6 ม.ค. 2023 เวลา 09:10
ฎีกาที่ 5633/2562
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ 200,000 บาท ส่วนจำเลยให้การว่าสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม ด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้กู้เงินและรับเงิน จากโจทก์ 200,000 บาท ข้อความในสัญญากู้เงินเป็นข้อความเท็จ จำเลยมิได้ทราบหรือมิได้รู้เห็นยินยอมหรือให้ความยินยอมแต่อย่างใด คำให้การของจำเลยดังว่านี้แสดงโดยชัดเจนมีสาระสำคัญครบถ้วนถูกต้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 26 ว่าจำเลยไม่ได้กู้เงิน 200,000 บาท
ตามที่ระบุในสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องพร้อมทั้งมีเหตุแห่งการปฏิเสธด้วยว่าสัญญากู้เงินเป็นสัญญาปลอม ด้วยเหตุว่าข้อความในสัญญาเป็นความเท็จซึ่งจำเลยมิได้ทราบหรือมิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมแต่อย่างใด คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้อง และคำให้การว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ ซึ่งโจทก์มีภาระการพิสูจน์ ให้ได้ความว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่ใช่เอกสารปลอมและจำเลยก็ชอบที่จะนำพยานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ตามที่ให้การต่อสู้ได้
ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าความจริงจำเลยกู้เงินจากโจทก์ 15,000 บาท เมื่อชำระหนี้ครบแล้วทวงถามสัญญากู้เงินคืนจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่คืนให้นั้น แม้เรื่องนี้จำเลยจะไม่ได้ให้การไว้ แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่จำเลยสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาว่าที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินว่าจำเลยกู้เงินไป 200,000 บาท ความจริงจำเลยกู้เงินไปจากโจทก์เท่าใด โจทก์กรอกจำนวนเงินที่กู้ในสัญญาสูงเกินกว่าความจริงโดยจำเลยไม่รู้เห็นหรือยินยอม
เป็นการนำสืบยืนยันตามที่ให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้เงินจำนวน 200,000 บาทไปจากโจทก์ หาใช่เป็นการนำสืบนอกคำให้การแต่อย่างใดไม่ และเมื่อโจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้ก็ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะพิจารณารายละเอียดที่ปรากฏในสัญญากู้เงินว่ามีความน่าเชื่อถือสมกับที่อ้างหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกเรื่องสีหมึกปากกาที่ใช้เขียนข้อความในช่องผู้กู้และพยานแตกต่างกับสีหมึกปากกาที่ใช้เขียนข้อความในช่องอื่น อีกทั้งโจทก์ปล่อยเวลาล่วงเลยมาถึงเกือบ 5 ปี
จึงนำคดีมาฟ้อง ผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจเป็นปกติให้กู้เงินอย่างโจทก์ขึ้นวินิจฉัยว่าสัญญากู้มีการกรอกข้อความในภายหลังตามที่จำเลยนำสืบ การที่โจทก์กรอกข้อความลงในสัญญากู้เงินว่ามีการกู้เงิน 200,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นยินยอม จึงเป็นเอกสารปลอม เป็นการวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย (พิพากษายืน (ให้ยกฟ้องโจทก์))

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา