6 ธ.ค. 2022 เวลา 06:36 • ประวัติศาสตร์
บ้านเจ๊กฮวดมหาดเล็กนอกวัง แห่งคลองดำเนินสะดวก
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๗ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จประพาสต้นแถบหัวเมืองราชบุรี สมุทรสงคราม โดยเสด็จพระราชดำเนินจากหน้าวัดหนองแขม คลองภาษีเจริญในเวลา ๔ โมงเช้า ออกแม่น้ำท่าจีนเข้ามายังคลองดำเนินสะดวก หยุดกระบวนเรือประทับแรมที่วัดโชติทายการาม ในช่วงบ่ายเวลาประมาณ ๓ โมงเศษ
ในเวลานั้นพระองค์ได้เสด็จโดยเรือมาดพายประพาสทุ่งในยามน้ำหลากไปตามลำพังพระองค์เอง โดยมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตามเสด็จด้วย ด้วยพระราชประสงค์ต้องการทราบความเป็นอยู่สารทุกข์สุขดิบของราษฎรที่มีทั้งชาวไทยพื้นถิ่นและชาวจีนซึ่งเข้ามาจับจองพื้นที่ตั้งถิ่นฐานสร้างครอบครัวอยู่อาศัย ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นกรรมกรขุดคลองดำเนินสะดวก เช่นเดียวกับบิดาของเจ๊กฮวด
ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลักปากคลองลัดพลี
ท่าเรือวัดโชติทายการาม
เมื่อเสด็จมาถึงบ้านนางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่เจ้าของบ้านที่นำหอม กระเทียมขึ้นตากบนหลังคาเรือน นางผึ้งเห็นผู้มาเยือนเป็นคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนางก็แสดงความมีน้ำใจ ร้องเชิญให้แวะที่บ้าน พระองค์จึงเสด็จขึ้นบนบ้าน
ขณะนั้นข้าวปลาอาหารสุกพอดี นางผึ้งจึงเรียกลูกชายวัยประมาณ ๒๐ ปีเศษคือนายเจ๊กฮวด แซ่เล้า ให้มาช่วยยกหม้อข้าว กระบะใส่กับข้าว และเชิญให้พระองค์ขึ้นมานั่งเสวย ในขณะกำลังนั่งเสวยอยู่บนพื้นบริเวณระเบียงบ้าน เจ๊กฮวดซึ่งนั่งยอง ๆ ดูพระองค์ แล้วก็หันไปดูพระบรมฉายาลักษณ์บนหิ้งบูชา แล้วเอ่ยขึ้นว่า “คล้ายนัก คล้ายนักขอรับ” พระองค์จึงตรัสถามว่า “คล้ายนัก คล้ายนัก คล้ายอะไร” เจ๊กฮวดบอกว่า “คล้ายรูปที่บูชาไว้”
แท่นบูชาประจำบ้าน
พูดแล้วเจ๊กฮวดก็นำผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า “แน่ใจหรือ” เจ๊กฮวดตอบว่า “แน่ใจขอรับ” พระองค์ตรัสชมว่า “ฉลาดและตาแหลมดี จะตั้งให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม” เจ๊กฮวดกราบทูลว่า “เอาครับ” นับแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวกจึงเรียกนายเจ๊กฮวด แซ่เล้าว่า “เจ๊กฮวดมหาดเล็ก” หรือ “มหาดเล็กนอกวัง”
กระบะและสำรับอาหาร
ทุกวันนี้ น้าเปี๊ยก-ศิริชัย น้อยประเสริฐ ทายาทรุ่นที่สามของก๋งฮวด เป็นผู้รักษาตัวบ้านทรงไทยหลังเดิมของก๋งที่จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หน้าเรือนแขวนป้ายพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ ๕ อันทรงคุณค่ายิ่งว่า “เล้า ฮวด เส็ง Low Hourd Seng 劉發盛” เมนูในกระบะไม้สำรับที่พระองค์ทรงเสวย อันได้แก่ ผักกาดดองผัดไข่ ปลาตะเพียนต้มเค็ม น้ำพริกมะขามผักสด หอยกะพงดอง ยังคงรักษาไว้อยู่คู่กับชามกระเบื้องที่พระองค์ทรงใช้ล้างพระหัตถ์ และจานกระเบื้องใส่กับข้าวหนึ่งใบ
ศิริชัย น้อยประเสริฐ ทายาทรุุ่นสามของเจ๊กฮวด
รวมทั้งแบบแผนบ้านเรือนชาวดำเนินสะดวกที่จะมีห้องพระรวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบจีนเป็นรูปเคารพกวนอู รูปปั้นรัชกาลที่ ๕ และรูปถ่ายของเจ๊กฮวดตั้งบูชาอยู่ในห้องกลางบ้าน พร้อมห้องครัวและตู้กับข้าวที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับตัวเรือน
บ้านเจ๊กฮวดมหาดเล็กนอกวังในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังนี้ แม้จะผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า ๑๑๘ ปี ทว่าทายาทรุ่นปัจจุบันยังได้อนุรักษ์สภาพไว้คงเดิม ที่เห็นจะมีเปลี่ยนไปก็คงจะมีเฉพาะหลังคามุงจากมาเป็นกระเบื้อง แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานสักเพียงไร แต่บ้านหลังนี้ก็ยังคงมีชิวิตชีวาจากทายาทที่คอยต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือนพร้อมเล่าเรื่องเมื่อวันวานอันน่าภาคภูมิใจให้เราฟัง มิต่างจากน้ำใจของชาวดำเนินสะดวกที่ยังคงไม่เคยเปลี่ยนไปตามเข็มของนาฬิกาซึ่งเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดนิ่งเลยแม้แต่น้อย…
(อนึ่งคลองดำเนินสะดวก เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้ขุดขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๐๙ เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนเริ่มจากปากคลองบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครกับแม่น้ำแม่กลอง ต.บางนกแขวก อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ขนาดคลองที่ขุดในระยะแรกมีความกว้าง ๖ วา (๑๒ เมตร) ลึก ๖ ศอก (๓ เมตร) ความยาว ๘๔๐ เส้น (๓๒ กิโลเมตรโดยประมาณ)
หน้าบ้านเจ๊กฮวด มหาดเล็กนอกวัง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งยังเป็นที่พระสมุหกลาโหม เป็นผู้อำนวยการขุด โดยเกณฑ์แรงงานทหาร ข้าราชการ ประชาชน และจากการจ้างแรงงานกรรมกรชาวจีน ใช้เวลาขุด ๒ ปี โดยใช้งบประมาณในการขุดเป็นค่าเงินในสมัยนั้นจำนวน ๑,๔๐๐ ชั่ง (๑๑๒,๐๐๐ บาท)
คลองดำเนินสะดวกอันสงบงาม
เมื่อทำการขุดจนแล้วเสร็จ ได้มีการนำแผนผังคลองขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๔ เพื่อขอพระราชทานนาม ซึ่งเมื่อทรงทอดพระเนตรแล้วทรงเห็นว่าคลองนี้มีเส้นทางตรงที่สุดกว่าคลองอื่น ๆ ที่มีการขุดขึ้นในช่วงนั้น จึงได้รับพระราชทานนามว่า“ดำเนินสะดวก” และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ประกอบพิธีเปิดคลองนี้เมื่อวันจันทร์เดือน ๗ ขึ้น ๔ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๒๕ พ.ค. พ.ศ.๒๔๑๑) นับถึงปัจจุบันมีอายุ ๑๕๔ ปี)
ลำคลองบนเส้นทางสู่บ้านเจ๊กฮวด
บทความโดย ปริวัฒน์ จันทร
โฆษณา