2 ม.ค. 2023 เวลา 08:24
ฎีกาที่ 1054/2563
แม้จำเลยทั้งสามจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีได้นั้น ศาลจำต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย
ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้รับฟังได้ตามที่ฟ้องเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูล คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1747
ซึ่งเดิมเป็นของนายอินบิดาโจทก์ จึงเป็นการง่ายที่นายอินจะไปดำเนินการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทแต่กลับไม่ปรากฏว่านายอินได้ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินหรือเอกสารสิทธิอื่นใดในที่ดินพิพาท เมื่อนายอินยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1747 ให้แก่โจทก์และทายาทของนายอินคนอื่น ๆ เมื่อปี 2545
ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งอ้างว่าได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนายอินด้วยได้ดำเนินการเพื่อขอออกโฉนดในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด แต่กลับนำที่ดินแปลงอื่นซึ่งยังไม่มีเอกสารสิทธิไปขอออกโฉนดที่ดินดังจะเห็นได้จากที่โจทก์และนายวิไลสามีโจทก์ นำที่ดินแปลงหนึ่งที่ทั้งสองเป็นเจ้าของไปขอออกโฉนดที่ดิน ซึ่งทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 30075...ให้แก่โจทก์และนายวิไลเมื่อปี 2547
หลังจากนั้นเมื่อปี 2559 โจทก์กับพวกก็ได้ดำเนินการขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1747 ซึ่งทางราชการก็ออกโฉนดที่ดินเลขที่ 46232 ให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ไม่นำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดเช่นเดียวกับที่ดินแปลงอื่น ๆ ของโจทก์บ่งชี้ว่า โจทก์เองก็ทราบดีว่าโจทก์มิได้เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ส่วนที่โจทก์เบิกความอ้างว่าเมื่อปี 2526 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มาขออนุญาตนายอินปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานที่แสดงถึงการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2
ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาแสดง ที่โจทก์อ้างนายกล่อมและนายบุญชูเป็นพยาน บุคคลทั้งสองก็ไม่ได้รู้เห็นหรือทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปขออนุญาตนายอินปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาท ตามพยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท โดยฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา