหม่ทุกรายการ
  • ทำไมต้องตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี
ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 ได้มีบัญญัติว่า รถที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปี โดยนับตั้งแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก จนถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี
เช่น หากรถเก๋งของคุณจดทะเบียนปี พ.ศ.2565 เมื่อครบ 7 ปี จะต้องเข้ารับตรวจสภาพรถปี พ.ศ.2572 ทั้งนี้การตรวจสภาพรถก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร คนที่ใช้รถใช้ถนนคนอื่น และสภาพแวดล้อมด้วย
ซึ่งรถที่นำมาใช้บนท้องถนน ต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยรถที่ต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีนั้น ได้แก่
1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุการใช้งานครบ 7 ปีขึ้นไป
4. รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุการใช้งานครบ 5 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้คุณสามารถนำรถไปตรวจสภาพรถล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี โดยนำเอกสารเข้าไปศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. หากผลการตรวจสภาพรถผ่าน สถานตรวจสภาพรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
แต่หากพบว่ารถไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพจะแจ้งให้เจ้าของรถทราบ เพื่อนำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องก่อน แล้วจึงนำรถมาตรวจสภาพรถใหม่ที่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. เดิมอีกครั้งภายใน 15 วัน
แต่จะเสียค่าตรวจสภาพในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการเดิม แต่หากเกิน 15 วัน หรือนำรถไปตรวจสภาพที่ศูนย์ตรวจสภาพรถยนต์ตรอ. อื่น จะเสียค่าบริการตรวจสภาพรถเต็มอัตราเหมือนเดิม
โฆษณา