15 ธ.ค. 2022 เวลา 06:29 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำความรู้จักกับ ACGS สู่การยกระดับคุณภาพการกำกับกิจการของ บจ. ในอาเซียน
Image Credit: Pixabay
“การกำกับดูแลกิจการ” หรือ “บรรษัทภิบาล” (Corporate Governance) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “CG” หมายถึง ระบบที่จัดให้มีกระบวนการและโครงสร้างของภาวะผู้นำ การควบคุมของกิจการให้มีความรับผิดชอบตามหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส และปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์กรอย่างเป็นธรรม
รวมไปถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาเงินลงทุน และเพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาวภายในกรอบการมีจริยธรรมที่ดีโดยรวม
นอกจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มแล้ว บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต้องเข้าใจความต้องการ และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน
ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ของแต่ละ บจ. อาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นกลุ่มที่ไม่ต่างกันมาก เช่น ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า สังคม ชุมชน ผู้สอบบัญชี รัฐบาล เจ้าหนี้ ลูกหนี้ คู่แข่ง ผู้ลงทุน ฯลฯ
Image Credit: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยมีผู้ถือหุ้น (Shareholder) ที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการ (Board) เข้ามาควบคุมและกำกับการทำงานของฝ่ายจัดการ (Management) ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายใต้สมดุลของผลประโยชน์ ตามหลักกฏหมาย และตามแนวทาง การกำกับดูแลกิจการที่ดี
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา... บจ. ไทย ต่างเหยียบคันเร่งให้ความสำคัญกับเรื่องการกำกับกิจการที่ดีกันเต็มกำลัง ผสานกับการสนับสนุน และให้ความรู้อย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแล
เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. / SEC)
ทำให้ บจ. ไทยหลายๆ แห่ง ต่างก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของอาเซียนได้อย่างไม่น้อยหน้าประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งในระดับอาเซียนเองก็มีการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำกับดูแลกิจการของ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) หรือที่เรียกว่า ACMF Corporate Governance Initiatives
โดยเป็นการเปิดเผยระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการในแถบอาเซียนให้ทัดเทียมสากล โดยมีประเทศที่เข้าร่วมประเมิน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
Image Credit: Pixabay
ซึ่ง บจ. ที่จะได้รับการประเมิน ACGS นั้น ต้องมีมูลค่าทางการตลาด (Market Capitalization) ณ 31 พ.ค. ของทุกปี (ประเมินทุกๆ 2 ปี) สูงสุด 100 ลำดับแรกในอาเซียน
และมีการเปิดเผยข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษต่อสาธารณะผ่านรายงานประจำปี แบบแสดงข้อมูลประจำปี หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น อีกทั้งข้อมูลของ บจ. ที่เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ, ก.ล.ต. และข้อมูลอื่นๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น เว็บไซต์บริษัท เป็นต้น
โดยเกณฑ์การประเมิน ACGS นั้นได้พัฒนามาจากหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ
- Organization for Economic Cooperation and Development (OECD)
Credit: THE BALANCE - HILARY ALLISON
- International Corporate Governance Network (ICGN)
Image Credit: icgn.org
- Asian Corporate Governance Association (ACGA)
Credit: ACGA
รวมทั้ง...
- Code of Corporate Governance ของบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ เป็นต้น
และผู้ประเมินก็คือผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีของแต่ละประเทศ (CG Expert) ซึ่งของไทยก็คือสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ด้วยเกณฑ์การประเมินที่แบ่งเป็น 5 หมวด ว่าด้วยเรื่องของ
(1) สิทธิของผู้ถือหุ้น
(2) การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม
(3) การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(4) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
(5) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
Image Credit: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การประเมินก็จะมีระดับคะแนนอยู่ 2 เกณฑ์ ได้แก่ “ระดับปกติ” คือประเมินตามหลักของ OECD รวมถึงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ โดยแต่ละข้อมี 1 คะแนน ซึ่งแต่ละหมวดมีข้อและน้ำหนักไม่เท่ากัน แต่รวมแล้วคือ 100 คะแนน
อีกเกณฑ์จะเป็น “ระดับคะแนน Bonus และ Penalty” ซึ่งเป็นคะแนนพิเศษให้กับ บจ. ที่ทำได้สูงกว่ามาตรฐาน และกลับกันก็มีคะแนนลงโทษ/ตัดคะแนนกับ บจ. ที่ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐานด้วยเช่นกัน รวมแล้วได้เพิ่ม/ลดเท่าไรก็จะนำไปรวมกับคะแนนปกติ
และเมื่อ 1 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการประกาศผลการประเมิน ACGS ประจำปี 2564 ซึ่งครั้งนี้มีประเทศฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ โดยฝั่ง บจ. ไทยเองก็ได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จาก ก.ล.ต. และ IOD โดยการประกาศรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. รางวัล ASEAN Asset Class PLCs มอบให้ บจ. ที่ได้ตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป (75% จาก 130 คะแนน) ซึ่งมีทั้งสิ้น 234 บริษัท โดยน่าภูมิใจอย่างยิ่งที่เป็น บจ. ไทยถึง 76 บริษัท มากที่สุดในอาเซียน (**บมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW เป็น 1 ใน 76 บจ. ไทยที่ได้รางวัลนี้**)
2. รางวัล ASEAN Top 20 PLCs มอบให้ บจ. ที่มีคะแนนสูงสุด 20 อันดับแรกของอาเซียน และ บจ. ไทยก็มีจำนวนมากที่สุดด้วยเช่นกัน คือ 7 บจ., ฟิลิปปินส์ 5 บจ., สิงคโปร์ 4 บจ., มาเลเซีย 3 บจ. และอินโดนีเซีย 1 บจ.
3. รางวัล Country Top 3 PLCs มอบให้ บจ. ที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ชาติ ซึ่งของไทย ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP)
## ดูรายชื่อ บจ. ในอาเซียนที่ได้รับรางวัล ## ---> https://bit.ly/3BASjc6
Image Credit: Pixabay
นอกจากนี้ จากผลคะแนนทั้งหมดพบว่า บจ. ไทยสามารถทำคะแนนเฉลี่ย 102.27 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนที่ได้ 96.60 คะแนน สะท้อนให้เห็นว่า บจ. ไทยมีการทบทวน ติดตาม และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับในปี 2565 คาดว่าจะมีการพัฒนาเกณฑ์ ACGS ตามหลักเกณฑ์ G20/OECD ที่ปรับปรุงใหม่ โดยอาจมีหัวข้อที่นักลงทุนระดับสากลให้ความสำคัญเพิ่มเข้ามาเป็นเกณฑ์ เช่น เรื่อง ESG และการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น
จึงนับว่าเป็นความท้าทายอีกขั้นของ บจ. ไทยที่จะได้เรียนรู้ พัฒนา และยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ. ไทย ให้มีความยั่งยืนทัดเทียมนานาชาติ และเป็นที่ยอมรับในมุมมองของนักลงทุนทั้งในประเทศและระดับสากลต่อไป.
Reference:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมบริษัทไทย
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา