3 ธ.ค. 2022 เวลา 06:21
ฎีกาที่ 4292/2560
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า "ศาลอาญา... มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี" และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้..."
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ด้วยการโฆษณา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14, 15 พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 กับเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาอันมีผลเป็นการไม่รับคดีส่วนอาญาไว้พิจารณาแล้ว
ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งโดยลำพังไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในคดีส่วนแพ่งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยไม่แก้ไขในส่วนนี้ กระบวนพิจารณาในคดีส่วนแพ่งที่ศาลล่างทั้งสองปฏิบัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่ศาลล่างทั้งสองไม่คืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์โดยวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องเป็นการวินิจฉัยประเด็นคดีในส่วนแพ่งด้วยแล้วนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วเห็นสมควรมีคำสั่งในคดีส่วนแพ่งไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งใหม่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา