30 พ.ย. 2022 เวลา 03:10 • การศึกษา
ความฉลาด และ ไอคิว
🔸 คนฉลาดนั้นมีความสามารถอันน่าทึ่ง สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ เรียนเก่ง ไหวพริบดี ดูเป็นที่พึ่งได้ ถ้าเลือกได้พ่อแม่ก็มักอยากให้ลูกของตนฉลาด คุณครูก็อยากสอนนักเรียนที่ฉลาด องค์กรและบริษัทก็อยากคนฉลาดเข้ามาทำงาน แต่คำว่าฉลาดที่กล่าวมานั้น มักเป็นส่วนผสมระหว่าง การมีความรู้มาก กับไอคิวสูง
🔸 การมีความรู้มาก รู้เยอะนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจได้ง่าย แค่เพียงคน ๆ หนึ่งอ่านให้มาก ตั้งใจเรียน หรือแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ พบเจอคนที่หลากหลาย ก็จะทำให้คน ๆ นั้นมีความรู้มาก ถึงแม้ความรู้บางส่วนอาจผิดไปจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่ในบทความนี้ เราจะมาเน้นเรื่องของ ไอคิว กัน
🔸 ไอคิว (Intelligence Quotient หรือ I.Q.) ที่แปลเป็นภาษาไทยว่าระดับเชาวน์ปัญญา หรือระดับสติปัญญาก็ตาม คือความสามารถในการคิด กระทำ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะพบว่าคนที่ไอคิวสูง ก็มักจะเรียนเก่ง มีความจำดี มีความสามารถหลายด้าน และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าคนที่ไอคิวต่ำ
🔸 นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังต่างถูกคาดว่าจะมีไอคิวสูงกันทั้งนั้น เช่น เซอร์ ไอแซก นิวตัน (Isaac Newton) ผู้ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วง และ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เจ้าของทฤษฎีสัมพันธภาพ
🔸 แต่นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้คิดค้นทฤษฎีที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ ไม่ค่อยจะได้ถูกวัดไอคิวกันจริง ๆ สักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะถูกคาดการณ์ตัวเลขไอคิว ในภายหลังเสียมากกว่า นั่นเป็นเพราะว่า พวกเขามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการวัดไอคิวบ้าง หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าจะวัดไอคิวไปทำไม
🔸 การวัดไอคิว เริ่มต้นจาก เซอร์ฟรานซิส แกลตัน (Francis Galton) ที่เป็นผู้ริเริ่มศึกษาความแตกต่างด้านความสามารถของบุคคลด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยสร้างห้องทดลอง เพื่อทดสอบความสามารถทางการเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัส ในปี ค.ศ. 1884 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ. 1905 อัลเฟรด บิเนต์ (Alfred Binet ) ร่วมมือกับ ธีโอดอร์ ซิมง (Theodore Simon) สร้างแบบทดสอบที่ชื่อว่า Binet-simon intelligence scale เพื่อวัดแยกความแตกต่างระหว่างเด็กปกติและเด็กเรียนช้า
เซอร์ฟรานซิส แกลตัน (Francis Galton)
🔸 แบบทดสอบนี้ได้ถูกปรับปรุงหลายครั้งโดยปี 1916 ลูวิส แมดิสันเทอร์แมน (Lewis Madison Terman) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำแบบทดสอบของ บิเนต์มาปรับปรุงเป็น Stanford–Binet Intelligence Scales และยังมีการปรับปรุงอีกหลายครั้ง จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน
🔸 แต่คำว่าไอคิว ที่เราใช้กันในทุกวันนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่บิเนต์สร้างแบบทดสอบเสียอีก โดยนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน วิลเลี่ยม สเติร์น (William Louise Stern) ในปี ค.ศ. 1912 และมีการแบ่งระดับไอคิว ด้วยโค้งปกติต่อไป นอกจากนี้หลังจากนั้นไม่นานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงปี ค.ศ. 1914 – 1918 มีการเอาแนวคิดเรื่องไอคิวมาใช้ในการคัดแยกทหาร เพื่อแบ่งเหล่าทัพอีกด้วย
🔸 การแบ่งระดับไอคิวนั้นมีค่ากลางที่ระดับ 100 และมีช่วงปกติคือ 90-109 ซึ่งคนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 ของมนุษย์ จะมีไอคิวอยู่ในช่วงนี้ แต่ถ้าคุณมีไอคิวตั้งแต่ 110 ขึ้นไป แสดงว่าคุณมีระดับสติปัญญามากกว่าระดับปกติทั่วไป ซึ่งน่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคุณมีไอคิวตั้งแต่ 140 ขึ้นไป นั่นคือคุณเป็นอัจริยะที่จะพบได้เพียง ร้อยละ 0.1 ของประชากรเท่านั้น
🔸 ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีเด็กคนหนึ่งมีไอคิวต่ำกว่า 90 ก็แสดงว่าเด็กคนนั้นมีระดับสติปัญญาต่ำกว่าคนทั่วไป และถ้าไอคิวต่ำกว่า 70 นั่นหมายความว่า เด็กคนนั้นมีความบกพร่องทางเชาว์ปัญญา ซึ่งจะทำให้เด็กน้อยผู้โชคร้ายมีพัฒนาการที่ล่าช้าในทุก ๆ ด้าน
🔸 ค่าไอคิวเกิดจากปัจจัย 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ พันธุกรรม และ สิ่งแวดล้อม โดยไม่สามารถมบอกได้อย่างชัดเจนว่าปัจจัยใดส่งผลต่อระดับของไอคิวมากกว่ากัน พันธุกรรมมาจากยีนส์ของพ่อและแม่ ที่ได้สำเนามาอย่างละครึ่ง ทำให้ลูกมักจะมีไอคิวไม่ต่างจากพ่อแม่มากนัก แต่บางทีการสำเนาที่ผิดพลาดอาจนำมาสู่ความแตกต่างจากพ่อแม่ ซึ่งพบได้แต่ไม่บ่อยนัก เช่น พ่อและแม่ ไอคิว อยู่ในช่วงปกติ แต่ลูกมีไอคิว อยู่ในระดับอัจฉริยะหรือบกพร่องทางเชาว์ปัญญา
🔸 แต่บางทีความแตกต่างจากพ่อและแม่นี้ ก็เกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน เพราะไอคิวของเด็กน้อยสามารถเพิ่มได้จากการได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ได้รับประสบการณ์ที่กระตุ้นให้คิด สงสัย ใฝ่รู้ สำหรับผู้ใหญ่ ค่าไอคิวก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แต่อาจยากเสียหน่อย
🔸 ในปัจจุบัน คนเราสามารถหาแบบทดสอบวัดไอคิว ทำได้ง่าย ๆ ในโลกอินเตอร์เน็ต แต่แบบทดสอบเหล่านี้ไม่มีความเป็นมาตรฐาน ไม่มีความน่าเชื่อถือ ถ้าจะวัดไอคิวจากแบบวัดที่เป็นมาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือนั้น คงจะต้องไปวัดกับนักจิตวิทยาในโรงพยาบาล เพราะมันเป็นเครื่องมือวัดที่ใช้ยากมาก ผู้ที่สามารถใช้แบบทดสอบวัดไอคิวเหล่านี้ได้ ต้องได้รับการฝึกฝนอย่างยาวนานจนเกิดความเชี่ยวชาญ แต่ก็ไม่ใช่ว่าพอเราอยากรู้ระดับไอคิวของตัวเองแล้วจะเดินเข้าไปวัดไอคิวที่โรงพยาบาลได้ง่าย ๆ
🔸 เพราะการวัดไอคิวนี้มักจะวัดเมื่อจำเป็นเท่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้วัดเพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหาทางการเรียน เช่น ความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญา (Intellectual Disability) ความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disability) หรือการปัญญาเลิศ (Gifted) เพื่อจะได้มีการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม ให้เด็ก ๆ เหล่านี้สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ
🔸 จากที่กล่าวมา การทราบระดับไอคิวนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษา แต่เมื่อมีประโยชน์ย่อมมีโทษเป็นธรรมดา การรู้ระดับไอคิวของตนเองอาจนำไปสู่การลดความพยายาม ความมุมานะของบุคคลได้ เมื่อไม่เข้าใจสิ่งใด ทำสิ่งใดไม่ได้ ก็อาจโทษไปที่ระดับไอคิวของตนเอง ว่าเป็นเพราะตนเองมีไอคิวไม่มากพอที่จะเข้าใจหรือกระทำสิ่งนี้ได้ ในทางตรงข้ามหากบุคคลทำบางอย่างสำเร็จลุล่วงก็อาจยกความดีความชอบให้ระดับไอคิวของตนเองมากเกินไป ความพยายาม อดทน บากบั่นของตน กลับถูกลดทอนคุณค่าลงไป
🔸 ความรู้เรื่องไอคิวที่มีมากว่า 100 ปีนี้ยังคงมีข้อถกเถียงอยู่ เพราะมีนักจิตวิทยาชื่อดังหลายคนที่มีความคิดเห็นแย้งกับแนวคิดนี้ แต่เดิมเราเชื่อกันว่าไอคิวเพียงตัวแปรเดียวคือผลรวมของความสามารถต่าง ๆ ของมนุษย์ มีลักษณะเป็นเอกภาพ เป็นองค์รวมเพียงหนึ่งเดียว แต่มีนักจิตวิทยาที่ไม่เห็นด้วยได้ออกมาแบ่งไอคิวออกเป็นองประกอบย่อยต่าง ๆ ในภายหลัง เช่น จอย พอล กิลฟอร์ด (Joy Paul Gilford) กับทฤษฎีโครงสร้างทางปัญญา ที่แบ่งโครงสร้างทางปัญญาออกเป็น 3 มิติคือ มิติด้านวิธีการ มิติด้านเนื้อหา และมิติด้านผลผลิต
🔸 อีกทฤษฎีที่น่าสนใจอย่างมากคือทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences Theory) ของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Earl Gardner) ที่แบ่งความฉลาดออกเป็น 8 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดด้านตรรกะ ความฉลาดด้านภาษา ความฉลาดด้านการเคลื่อนไหว ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ ความฉลาดด้านดนตรี ความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง ความฉลาดด้านการเข้าใจสังคม และความฉลาดด้านการเข้าใจธรรมชาติ
Multiple Intelligences Theory
🔸 ซึ่งในการบรรยายผ่านคลิปวิดีโอเมื่อปี 2011 ในงาน EDUCA ที่ประเทศไทย การ์ดเนอร์ได้เสนอแนวคิดไว้ว่าทฤษฎีพหุปัญญาควรมีอีก 2 ด้าน คือ ความฉลาดด้านการดำรงอยู่ และความฉลาดด้านการสอน โดย การ์ดเนอร์นั้นมองว่ามันไม่สำคัญเลยที่คน ๆ นึงจะฉลาดเท่าไหร่ หรือไอคิวเท่าใด แต่มันสำคัญที่คน ๆ นั้นฉลาดอย่างไรต่างหาก
🔸 หากเราดูข้อมูลไอคิวแบบดั้งเดิม สถานการณ์ของเด็กไทยนั้นน่าเป็นห่วง มีการศึกษาพบว่าเด็กไทยมีไอคิวค่อนข้างต่ำ จากการสำรวจวัดไอคิวเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 80 ปลาย ๆ ถึง 90 ต้น ๆ เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีปีใดเลยที่ไอคิวเฉลี่ยของเด็กไทยถึง 100 ที่เป็นค่ามาตรฐาน
และที่ร้ายกว่านั้นล่าสุดพบว่ามีเด็กไทยที่มีไอคิวต่ำกว่า 70 ที่อยู่ในระดับของความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญามากถึงร้อยละ 6.5 ของประชากร ทั้ง ๆ ที่ตามมาตรฐานสากลกำหนดสัดส่วนของเด็กที่มีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาไว้เพียงร้อยละ 2 ของประชากร
🔸 แต่ไอคิวนั้นไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่จะทำให้เด็กเรียนได้ดี ผู้ใหญ่ประสบความสำเร็จ และมีความสุข ยังมีตัวแปรอื่น ๆอีกมากมายที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient หรือ E.Q.) ที่ทำให้บุคคลเข้าใจอารมณ์ของตนเองและผู้อื่น ควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสม ความสามารถในการเผชิญอุปสรรค (Adversity Quotient หรือ A.Q.) ที่ทำให้บุคคลสู้ไม่ถอยกับความยากลำบาก อุปสรรคในชีวิต ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ
🔸 ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ที่ทำให้บุคคลสามารถคิดสิ่งใหม่ ๆ มองเห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้หลากหลายวิธีมองความเป็นไปได้หลากหลายแบบได้อย่างละเอียดรวดเร็ว ความยืดหยุ่นทางจิตใจ (Resilience) ที่ทำให้บุคคลสามารถฟื้นฟูจิตใจจากความเจ็บปวดหรือความล้มเหลว ความสามารถในการกำกับตนเอง (Self-Regulation) ที่ทำให้บุคคลมีวินัยในตนเอง เลือกวิธีในการควบคุมตนเองได้อย่างเหมาะสม และความมั่นใจในตนเอง และความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง
🔸 (Self-Efficacy) ที่ทำให้การที่บุคคลตัดสินว่าตนเองมีความสามารถระดับใด และสามารถทำงาน จัดระบบ กระทำเพื่อให้บรรลุผลตามที่กำหนดเพื่อให้สำเร็จได้ตามแบบที่กำหนด และตัวแปรเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีตัวแปรอีกมากมายที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ที่จะผนึกกำลังร่วมกัน ทำให้บุคคลกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความสุข
🔸 หากลองจินตนาการถึงคนที่มีไอคิวสูงปรี๊ด แต่ความสามารถอื่น ๆ ต่ำหมด ถึงแม้ว่าเขาจะสามารถแก้ปัญหาได้ดี แต่ไม่มีวินัยในตนเอง ไม่เข้าใจตนเอง คุมอารมณ์ได้ไม่ดี ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ทำแต่อะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ งานบางอย่างที่เขาควรจะทำได้แต่ก็ไม่กล้าที่จะทำ เมื่อผิดหวังก็จะไม่ลุกขึ้นสู้อีก ซึ่งดูห่างไกลจากคนที่จะประสบความสำเร็จหรือมีชีวิตที่มีความสุขเป็นอย่างมาก
🔸 จากที่กล่าวมาไอคิวนั้นเป็นองประกอบหนึ่งของความสามารถของมนุษย์เพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นทุกสิ่งที่กำหนดความสามารถ ที่ทำให้เรียนเก่ง ทำงานเก่ง หรือประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ยังมีตัวแปรอื่น ๆ อีกมากมายที่มีสำคัญไม่แพ้ไอคิวเลย พ่อแม่ และคุณครูจึงไม่ควรมองข้ามตัวแปรอื่น ๆ สิ่งสำคัญเหล่านี้ที่จะช่วยทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นคนฉลาด เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีความสุข
โฆษณา