9 ม.ค. 2023 เวลา 04:57
ฎีกาที่ 8378/2561 (บางส่วน)
เมื่อจำเลยที่ 2 ยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นมารดาผู้ตายย่อมมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำบันทึกเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 ร่วมลงลายมือชื่อในบันทึกก็เนื่องจากทั้งสองฝ่ายตกลงจำนวนเงินที่จะชำระให้แก่โจทก์ได้ เป็นการประนีประนอมยอมความกันในส่วนค่าเสียหาย
แม้บันทึกเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหาย ข้อ 5 จะระบุว่า โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด มีความหมายเป็นเพียงความประสงค์ของโจทก์ แต่ไม่มีข้อความว่าทั้งสองฝ่ายตกลงชำระค่าเสียหายต่อกันเนื่องจากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะระงับคดีอาญาซึ่งเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ซึ่งไม่อาจตกลงกันเช่นนั้นได้ บันทึกดังกล่าวจึงมีผลบันทึกได้ตามกฎหมาย ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
อันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 บันทึกเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายจึงไม่เป็นโมฆะแต่มีผลผูกพันคู่สัญญา จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าเป็นผู้เจรจากับโจทก์มาตั้งแต่หลังเกิดเหตุจนได้ข้อสรุปและนัดไปพบพนักงานสอบสวน โจทก์ จำเลยที่ 1 และพยานไปร่วมทำบันทึก จำเลยที่ 1 กับโจทก์แจ้งข้อตกลงให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อทำบันทึกเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหาย แล้วให้ทุกคนลงลายมือชื่อ และจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์
ทั้งตามบันทึกเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายก็ระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทน/บิดาของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่า นอกจากจำเลยที่ 1 จะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะบิดาของจำเลยที่ 2 ยอมร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา แม้โจทก์จะเคยยื่นคำร้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3327/2557 ของศาลจังหวัดอุดรธานี
ขอให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหาย 200,000 บาท แก่โจทก์ ก็เป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญา แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน ทั้งปรากฏว่าในคดีอาญาดังกล่าวศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องนั้น ไม่อาจถือได้ว่ามีคำพิพากษาให้ยกฟ้องดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง
จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) และเมื่อศาลจังหวัดอุดรธานีไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดและยกคำร้องโดยวินิจฉัยเนื้อหาตามประเด็นในคำร้องดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา