16 ธ.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
จะรู้ได้อย่างไร ว่าเสี่ยงไตวาย
โรคไตเรื้อรังและการลดลงของการทำงานไตมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย (ซึ่งอาจต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต เช่น ฟอกเลือด หรือ ล้างไตผ่านช่องท้อง รวมถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายไต) โรคหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สำหรับประเทศไทย มีความชุกของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ร้อยละ 17.5 หรือกล่าวง่าย ๆ คือ คนไทยทุก ๆ 6 คน จะมีคนเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่ 1 คน นับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญมากทีเดียว
แม้ว่าความชุกของโรคไตเรื้อรังในประเทศไทยจะสูงขนาดนี้ แต่พบว่า ความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคไตเรื้อรังของเรา (CKD awareness) ยังอยู่ในระดับต่ำอย่างน่าใจหาย เมื่อไม่ตระหนักรู้แถมมีความเสี่ยงต่อโรคไตเรื้อรังแบบไม่รู้ตัว ดังนั้นเราจึงมีโอกาสที่จะตรวจพบโรคไตเรื้อรังเมื่อโรคเป็นเยอะหรือเป็นระยะท้าย ๆ แล้ว และเมื่อถึงตอนนั้น เราย่อมเสียโอกาสที่จะป้องกันหรือแก้ไขตั้งแต่โรคยังเป็นไม่เยอะ ดังนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไรดีเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของโรคไตเรื้อรังนี้
ขอเสนอเครื่องมือหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาโดยคนไทยและใช้ฐานข้อมูลคนไทยเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังในอีก 10 ปี ข้างหน้า เครื่องมือนี้ คือ Thai CKD risk score จัดทำโดยคณะทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี อาศัยฐานข้อมูลจากข้อมูลพนักงานการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (EGAT study) ซึ่งมีการติดตามมาเป็นสิบ ๆ ปี เครื่องมือนี้ เราสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลด้วยตนเอง จากเว็บไซต์ ลิงก์นี้ https://www.rama.mahidol.ac.th/cardio_vascular_risk/Thai_CKD_risk_score/Thai_CKD_risk_score.html
สำหรับเครื่องมือ Thai CKD risk score เราสามารถใช้งานได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เมื่อเปิดเข้าไป สามารถกรอกข้อมูล (โดยอาจเลือกไม่ใช้ผลเลือดก็ได้) จะมีข้อมูลให้กรอกหลัก ๆ 5 ข้อ ได้แก่ อายุ (มีอายุตั้งแต่ 38-99 ปี) เพศ ความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) เป็นโรคเบาหวานหรือไม่ และ ความยาวรอบเอว (หน่วยเป็นนิ้ว) เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จ กดแสดงผล เราจะได้รับข้อมูลป้อนกลับว่าท่านมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตในอีก 10 ปี ข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน พร้อมคำแนะนำ
กรณีที่ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเกิน 20% ใน 10 ปี บ่งชี้ว่า ท่านมีความเสี่ยง “สูงมาก” ท่านควรได้รับการตรวจค่าการทำงานไต หรือตรวจเลือดเพื่อดูค่าครีแอตินีน ว่าขณะนี้ท่านไตเสื่อมหรือมีโรคไตเรื้อรังแล้วหรือยัง และควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ไตเสื่อม ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ลดกินเค็ม หลีกเลี่ยงยากินแก้ปวดข้อชนิด NSAIDs รักษาระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้อยู่เกณฑ์ปกติ และควรตรวจการทำงานของไตเป็นระยะ
แม้ว่าโรคไตจะพบได้บ่อยและเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่เราสามารถป้องกันและรักษาได้ ถ้ารู้เร็ว เครื่องมือ Thai CKD risk score นี้ สามารถนำมาใช้เพื่อบอกความเสี่ยงของตัวเราเองในเบื้องต้น และขอเสนอแนะว่า นอกจากประเมินความเสี่ยงแล้ว ถ้าเป็นไปได้ เราควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง รวมถึงการตรวจติดตามค่าการทำงานไตเป็นระยะ ๆ เพื่อดูว่าเรามีปัญหาเรื่องไตหรือไม่ และ ควรปฏิบัติตัวเพื่อหลีกหนีโรคไต ตามที่ได้แนะนำไว้ข้างต้น แม้ว่าตอนนี้ท่านจะยังไม่เสี่ยงก็ตาม
อ้างอิง
Saranburut K, Vathesatogkit P, Thongmung N, Chittamma A, Vanavanan S, Tangstheanphan T, Sritara P, Kitiyakara C. Risk scores to predict decreased glomerular filtration rate at 10 years in an Asian general population. BMC Nephrol. 2017 Jul 17;18(1):240. doi: 10.1186/s12882-017-0653-z. PMID: 28716010; PMCID: PMC5512831.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา