2 ธ.ค. 2022 เวลา 05:56 • การศึกษา
เดือนสุดท้าย 👉 กับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่อยู่อาศัย..🏚🏠🏡
ที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นปัจัยสี่ การจดทะเบียนซื้อขาย หรือ จำนอง หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอน ที่หน่วยงานต้องเรียกเก็บทันที ซื้อบ้านราคาเป็นล้านค่าธรรมเนียมก็หลายหมื่นอยู่เหมือนกัน เพราะ คิดในอัตราร้อยละ 2 ส่วนการจดจำนอง ก็คิดอัตราร้อยละ 1
เมื่อปีที่แล้วคณะรัฐมนตรีมีมติ ลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุดตามกฎหมาย มีผลตั้งแต่ วันที่ 18 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
และเดือนนี้คือเดือนสุดท้าย
หากจะคิดจะมีที่อยู่อาศัย หลักเกณฑ์ตามที่มติคณะรัฐมนตรี กำหนดจะเหลืออีกไม่กีวันแล้วละครับ ผมจะพามาดูหลักเกณฑ์เผื่อใครยังพอมีสตางค์หรือเครดิต ที่จะยืมเงินธนาคารมาก่อน แล้วจำนองต่อ ก็ยังพอทันอยู่
ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ตึกแถว หรืออาคารพานิชย์ ราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์และวงเงินจำนอง ไม่เกิน 3 ล้านบาท การลดค่าธรรมเนียมการโอน ได้รับการลดค่าธรรมเนียมจากร้อยละ 2 เหลือ ร้อยละ 0.01 ของราคาประเมินทุนทรัพย์
ค่าธรรมเนียในการจดจำนองอสังหาริมทรรัพย์หรือห้องชุด ค่าธรรมเนียมตามมาตการนี้จะต้องเป็นการจำนองที่สืบเนื่องมาจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือห้องชุดที่ได้รับการลดค่าธรรมเนียมจากการซื้อขาย และต้องจดทะเบียนจำนองพร้อมโอนในคราวเดียวกัน ผมจะยกตัวอย่างนะครับ
เช่น นายเก๋ ขายที่ดินพร้อมอาคารพานิชย์ให้แก่นาย ไก่ โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ 3,000,000 บาท มีวงเงินจำนอง 3,000,000 บาท กรณีนี้ได้รับการลดค่าธรรมเนียมทั้งกรณีซื้อขายและจำนอง
แต่ถ้าตามตัวอย่างเดิม วงเงินซื้อขาย 3,000,000 บาท แต่วงเงินจำนอง 3,100,000 บาท กรณีนี้ได้รับลดค่าธรรมเนียม เฉพาะกรณีซื้อขาย แต่ไม่ได้รับการลดค่าธรรมเนียมการจำนอง เพราะวงเงินจำนองเกิน สามล้านบาท
อีกกรณีหนึ่งตามตัวอย่างเดินแต่เปลี่ยนวงเงินซื้อขายเป็น 3,100,000 บาท และวงเงินจำนองก็ 3,100,000 บาท กรณีนี้จะไม่ได้รับการลดหย่อนทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายและค่าธรรมเนียมการจำนอง เพราะวงเงินเกิน สามล้านบาททั้งคู่
การลดหย่อนค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองนี้จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมจากร้อยละ 1 ของวงเงินจำนอง เสียเพียงร้อยละ 0.01 ของวงเงินจำนองเท่านั้น
และการจดทะเบียนซื้อขายและการจำนอง ก็รวมถึงการขายทอดตลาด และการขายตามคำสั่งศาล ด้วยครับ
ส่วนหลักเกณฑ์ ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นนะครับ จะสังเกตุได้ว่าถ้าผู้ซื้อเป็นนิติบุคคล จะใช้สิทธิตามมาตการนี้ไม่ได้ แต่ถ้านิติบุคคลเป็นผู้รับจำนอง ตามตัวอย่างข้างต้นก็จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกัน
ก็ไม่รู้ว่า รัฐบาลจะขยายระยะเวลานี้ออกไปอีกหรือไม่
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าบ้านที่อยู่อาศัยจะเป็นปัจจัยที่สี่และเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด มากกว่าบ้าน ก็คือ ความสุขของคนที่อาศัยอยู่ด้วยกัน..จริงไหมครับ
ขอบคุณที่อ่านและติดตามนะครับ🙏🙏🙏
โฆษณา