13 ม.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

แบคทีเรียในลำไส้มีผลต่อแรงจูงใจในการออกกำลังกายด้วยหรือ

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า “แบคทีเรียในลำไส้” หรือ “gut microbiota” มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์หลายด้าน การเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของแบคทีเรียในลำไส้นำมาซึ่งโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ในร่างกายมากมาย เช่น โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคสมอง เป็นต้น
นอกจากนี้แบคทีเรียในลำไส้ยังมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมมนุษย์ได้ หรือบอกได้ว่าเราอาจไม่ได้เป็นตัวของตัวเองคนเดียวเท่านั้น แบคทีเรียในลำไส้อาจแฝงตัวมาควบคุมพฤติกรรมของเราบางอย่างได้แบบเราไม่รู้เนื้อรู้ตัว ดังตัวอย่างที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ พฤติกรรมการออกกำลังกาย
ในหนูทดลอง แบคทีเรียในลำไส้ส่งผลต่อพฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยเกี่ยวข้องกับศูนย์การให้รางวัลในสมอง (brain reward center) ระหว่างการออกกำลังกาย เมื่อให้หนูทดลองได้รับโอกาสในการออกกำลังกายโดยให้วิ่งบนวงล้อ พวกมัน (ซึ่งเหมือนมนุษย์เรา ๆ) ก็จะมีความพยายามออกกำลังกายแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว แล้วแบคทีเรียในลำไส้ไปเกี่ยวกับพฤติกรรมการออกกำลีงกายในหนูทดลองเหล่านี้ได้อย่างไร
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า หนูทดลองบางตัวขยันวิ่งบนวงล้อเป็นระยะเกือบ 20 ไมล์ (ราว ๆ 32 กิโลเมตร) ในเวลา 48 ชั่วโมง ในขณะที่หนูทดลองบางตัวมีนิสัยขี้เกียจ แทบไม่วิ่งบนวงล้อเลย
เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติม ผู้วิจัยพบว่าในหนูทดลองสองกลุ่ม (ขยัน vs. ขี้เกียจ) ไม่มีความแตกต่างระหว่างพันธุกรรมที่จะอธิบายความแตกต่างของพฤติกรรมการวิ่งบนวงล้อนี้ แต่กลับพบว่า ความแตกต่างของพฤติกรรมมีสาเหตุมาจากความแตกต่างของแบคทีเรียในลำไส้ของหนูทดลองสองกลุ่ม
หนูทดลองใน”กลุ่มขยัน”มีสปีชีส์ของแบคทีเรียในลำไส้ชนิดที่สร้างกรดไขมันเป็นจำนวนมาก (มากกว่ากลุ่มขี้เกียจอย่างชัดเจน) โดยกรดไขมันเหล่านี้เมื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นให้สมองส่วนศูนย์การให้รางวัลสร้างสารโดพามีน (dopamine) มากขึ้นในขณะที่หนูทดลองออกกำลังกาย ผลดังกล่าวกระตุ้นให้หนูทดลองมีความอยากที่จะวิ่งหรือออกกำลังกายเพิ่มเติมยิ่งขึ้น (คล้ายการเสพติดนั่นเอง)
เมื่อนำหนูทดลองในกลุ่มขยันมารักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ ซึ่งยาจะเข้าไปฆ่าแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างกรดไขมันดังกล่าว ทำให้หนูทดลองจากที่มีพฤติกรรมขยันเปลี่ยนเป็นหนูขี้เกียจ และภายหลังหยุดยา แบคทีเรียในลำไส้ชุดเดิมเจริญเติบโตขึ้นมา หนูทดลองกลุ่มขยันที่เคยได้ยาก็กลับมาขยันวิ่งได้เหมือนเดิม
นอกจากนี้ผู้วิจัยยังทดลองนำหนูทดลองปราศจากเชื้อโรคที่ขี้เกียจ มาให้กินแบคทีเรียในอึ (กินขี้!!!) ของหนูทดลองกลุ่มขยัน (จะได้รับสปีชีส์ของแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างกรดไขมันเยอะ ๆ นั่นเอง) หนูทดลองเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นหนูขยันออกกำลังกายได้
จากโมเดลสัตว์ทดลองดังกล่าว ในหนูกับมนุษย์มีพันธุกรรมความคล้ายคลึงกันมาก ดังนั้นจึงอาจเชื่อได้ว่าแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์ส่งผลต่อแรงจูงใจและพฤติกรรมการออกกำลังกาย การเปลี่ยนแปลงแบคทีเรียในลำไส้อาจเปลี่ยนคน ๆ หนึ่งที่ขี้เกียจออกกำลังกายมาเป็นคนที่มีแรงจูงใจในการออกกำลังกายได้
ไม่แน่ในอนาคต เราอาจได้เห็นยาโปรไบโอติกส์ (probiotics) หรือพรีไบโอติก (prebiotics) มารักษา “โรคขี้เกียจออกกำลังกาย” ก็เป็นได้
(!!!ระหว่างรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ ไม่แนะนำให้หา”ขี้คนขยัน”มากินนะครับ นอกจากรสชาติและกลิ่นจะไม่พึงประสงค์ เราอาจได้รับเชื้อโรคตัวอื่นและเจ็บป่วยไปด้วยครับ ขออภัยถ้าตอนนี้คุณกำลังกินข้าวอยู่)
อ้างอิง
Dohnalová L et al. A microbiome-dependent gut-brain pathway regulates motivation for exercise. Nature 2022 Dec 22/29; 612:739.
Agirman G and Hsiao EY. Gut microbes shape athletic motivation. Nature 2022 Dec 22/29; 612:633.
Pennisi E. Exercise-crazy mice have their gut microbes to thank. Science 2022 Dec 16; 378:1157.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา