16 ธ.ค. 2022 เวลา 12:46 • หนังสือ
เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข
แค่ได้เห็นชื่อเรื่องก็สะดุดใจแล้ว ไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้จะอ่านได้เฉพาะคนดีหรอกนะ เราว่าทุกคนสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ เพราะทุกคนย่อมมีทั้งด้านคนดีและไม่ดี และหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้นิยามคำว่า “คนดี” คือคนที่รักษาศีลไม่ทำชั่วใดๆ ทว่า “คนดี” ที่กล่าวถึงนั้นหมายถึง การกระทำที่ต้องการเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการยอมรับ ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนมีมุมนั้นอยู่ และการเป็นคนดีจะไม่เป็นอะไรเลยถ้าการกระทำนั้นไม่มีผลต่อความสุขของตัวเอง
หนังสือแบ่งออกเป็น 6 พาร์ทใหญ่ๆ
บทที่1 ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล...
คนดีมักต้องการเป็นที่ยอมรับเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกเกลียด โดยยอมกระทำในสิ่งที่ไม่ชอบและไม่ใช่ตัวเอง และคิดว่าตนเองไม่สามารถอยู่คนเดียวได้จนต้องยอมอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ปรารถนานัก ซึ่งหนังสือกล่าวว่า แท้จริงแล้วการถูกเกลียดไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ “การกลัวว่าจะถูกเกลียดต่างหาก” เพราะเราแคร์สายตาคนอื่นมากเกินไป เราเลยต้องทุกข์ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา
บทที่ 2 ปฏิสัมพันธ์...
คนดีมักยอมเอาใส่ทุกคนและไม่กล้าปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ต้องการ เพื่อต้องการให้เป็นที่ชื่นชอบของอีกฝ่าย โดยเก็บซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้ ก่อให้เกิดความเครียด กังวล และอาจสูญเสียความสัมพันธ์ที่ดีไป มีแนวโน้มที่จะต้องเสียเงินและเวลาเพื่อคนอื่นหรือคนที่ไม่เห็นความสำคัญของตัวเอง ดังนั้น การปฏิเสธเรื่องที่ตัวเองคิดว่าน่าเบื่อคือการให้ความสำคัญแก่ตนเอง และเป็นการใช้ชีวิตอย่างมีค่า
บทที่ 3 ความเชื่อ...
การใช้ชีวิตอย่างเข้มแข็งโดยไม่โอนเอนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้นั้น เราต้องยอมรับเสียก่อนว่า ปัญหาของตัวเองก็ต้องแก้ไขเอง และเชื่อมั่นว่าเรา “ทำได้” ทั้งนี้การรับผิดชอบตัวเองไม่ใช่การยอมรับผิดว่า “ฉันเป็นคนผิดเอง” แต่หมายถึง “เราต้องทำอะไรสักอย่าง” และไม่ใช่การเย่อหยิ่งอย่างไร้เหตุผลว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ห้ามพึ่งพาคนอื่นเด็ดขาด” แต่หมายถึงให้เราทำสิ่งที่ทำได้ให้เต็มที่เสียก่อน
บทที่ 4 ทรัพย์สินเงินทอง...
ในความเป็นจริงแล้วตัวเรานี่แหละที่มักคอยขีดความสามารถของตัวเอง ตัวเรานี่แหละที่มักยอมแพ้ความฝัน ตัวเราเองนี่แหละที่มักหักหลังตัวเราในอนาคต “คนกล้าหาญไม่ใช่คนที่ไม่กลัวอะไร แต่คือคนที่กล้าก้าวออกไปแม้กลัวจนขาแข็งก็ตาม”
บทที่ 5 ความรัก...
เลิก “เปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับอีกฝ่าย” เราไม่จำเป็นต้องทนความสัมพันธ์ที่ทำให้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง อะไรที่ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ชอบ อะไรที่ไม่อยากให้ทำก็ต้องบอกว่าอย่าทำ หรือพูดความรู้สึกของตัวเองออกไปให้ชัดเจน คงไม่มีใครให้ความสำคัญแก่คนที่ไม่เห็นความสำคัญของเรา ดังนั้น หากเราต้องการให้อีกฝ่ายเอาใจใส่ เราก็ต้องเอาใจใส่เขาก่อนนั่นคือการเชื่อใจและเคารพกัน
บทที่ 6 การสร้างผลผลิตใหม่...
สภาพแวดล้อมช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นช่วยสร้างลักษณะนิสัยของคนเราได้มากที่สุด สาเหตุที่พ่อแม่บางคนไม่สามารถรับมือกับเด็กและวัยรุ่นได้ เพราะทั้งคู่เป็น “คนดี” ที่โหยหาความรักและมีความนับถือตัวเองต่ำเช่นกัน จึงปฏิบัติและสอนลูกให้เป็น “คนดี” เหมือนตัวเอง ดังนั้น การจะหยุดสร้างผลผลิต “คนดี” นั้น พ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้ก่อน และการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ได้นั้นเราต้องใช้เวลาเผชิญหน้าจิตใจของตัวเอง
สรุปแล้ว การเป็น “คนดี” คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากเราเป็นคนดีที่เป็นตัวตนของเราจริงๆ ไม่ใช่เป็นคนดีเพื่อให้คนอื่นยอมรับและรักเรา สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะคนดีหรือไม่ดีก็ล้วนต้องการความสุขในชีวิตทั้งนั้น
อย่าสนใจว่าใครจะคิดอย่างไรกับเป้าหมายที่แท้จริงของความคิดหรือพฤติกรรมของคุณ สิ่งสำคัญคือเราได้ใช้ชีวิตที่ทำให้ตัวเองรู้สึกว่า “อา มีความสุขจังเลย” ต่างหาก
#เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข
#อ่านแล้วนะ
ชื่อเรื่อง : เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข
ผู้เขียน : โกะโด โทคิโอะ
ผู้แปล : อาคิธา รัตนาภิรัต
สำนักพิมพ์ : AMARIN
จำนวนหน้า : 172 หน้า
ราคาปก : 225 บาท
โฆษณา