7 ธ.ค. 2022 เวลา 23:46 • ไลฟ์สไตล์
#ปอกระสา
ปอสาพาเคยคุ้น แต่แรกรุ่นกระดาษสา
สกัดสีนานมา ผลเป็นยาหวานชุ่มเย็น
ดอกแยกเพศต่างต้น ทำฉงนคนพบเห็น
ยาง ราก ใบเป็นประเด็น กินแล้วเหม็นเผ่นทั้งบาง
สวัสดีวันพฤหัสบดีสีส้มนะครับเพื่อนๆ วันนี้นำเสนอต้นไม้ที่เราคุ้นเคยมาแต่วัยเด็กที่เราเล่นขีดเขียนกันบนกระดาษสา “ปอสา” ต้นไม้ที่มีเส้นใยจำนวนมากที่เปลือก คนเลยดัดแปลงนำมาทำกระดาษสา ทำร่ม ฟั่นเชือกและอีกสารพัดผลิตภัณฑ์มากมาย สกัดสีเหลือง ทำตะเกียบ ทำยา เรียกได้ว่าสารพัดประโยชน์ จากวัชพืชที่ไม่มีใครสนใจ กลายร่างเป็นพืชอรรถประโยชน์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดในทันที น่าสนใจแล้วใช่มั้ย ไปรับชมรายละเอียดกันครับ
ปอสา หรือ ปอกระสา (Paper Mulberry) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางมีถิ่นกำเนิดมาจากทางประเทศจีน หรือญี่ปุ่น เข้ามาสู่ไทยจากทางตอนเหนือของพม่า มีความสูงของลำต้นประมาณ 6 - 10 เมตร กิ่งเปราะหักง่าย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน เรียบบางเป็นเส้นใย ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีขาว เมื่อกรีดลำต้นจะมีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา
ใบปอสาเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบเป็นรูปรีกว้าง ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าลึกคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันตลอดทั้งขอบใบ แตกเป็น 3 - 5 แฉก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5 - 15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7 - 20 เซนติเมตร แผ่นใบบางนิ่ม หลังใบเรียบเป็นสีเขียวแก่ สากระคายมือ ก้านใบยาวประมาณ 3 - 10 เซนติเมตร และมีขน ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อนออกสีเทา มีขนหนานุ่มขึ้นปกคลุม
ปอสาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ติด ชนิดใบหยัก (3 - 4 แฉก) และชนิดใบมน ซึ่งโดยปกติแล้วทั้ง 2 ชนิดจะแยกต้นกันอยู่ แต่มีบ้างที่พบว่าใบมีทั้ง 2 ลักษณะในต้นเดียวกัน แต่จากการสังเกตจะพบว่าใบปอกระสาที่มีอายุมากขึ้นจะมีใบมนมากกว่าใบหยัก
ดอกปอสาแยกเพศอยู่คนละต้น โดยดอกตัวผู้เป็นช่อหางกระรอก ยาวประมาณ 6 - 8 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมากเรียงตัวอัดกันหนาแน่น โดยจะออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกตัวเมีย เป็นช่อกระจุกแน่น ผลกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 - 1.8 เซนติเมตร สีแดงอมส้ม ภายในมีเมล็ดสีแดง ดอกปอสาจะออกดอกในช่วงกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม
ผลปอสา เป็นผลรวม ผลกลมสีส้มอมแดง ขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ฉ่ำน้ำ เนื้อผลนิ่ม มีเมล็ดแบนๆอยู่ติดก้านหรือไส้ผล
 
ปอสาชอบขึ้นในพื้นที่ชุ่มชื้น ริมน้ำหรือป่าโปร่ง ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงประมาณ 50 - 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปอสาขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี จนแทบจะเรียกได้ว่า เป็นวัชพืชประเภทรุกราน จนต้องมีการกำจัดทิ้งในบางท้องถิ่น
ปอสาขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ของปอสา
- เปลือกของลำต้นมีเส้นใยจำนวนมาก สามารถนำมาทำกระดาษ ฟั่นเป็นเชือก ร่มกันแดดกันฝน ที่เป็นรู้จักกันในนาม “ร่มบ่อสร้าง” ของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทำผ้าตาปา ซึ่งใช้ในฟิจิ ตองงา ซามัวและตาฮีตี
- สารสกัดด้วยเอทานอลจากปอสาอบแห้ง มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระ
- ผลมีรสหวานชุ่ม เป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงสายตา บำรุงตับและไต แก้อาการอ่อนเพลีย
- ยางนำมาใช้ภายนอกเป็นยาทาแก้กลากเกลื้อน ทาแก้พิษงู แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- ใช้เป็นแหล่งสีธรรมชาติ โดยการนำใบมาสกัดจะได้สีเหลือง
- เนื้อไม้ใช้ทำตะเกียบและไม้จิ้มฟัน
ข้อควรระวัง
- ยาง ราก ใบ และเปลือกลำต้น อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงเมื่อรับประทานเข้าไปได้
Eak v(^0^)v
วงซูซู - บ่อสร้างกางจ้อง
โฆษณา