1 ม.ค. 2023 เวลา 09:47
ฎีกาที่ 1572/2563
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 บัญญัติว่า “ บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด (1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น... ”
และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้องสอดเข้ามาในคดีก็ได้ ” เมื่อผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอกกาจ กับนางกฐิน ผู้ร้องสอดทั้งสามจึงเป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกของพันเอกกาจและนางกฐิน
ประกอบกับผู้ร้องสอดทั้งสามกล่าวอ้างว่า นางกฐินทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกทรัพย์มรดกของนางกฐินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องสอดทั้งสามและจำเลยซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง ด้วย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง มีส่วนได้เสียในคดี ส่วนการที่โจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องสอดทั้งสามและจำเลยขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนางกฐินนั้น
ก็ได้ความว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์และศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และคำสั่งของศาลฎีกาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และผู้ร้องสอดทั้งสาม ดังนั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกของพันเอกกาจและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อผู้ร้องสอดทั้งสามเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีย่อมมีสิทธิร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง
หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสามเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอดทั้งสามมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา (พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสามเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1))

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา