9 ธ.ค. 2022 เวลา 22:29 • ความคิดเห็น
ว่าด้วยเรื่อง....ความสุข
เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างทางข้าวเช้าอยู่ อยู่ดี ๆ คุณโอ๋ (คู่ชีวิตของ อิคิ ∙ 生き) ก็เปรยขึ้นมาว่า…

“เวลาฟังธรรมะไปเรื่อย ๆ แล้วมันรู้สึกว่า…ชีวิตคนเรามันไม่มีอะไรเลย มันไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารของชีวิตเลย”
เมื่อ อิคิ ∙ 生き ได้ฟังดังนั้น จึงตอบกลับไปว่า…
“อิคิ ∙ 生き…คิดว่า ถ้าเรารู้สึกเช่นนี้ มันน่าจะมีอะไรผิดพลาดไป เพราะการฟังธรรมนั้น เราควรรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่มากขึ้น เราควรรู้สึกว่า…ชีวิตของเรานั้นช่างมีความหมาย แต่การที่เรารู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีอะไรเลย สิ่งนี้อาจเป็นการบ่งบอกว่า…ตอนนี้เรากำลังไม่ได้สัมผัสถึงคุณค่าของชีวิตอยู่รึเปล่า ซึ่งธรรมะมันไม่น่าจะทำให้เรารู้สึกแบบนั้นนะ”
และการสนทนาเช้านั้นก็หยุดอยู่แค่นั้นค่ะ แต่ความคิดที่คุยกับคุณโอ๋ยังวนเวียนอยู่ในหัวของ อิคิ ∙ 生き อีกหลายวันต่อมา อิคิ ∙ 生き คิดว่าทำไมนะ ทำไมคุณโอ๋ถึงรู้สึกเช่นนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น อิคิ ∙ 生き ก็เคยยินคนที่ไปปฏิบัติธรรมกล่าวว่า…หลังจากกลับออกมาจากที่ปฏิธรรมแล้วก็รู้สึกปลงกับชีวิต การได้ฟังเช่นนี้ อิคิ ∙ 生き ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดมันผิดหรือถูก แต่ อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่า…เวลาที่ผู้คนพูดว่า “ชีวิตมันไม่มีอะไร” มันทำให้สัมผัสได้ว่า…ความละมุนละไม ความอิ่มเอมในชีวิตของบุคคลผู้นั้นค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงไป ทั้ง ๆ ที่การฟังธรรมควรจะทำให้เรายิ่งได้สัมผัสถึงความหมายในการมีชีวิตอยู่มากยิ่งขึ้น
เมื่อครุ่นคิดวนไปมานับสัปดาห์ อิคิ ∙ 生き จึงได้คำตอบเลา ๆ ว่า ความรู้สึกปลงกับชีวิตนั้น อาจมีที่มาจากการที่เราไม่สามารถสัมผัสความหมายของชีวิตได้ เราไม่สามารถสัมผัสได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เรากำลังทำอยู่หรือห้อมล้อมเราอยู่นั้นมันมีคุณค่าเท่าที่ควร ดังนั้นความอิ่มเอมในชีวิตจึงไม่ได้ก่อกำเนิดขึ้นภายในจิตใจ
อิคิ ∙ 生き คิดว่า…ชีวิตที่มีคุณค่า ควรเป็นชีวิตที่สุขลึก ๆ จากภายใน ความสุขลึก ๆ สำหรับ อิคิ ∙ 生き คือ ความสุขที่ไม่กระโตกกระตาก เป็นความสุขที่ไม่ฉาบฉวย เป็นความสุขที่จะอยู่กับเราไปนานแสนนาน ยิ่งเวลาผ่านไป ความสุขนั้นยิ่งชัดเจนมากขึ้นในหัวใจ 

ในเมื่อความสุขประเภทนี้ เป็นความสุขแบบลึก ๆ สุขสบาย ๆ สุขละมุนละไม อิคิ ∙ 生き จึงมักเลี่ยงที่จะเรียกสุขเหล่านั้นว่าความสุข แต่มักจะเรียกว่า ความเบิกบาน หรือ ความอิ่มเอม แทนค่ะ
1
เพื่อน ๆ คิดว่าจริงไหมคะว่า…ทุกความสุข ไม่ได้นำเราไปพบกับความเบิกบานและความอิ่มเอม บางความสุขก็ไม่ได้สงบเย็น แต่เป็นสุขที่ร้อนรุ่น เร้าอารมณ์ สร้างความทะยานอยาก และเมื่อเราได้สุขเหล่านั้นมาครอบครอง มันก็เป็นสุขที่ไม่จีรังยั่งยืนและท้ายที่สุดอรรถรสที่เหือดแห้งของชีวิตจะต้องถูกทดแทนด้วยวัตถุสิ่งของราคาสูงขึ้น อำนาจที่ยิ่งใหญ่ขึ้น บารมีที่มากขึ้น ซึ่งสุขเหล่านี้มันทำให้เราอยากได้แล้วอยากได้อีก เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวังวนแห่งความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ไปตลอดชีวิต
อิคิ ∙ 生き ขออนุญาตยกตัวอย่างให้เพื่อน ๆ ฟังซัก 1 ตัวอย่างนะคะ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อิคิ ∙ 生き ไปซื้อกระเป๋ายี่ห้อดังกับคุณโอ๋ เวลาพวกเราเข้าร้านขายสินค้าแบรนด์เนม เราสองคนชอบคุยกันเล่น ๆ ค่ะว่า…เข้าไปเพื่อฝึกตบะ ดูซิว่าวันนี้เราจะเอาชนะกิเลส ความอยากของเราได้หรือไม่
การเข้าไปในร้านเหล่านี้ อิคิ ∙ 生き บอกได้เต็มปากเลยค่ะว่า…ตบะเราต้องแข็งแกร่งพอสมควร มิเช่นนั้นเราจะเพรี่ยงพร้ำออกจากร้านพร้อมสิ่งของต่าง ๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะซื้อตั้งแต่แรก เพราะพนักงานขายจะทดสอบตบะของเราอยู่เสมอ สมมุติว่า…
ถ้าเราดูกระเป๋าถือใบนึงและเกิดถูกใจจึงตัดสินใจซื้อกระเป๋าใบนั้น ในอีก 5 วินาทีต่อมา พนักงานขายก็จะยื่นกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก ๆ แต่ราคาไม่เล็ก ที่เป็นดีไซน์เดียวกันออกมาให้เราอย่างละเมียดละไม นอบน้อม และบอกเราด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนว่า…ลองดูกระเป๋าสตางค์แบบเดียวกันไปด้วยไหมคะ ถ้าได้ใช้เข้าคู่กันจะดูน่ารักมาก ๆ เลย ลองจับและเปิดดูด้านในก่อนก็ได้ค่ะ
เมื่อ อิคิ ∙ 生き เห็นเช่น ก็ได้แต่ร้องในใจว่า…โอ้โห นอกจากนำเสนอแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เราลูบไล้ สัมผัส อีกด้วย อิคิ ∙ 生き บอกเลยค่ะว่า…ถ้าตบะไม่แกร่งกล้าจริง รายไหนก็รายนั้นค่ะ ตั้งใจจะซื้อหนึ่ง แต่จะกลับออกมาเป็น 2 3 4 เสมอ หรือถ้าเราตั้งใจจะเข้าไปดูเฉย ๆ ก็มักจะกลับออกมาด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อตั้งแต่แรกเช่นกัน และไม่มีพนักงานขายคนไหนที่จะช่วยเราดับกิเลสของเราด้วยการบอกว่า ดิฉันว่าคุณ…มีใบนี้แล้ว อย่างนี้อย่าเพิ่งซื้อดีกว่าไหมคะ
และนี่คือหนึ่งตัวอย่างของความสุขที่ไม่จีรัง เพราะไม่นานหลังจากที่เราได้ครอบครองสิ่งของเหล่านั้น ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการภายใน สุขเหล่านี้ก็มักจะอยู่กับเราได้ไม่นาน อีกไม่กี่เดือนถัดมา อรรถรสที่กระเป๋าใบนั้นเคยสร้างให้เราก็จะค่อย ๆ จืดจางหายไป แล้วเราก็ต้องกลับไปค้นหากระเป๋าใบใหม่มาครอบครองเพื่อเติมเต็มสุขที่ขาดหายเป็นระยะ
••••••••••••••••••••••••••••••••••
อิคิ ∙ 生き ขอพากลับมาที่ บทสนทนาของ อิคิ ∙ 生き กับ คุณโอ๋อีกสักครั้งนะคะ
เมื่อ อิคิ ∙ 生き บอกคุณโอ๋ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไรเราควรต้องมีความสุขกับมันนะ คุณโอ๋ตอบ อิคิ ∙ 生き ว่า…วันนั้นที่ซื้อกระเป๋า พวกเราก็มีความสุขนะ
อิคิ ∙ 生き จึงบอกกับคุณโอ๋ไปว่า ความสุขของเรามีหลายประเภท แม้จะเรียกว่าความสุขเหมือนกัน แต่อาการทางใจหรือปฏิกริยาต่อความสุขนั้นมันแตกต่างกัน ความสุขตอนที่เราได้กระเป๋า ถ้าลองเปิดใจพิจารณาดี ๆ อาการทางใจของเรา มันจะไม่ใช่อาการสงบเย็น แต่จะเป็นอาการที่ใจเราทยานอยากไปครอบครอง ซึ่งถ้าเราสังเกตอาการทางใจของเราให้ดี เราก็จะรู้ได้ว่าใจของเรานั้น มีความทยานอยาก ซึ่งเป็นอาการคนละอย่างกับความสุขที่สงบ เยือกเย็น เบิกบาน ละมุนละไมและอิ่มเอม
การที่เราซื้อกระเป๋ามันไม่ผิดเลย เรามีสิทธิจะซื้อ 100% อยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ถ้าเราซื้อด้วยการถูกเร้าจากภายนอก ไม่ใช่สิ่งที่เราประสงค์จากข้างใน นอกจากใจเราจะรู้สึกทยานอยากแล้ว ความสุขนั้นก็ไม่ได้อยู่กับเรานาน ความอยากได้ของเราก็จะถูกบรรเทาเพียงชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปความอยากได้ก็จะกลับมาใหม่
และเมื่อมันกลับมามันก็มักจะมีอิทธิฤทธิ์ที่ใหญ่กว่าเดิม แล้วเราก็จะตกเป็นทาสของสิ่งนั้นแบบไม่รู้จบ สักพักเราก็จะวนเวียนกลับมารู้สึกขาดบางสิ่งบางอย่าง และเริ่มมองหาวัตถุสิ่งของที่จะมาถมช่องว่างในใจของเราให้เต็มเป็นระยะ ความสุขแบบนี้มันก็สุข แต่เป็นสุขที่ได้ของแถมเป็นความอยากที่ตัวใหญ่ขึ้นนั่นเอง
ในทางกลับกัน ถ้าเราซื้อกระเป๋าใบที่เราอยากได้จริง ๆ ใบที่อยากได้มาจากข้างใน เชื่อไหมเราจะไม่มีวันเบื่อมันเลย ทุกครั้งที่เรานำมันออกมาใช้ เราจะยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าของกระเป๋าใบนั้น สิ่งของชิ้นนั้นจะยิ่งผูกสัมพันธ์แน่นแฟ้นและมีความหมายต่อชีวิตเรา ใช้กี่ครั้งก็รู้สึกดี รู้สึกภูมิใจ รู้สึกเติมเต็ม ยิ่งเก่า ยิ่งเก๋า ยิ่งเก่า ยิ่งรัก ยิ่งเก่า ยิ่งมีคุณค่า
หรือไม่ถ้าไม่เป็นเรื่องกระเป๋า เราจะลองพิจารณาตอนที่เราซื้อไฟประหยัดพลังงานแสงอาทิตย์มาตกแต่งสวนดูก็ได้ ความสุขที่เกิดขึ้นในใจของพวกเราในตอนซื้อ ตอนที่ได้ไฟมา ตอนที่เราเอาไฟไปปักในสวนหน้าบ้านด้วยกัน ความสุขในใจมันต่างกัน สุขแบบนี้มันเป็นสุขแบบเย็น ๆ เนิบ ๆ ไม่กระโตกระตาก และเราก็รู้สึกดีใจ รู้สึกอิ่มใจทุกครั้งเวลาที่เห็นสวนของเราสวย ออกไปเดินกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ หรือ เวลาเราไปซื้อต้นไม้ด้วยกัน ควรรู้สึกในใจตอนซื้อต้นไม้ของพวกเราก็รู้สึกสงบเย็นเช่นกันนะ
ดังนั้นจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเราจะซื้ออะไรหรือจะครอบครองสิ่งไหนเลย แต่สิ่งสำคัญคือ เราจะรักษาความสวยงามของชีวิต แบบละมุนละไม สงบเย็น ไม่ร้อนรุ่ม ไว้ตลอดเส้นทางได้อย่างไรต่างหาก หากเราไม่ละเมียดในการคัดสรรสิ่งต่าง ๆ (คน สิ่งของ กิจกรรมที่ทำ) ที่จะเข้ามาในชีวิตของเราให้ดี บางสิ่งที่เราอนุญาตให้เข้ามา นอกจากมันไม่ได้สร้างสุขให้เราแบบจีรังแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปแทนที่สิ่งเหล่านั้นจะเติมเต็มหัวใจมันกลับทำให้ช่องว่างในใจเราให้ใหญ่ขึ้น ๆ
ดังนั้น อิคิ ∙ 生き จะให้คำจำกัดความสุข ดังนี้ค่ะ
* สุขแท้ คือ สุขที่ละมุนละไม เบิกบาน อิ่มเอม เป็นสุขที่ยิ่งชัดเจนในหัวใจเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป ไม่ใช่สุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็จางหาย
* สุขเทียม คือ สุขที่ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งภายนอก ความรู้สึกภายในใจจะรู้สึกร้อนรุ่ม ทยานอยาก อยากครอบครอง เมื่อเวลาผ่านไปสุขเหล่านั้นจะสร้างช่องว่างในหัวใจที่ใหญ่ขึ้นและขยายขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มเสียที
ถ้าเราใช้ชีวิตที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสุขเทียม เมื่อเราใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ สักวันนึงเราก็อาจต้องกลับมาถามตัวเองว่า เอ๊ะ…ชีวิตเราก็ดีนะ ทุกอย่างในชีวิตของเรามันไม่น่าจะสร้างทุกข์ให้กับเราได้เลย เราเป็นคนเก่ง มีความสามารถ เราก็ถือว่าเป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตคนนึง สิ่งใดที่อยากได้ เราก็มีกำลังทรัพย์ที่จะครอบครอง แต่ทำไมชีวิตเรายังรู้สึกไม่ถูกเติมเต็มเสียที
ช่องว่างในใจเล็ก ๆ ที่เราเคยพยายามถม ทำไมมันจึงกลับมาใหม่เรื่อย ๆ ด้วยช่องว่างที่ใหญ่กว่าเดิม ทำไมเราจึงรู้สึกเบื่อหรือขาดบางสิ่งบางอย่างภายในใจอย่างเป็นระยะ
คำถามต่อมาคือแล้วหัวใจของเราจะสัมผัสถึงคุณค่าแห่งชีวิตได้อย่างไร?
อิคิ ∙ 生き คิดว่าเราทุกคนไม่ควรดูเบาคุณค่าแห่งชีวิตค่ะ การที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความหมายในทุก ๆ มิติ เราควรทำให้ทุกนาทีของชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่านะคะ
ก่อนอื่น อิคิ ∙ 生き ขอแบ่งชีวิตในแต่ละวันเป็น 3 ช่วงดังนี้
1. ตอนตื่นนอน
2. ตอนก่อนหลับ
3. ระหว่างวันหลักจากเราลุกจากเตียง ซึ่งเป็นเวลาที่เราใช้ชีวิตทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำงาน ติดต่อธุรกิจ ปฏิบัติสัมพันธ์กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ
การที่เราจะทำให้ชีวิตเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า อิคิ ∙ 生き เชื่อว่าเราต้องบริหารจิตใจและเวลาในการทำสิ่งเหล่านั้นให้ดีค่ะ ดังนั้น อิคิ ∙ 生き จึงมีคำแนะนำสำหรับแต่ละช่วงเวลาดังนี้…
ตอนตื่นนอน
เราควรที่จะสามารถสัมผัสความหมายของชีวิตได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราตื่นค่ะ…คุณพศิน อินทรวงศ์ คุณยายจ๋า (แม่ชีศันสนีย์) และ ครูบาอาจารย์หลายท่านแนะนำว่า เวลาเราตื่นนอน เราไม่ควรลุกออกจากเตียงโดยทันทีนะคะ สิ่งที่เราควรทำคือ เมื่อรู้สึกตัว บอกตัวเองว่าฉันตื่นแล้ว สัมผัสลมหายใจแห่งชีวิต ด้วยการหายใจเข้าออกสัก 2-3 ลมหายใจ ขอบคุณวันนี้ที่เรายังมีชีวิต ยังมีลมหายใจที่เปิดโอกาสให้เราทำสิ่งที่มีคุณค่าต่ออีก 1 วัน
ตอนนอน
คุณพศินก็แนะนำพิธีกรรมก่อนนอนไว้เช่นนี้ค่ะ…
ก่อนนอนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เราไม่ควรรับสื่อบันเทิง ข่าวสารไม่ดี เรื่องราวเร้าอารมณ์ เรื่องราวในเชิงลบเป็นอันขาด คุณพศินยกตัวไว้ดังนี้ค่ะ…สมมุติว่าถ้ามีคน ๆ หนึ่งด่าเรากลางสี่แยกไฟแดงที่มีคนเดินขวักไขว่ กับ อีกคนกระซิบด่าเราข้างหูเบา ๆ ตอนที่เรานั่งสมาธิ ในกรณีที่สองเราจะรู้สึกถูกด่ามากกว่า แม้ว่าเค้าจะแค่เพียงกระซิบเบา ๆ เพราะยิ่งเงียบก็ยิ่งชัด ยิ่งเงียบก็ยิ่งฝังเข้าไปในจิตใจของเราได้ยิ่งลึก
ดังนั้นช่วงเวลาก่อนนอนโดยปกติจะเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบมากกว่าช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตระหว่างวัน พอเราคิดอะไรไม่ดีก่อนนอน สิ่งนี้จะเข้าสู่จิตใต้สำนึกของเราได้ง่าย แต่ถ้าเราคิดถึงสิ่งดี ๆ ทำใจให้สงบก่อนนอน จะทำให้การนอนของเราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการนำเรื่องไม่ดีเข้าสู่จิตสำนึกของเราโดยไม่รู้ตัวด้วยค่ะ
คุณพศินแนะนำเพิ่มเติมว่า…ปกติก่อนนอนหลังจากปิดไฟ ความคิดของเราจะค่อย ๆ ผุดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหา ความกังวล ความเครียดที่เราได้ประสบพบเจอระหว่างวัน คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดไปเรื่อย ๆ จนหลับไปพร้อมกับเรื่องทุกข์ใจเหล่านั้น ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อคุณภาพจิตในการใช้ชีวิตของเรา
เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะหลับ เราควรรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ปล่อยใจให้คิดเรื่องไม่ดี ๆ ไม่รับสื่อหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่ขัดขวางการยกระดับจิตใจ ให้เราเพียงรู้ว่าปัจจุบันนี้เรากำลังจะหลับ ยิ้มมุมปากเล็ก ๆ ให้ได้สัมผัสถึงความเบิกบาน ความรู้สึกดี ๆ จากนั้นก็พิจารณาลมหายใจเข้าออก พิจารณาร่างกายที่เคลื่อนไหวตามลมหายใจเข้าออก เช่นบริเวณหน้าอกที่ขยับขึ้นลง และค่อย ๆ หลับไปพร้อม ๆ กับความรู้สึกแบบนั้น และนี่คือการควบคุมตัวเองในจุดสำคัญที่สุดก่อนที่จะหลับ
เรื่องนี้ อิคิ ∙ 生き ยังคงต้องฝึกให้มากค่ะ เพราะ อิคิ ∙ 生き มักจะทำงานจนหมดแรง ดังนั้นก่อนนอนก็อยากจะใช้เวลาในการเสพสื่อต่าง ๆ ที่ระหว่างไม่มีโอกาส แต่เมื่อได้ฟังคำแนะนำก่อนนอกของคุณพศินข้างต้น อิคิ ∙ 生き ก็คิดว่า…มันคงถึงเวลาแล้วหล่ะ…ที่เราจะต้องเวลาแผนช่วงเวลาก่อนนอนให้มีคุณภาพมากขึ้น หากในอนาคตลองปฏิบัติแล้ว มีความคืบหน้าอย่างไรก็จะมาเล่าให้ทุกท่านฟังในโอกาสต่อไปนะคะ
สำหรับคำแนะนำในข้อ 1 และ 2 เปรียบเสมือนการเตรียมกายเตรียมใจ สำหรับการใช้ชีวิตในข้อ 3 ดังนั้นหากทุกท่านแล้ว เราไปพบกับคำแนะนำข้อต่อไปกันเลยนะคะ

ช่วงระหว่างวันหลังจากเราลุกจากเตียง
ช่วงเวลานี้ถือเป็นสัดส่วนที่มากในชีวิตของเราค่ะ ดังนั้นถ้าเราได้ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีความหมายมีคุณค่า ชีวิตของเราก็จะมีคุณค่าไปด้วย เพราะเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรระหว่างวัน เราควรทำมันอย่างมีความหมาย ด้วยการปลุกเสกทุกสิ่งที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์โดยการใส่ความหมายลงไปในทุกการกระทำ ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น…
* เวลาออกกำลังกาย เราก็ทำอย่างตั้งใจ ตั้งจิตที่จะดูแลรักษาร่างกายนี้ให้มีคุณภาพ ไม่เจ็บ ไม่ป่วย สามารถทำสิ่งดี ๆ ทำประโยชน์ให้กับโลกใบนี้อย่างมีคุณภาพไปนาน ๆ
* เวลาอ่านหนังสือ เราก็ตั้งจิตในการอ่านเพื่อที่จะได้พูดคุย พัฒนาตัวเอง นอกจากนั้นก็ยังได้แบ่งปันสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ผู้อื่นได้อ่านอีกด้วย
* เวลาทำงาน อย่าง อิคิ ∙ 生き เป็นนักวางแผนการเงิน ทุกครั้งที่ทำ อิคิ ∙ 生き ก็ตั้งใจและตั้งจิต ที่จะทำเพื่อยกระดับชีวิตผู้คนผ่านการจัดระเบียบทางด้านการเงินที่ดี ซึ่ง อิคิ ∙ 生き ได้สัมผัสถึงความหมายในงานนี้ทุกครั้งที่นำนิ้วมือจรดไปบนคีย์บอร์ดเพื่อวางแผนการเงินให้ใครสักคนค่ะ
* ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัท เราก็ทำอย่างมีคุณค่า การที่เราพยายามดูแลกิจการให้ดีไม่ใช่เพียงเพื่อการสั่งสมบัติเท่านั้น แต่ยังเป็นการดูแลชีวิตของทีมงานนับสิบนับร้อยคนรวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาให้อยู่ดีมีสุขไปด้วย
* การที่เราเป็นพนักงาน เราก็ต้องสัมผัสถึงความหมายของสิ่งที่ทำให้ได้เช่นกันกัน ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ที่เราลงมือทำ เรามีส่วนได้ช่วยให้ผู้คนได้สัมผัสสินค้าที่ดีมีประโยชน์ เราเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า เราไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดก็ตาม แต่เมื่อเราเป็นสมาชิกขององค์กรแล้วเราย่อมเป็นฟันเฟืองที่สำคัญนะคะ
* เวลาเราพบปะผู้คน เราก็ตั้งใจให้ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์ที่มีความหมาย รักษาความสัมพันธ์ให้ดี ส่งมอบความรู้สึกดี ๆ ความปรารถนาดีถึงกันและกัน และสิ่งนี้จะเป็นพลวัตที่สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิตเราค่ะ
เพื่อน ๆ ลองนึกดูนะคะ ทุกสิ่งที่เราทำ เราปลุกเสกให้มีความหมาย มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยว่าชีวิตของเราจะมีความหมายเช่นกัน คุณพศินเล่าว่าพระพุทธองค์ได้สอนผู้คนดังนี้ค่ะ…เราจะไม่ได้สิ่งใด ๆ ในโลกนี้เพราะความอยากได้ แต่เราจะได้เพราะการที่เราประกอบเหตุปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งกะทะใส่เมล็ดงาลงไปคั่ว ผลผลิตของเราย่อมเป็นงาคั่ว ไม่ว่าเราจะอยากได้งาคั่วหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นถ้าเราประกอบเหตุให้ชีวิตมีคุณค่า เราก็จะได้ใช้ชีวิตที่ควรค่าการแก่มีอยู่นะคะ
ดังนั้นเราจึงควรปลุกเสกทุกสิ่งที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการใส่ความหมายให้กับทุกสิ่งที่เราลงมือทำ อย่าทำสิ่งต่าง ๆ แบบดูเบา อย่าทำมันไปแบบไร้ความหมาย ไร้จิตวิญญาณค่ะ
คุณค่าของตัวเราสามารถรับรู้ได้จากสิ่งสะท้อนอันเนื่องมาจากผลแห่งการกระทำของเรานะคะ คุณพศินกล่าวว่าเราควรเชื่อมโยงสิ่งที่เราทำเข้ากับประโยชน์ของผู้อื่น อิคิ ∙ 生き คิดว่าแม้ภายนอกอาจดูเหมือนเราไม่ได้อะไร แต่การที่ผู้อื่นได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ คือภาพสะท้อนคุณค่าแห่งการกระทำของเรา ซึ่งมีเพียงหัวใจของเราเท่านั้นที่จะสัมผัสได้
คำว่าคุณค่านั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา แต่เรารับรู้ได้ด้วยหัวใจค่ะ เมื่อไหร่ก็ตามที่ใจเราได้สัมผัสถึงคุณค่า ชีวิตเราจะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความหมายในการมีชีวิตอยู่นะคะ
นอกจากทำสิ่งที่มีคุณค่าแล้ว การมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะก็เป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน ช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตระหว่างวัน นอกจากเป็นช่วงเวลาที่มีสัดส่วนมากแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่เราจะถูกสิ่งรบกวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สื่อที่รับ งานที่ทำ ผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์ บรรยากาศรอบข้าง ล่อลวงให้เราเผลอไปคิดออกนอกลู่นอกทางได้ง่าย ดังนั้น เราควรต้องระมัดระวังความคิดให้ดีค่ะและการอยู่กับปัจจุบันขณะ จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก
หนังสือ Effortless คนเก่งไม่คิดยาก…ที่เขียนโดยคุณ Greg Mckeown ได้อธิบายคำว่า ปัจจุบันขณะ ได้ดีมากค่ะ โดยคุณ Greg อธิบายไว้ดังนี้…
คำว่า ตอนนี้ (NOW) หมายถึง ทุกช่วงเวลาใหม่ ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้เริ่มต้นใหม่ มันเป็นโอกาสที่เราจะได้เลือกใหม่อีกครั้ง
คุณ Greg กล่าวว่า…ลองคิดดูสิครับว่า…เส้นทางชีวิตของเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรในชั่วขณะเดียว 

• ชั่วขณะที่เราเป็นผู้ควบคุม ไม่ว่าจะเป็น…“ฉันเลือก” “ฉันตัดสินใจ” “ฉันสัญญา” หรือ “นับตั้งแต่นี้ไป…”
• ชั่วขณะที่เราปล่อยวางภาระทางอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น… “ฉันยกโทษให้เธอ” “ฉันรู้สึกขอบคุณ” หรือ “ฉันเต็มใจยอมรับว่า…”
• ชั่วขณะที่เราทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น… “ได้โปรดยกโทษให้ฉันด้วย” “มาเริ่มต้นกันใหม่กันเถอะ” “ฉันจะไม่ยอมหมดหวังในตัวเธอ” หรือ “ฉันรักคุณ”
ในแต่ละชั่วขณะครั้งใหม่ เรามีอำนาจที่จะกำหนดชั่วขณะที่ตามมาทั้งหมดนะคะ เรามีทางเลือกทุกชั่วขณะ เราเลือกได้ว่าจะเดินบนเส้นทางที่เหนื่อยขึ้นหรือสบายขึ้น
ไม่ว่าเราจะเผชิญกับความท้าทาย อุปสรรค หรือความยากลำบากอะไรก็ตามระหว่างทาง เราสามารถมองหาเส้นทางใจที่ง่ายกว่าได้อยู่เสมอ
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิต ไม่ว่ามันจะหนักหนาสาหัสหรือเจ็บปวดแค่ไหน ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะสำคัญเพียงใด มันไม่ได้หนักหนาอย่างที่คิดเมื่อเทียบกับอำนาจที่เรามีในการเลือกว่าจะทำอะไรในตอนนี้
ดังนั้นเราทุกคนมีโอกาสเริ่มต้นใหม่อย่างไม่จำกัดในทุกขณะที่เราอยู่กับปัจจุบันนะคะ อิคิ ∙ 生き คิดว่าสิ่งสำคัญ หากเราต้องการมีสติในการใช้ชีวิต ระหว่างวันเราต้องสอบอารมณ์ตัวเองบ่อยด้วยการถามตัวเองว่า…ตอนนี้สภาวะใจเราเป็นอย่างไร ใจเรารู้สึก เบา สบาย ละมุนไม อยู่หรือไม่
อิคิ ∙ 生き ขอแบ่งปันเทคนิคการฝึกสติระหว่างวันจากคุณพศินอีกซักหนึ่งเทคนิคนะคะ…คุณพศินกล่าวว่า…เวลาเราใช้ชีวิตให้พยายามกลับมารู้สึกที่ลมหายใจให้ได้บ่อย ๆ ไม่ต้องนาน อาจจะครั้งละ 5 วินาที 10 นาที แต่กลับมารู้ลมบ่อย ๆ วันละ 10 ครั้ง 20 ครั้ง 30 ครั้ง…สิ่งนี้จะทำให้เราเกิดทักษะกลับมามีสติในการใช้ชีวิตเป็นระยะ ๆ ระหว่างวัน
อิคิ ∙ 生き เชื่อว่า…แกนหลักในการใช้ชีวิตในแบบที่เราอยากมีชีวิต คือ ไม่ว่าอะไรจะหมุนรอบตัวเรา ไม่ว่าเหตุการณ์ สภาวะต่าง ๆ จะเลวร้ายเพียงใด สิ่งสำคัญคือเรากำลังดำเนินชีวิต แก้ปัญหาด้วยสภาวะใจแบบไหน ไม่ว่าเราจะเลือกหนทางใด หากใจเรารู้สึกมีพลังแบบสงบ เยือกเย็น มีความละมุนละไม อิ่มเอมในหัวใจ นี่คือสัญญาณบอกว่าเราน่าจะมาถูกทางค่ะ
ในทางกลับกันถ้าหัวใจเราร้อนรุ่ม เศร้างหมอง ทุกข์ตรม ถูกเร้าให้ทำบางสิ่งบางอย่าง รู้สึกทยานอยากได้อยากมี อยากให้ปัญหามันจบเร็ว ๆ สิ่งนี้ก็เป็นสัญญาณบอกเช่นเดียวกันค่ะว่า…สิ่งที่เรากำลังทำน่าจะนำพาเราออกนอกลู่นอกทางอยู่นะ ทุกหนทางที่เดิน ทุกสิ่งที่เผชิญ หัวใจของเราต้องสุขุม สงบ เยือกเย็น สุขแบบละมุนละไม และอิ่มเอมในหัวใจนะคะ
เวลาเราใช้ชีวิต เราก็ควรพิจารณาว่าสุขใดคือสุขแท้ หรือ สุขใดคือสุขเทียม จากนั้นก็พยายามเพิ่มสุขแท้ในชีวิตให้มาก ๆ ค่อย ๆ ลดปริมาณความสุขเทียมที่ไม่จีรังในชีวิตให้น้อยลง ด้วยการละเมียดละไมในการคัดสรร คน สัตว์ สิ่งของ ที่เราจะอนุญาตให้เข้ามาในชีวิตของเราให้ดี ควบคุมการกระทำของเราด้วยใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบน และอย่าลืมปลุกเสกสิ่งที่ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการใส่ความหมายลงไปในทุกสิ่งที่ทำนะคะ
อิคิ ∙ 生き เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า…หากเราประกอบเหตุปัจจัยได้ดังนี้ เราก็จะได้ประสบพบเจอกับชีวิตที่มีคุณค่าและความหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่า…ดีจังที่มีชีวิตอยู่นะคะ
สุดท้ายนี้ อิคิ ∙ 生き หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากสิ่งที่แบ่งปันนะคะ และต้องขอบคุณคุณโอ๋มาก ๆ ที่อนุญาตให้ อิคิ ∙ 生き นำเรื่องของสองเรามาบอกเล่า เราสองคนก็ยังเป็นผู้ฝึกฝนอยู่ค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังเพรี่ยงพร้ำอยู่บ่อย แต่ก็ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่มีความสุขแท้ในสัดส่วนที่มากขึ้น เมื่อไหร่ที่เพรี่ยงพร้ำก็ได้แต่พร่ำบอกว่าตัวเองว่า…ไม่เป็นไรเอาใหม่ กลับมาอยู่กับปัจจุบันเพราะแต่ละปัจจุบันขณะคือโอกาสในเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งค่ะ และนี่คือ “ความสุข” ในทัศนของ อิคิ ∙ 生き ค่ะ
สำหรับวันนี้ อิคิ ∙ 生き ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความตอนต่อ ๆ ของ อิคิ ∙ 生き กันนะคะ

สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
บันทึกโดย : ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰🀰
แหล่งกำเนิดพลังงานความคิดของบทความนี้มากจาก…

• ธรรมบรรยาย “ความตื่นรู้ท่ามกลางยุคสมัย” จากคุณพศิน อินทรวงค์ https://youtu.be/IQfOToC8Z3Q
• หนังสือ Effortless คนเก่งไม่คิดยาก – Greg Mckeown เขียน | พรรณรวี อกนิษฐาภิชาติ แปล…ค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา