13 ม.ค. 2023 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี

The Interest of Love : เมื่อเราเข้าใจรัก(ไม่ได้ชนะทุกอย่าง)

“ความรักน่ะไม่ได้ชนะทุกอย่างในโลกใบนี้หรอกนะ เงินมีอำนาจกว่าที่นายคิดอีก”
The Interest of Love หรือชื่อภาษาไทยคือ เมื่อเราเข้าใจรัก ซีรีส์เกาหลีที่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์อันซับซ้อนของพนักงานในธนาคารแห่งหนึ่ง ท่ามกลางบรรยากาศการทำงานในธนาคารที่ยุ่งเหยิงในแต่ละวัน และที่น่าสนใจคือตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นการพยายามสอดแทรกเรื่องชนชั้นไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกชนชั้นระหว่างพนักงานด้วยกันเองที่มีฐานะทางบ้านต่างกัน เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยคนละระดับกัน และยังทำให้เห็นว่าเรื่องของชนชั้นนี้เองก็ยังไปเกี่ยวข้องในทุกมิติของชีวิตไม่เว้นแม้แต่การจะรักใครสักคน
บทความนี้ Bnomics จึงอยากจะยกงานวิจัยที่พูดถึงเรื่องของชนชั้น สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ว่ามีผลต่อการจะรัก และสร้างความสัมพันธ์กับใครสักคนอย่างไร
📌 ระดับศึกษาของคู่ชีวิตสำคัญต่อชีวิตคู่
ถ้าย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 1950 กลุ่มตัวอย่างในสหรัฐฯ พบว่าผู้หญิงที่ไม่ได้จบปริญญากว่า 85% มีโอกาสได้แต่งงาน เมื่อเทียบผู้หญิงที่จบปริญญาจะมีโอกาสได้แต่งงานเพียง 70% เท่านั้น นั่นหมายความว่าในอดีต ผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา มีโอกาสได้แต่งงานมากกว่า
แต่ 60 ปีต่อมา เทรนด์นี้กลับกัน กลายเป็นว่า อัตราการแต่งงานของผู้หญิงที่จบมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการแต่งงานของผู้หญิงที่ไม่ได้จบมหาวิทยาลัยลดลงเหลือน้อยกว่า 60% เท่ากับว่าในปัจจุบันผู้หญิงที่มีการศึกษา จะมีโอกาสได้แต่งงานมากกว่า
และจากการสำรวจของ National Survey of Family Growth (NSFG) ชี้ให้เห็นว่า มีผู้หญิงที่เรียนจบปริญญาเพียง 12 - 17% เท่านั้น ที่แต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้จบปริญญา
ผู้หญิงเหล่านี้ มีโอกาสหย่าร้างน้อยกว่าผู้หญิงแต่งงานแล้วที่เรียนไม่จบถึง 40% และ 78% ของผู้หญิงที่จบมหาวิทยาลัยที่แต่งงานแล้ว มักจะอยู่กันได้ยาวถึงอย่างน้อย 20 ปี ในขณะที่สำหรับผู้หญิงที่เรียนจบประดับประกาศนียบัตรหรือน้อยกว่า มีเพียง 41% เท่านั้นที่จะอยู่กันถึง 20 ปี
📌 แค่รักนั้นยังไม่พอ…แต่สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมก็สำคัญ
แน่นอนว่าความรักเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงให้คนสองคนรู้สึกดีต่อกัน และคบกันไปได้ แต่พอไปถึงเรื่องของการแต่งงาน ความรักอย่างเดียวกลับไม่เพียงพอให้คนสองคนอยู่ด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่ง
ว่ากันว่าการแต่งงานเป็นเรื่องที่คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะก่อนแต่งงาน เราอาจจะยังไม่รู้ว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ เป็นปัจจัยที่ครอบทับข้อผูกมัดระยะยาวนี้ไว้อยู่ นั่นคือ “สถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม”
ซึ่งพบว่ามันมีความเชื่อมโยงกับการที่คนตัดสินใจเแต่งงาน หรือยุติการแต่งงานเป็นอย่างมาก
เพราะคนที่มีภูมิหลังที่แตกต่างกัน มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน จะทำให้รูปแบบวิธีการคิด การมองโลกในเรื่องต่างๆ นั้นแตกต่างกันออกไป
โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ มีความกดดันทางด้านการเงินสูง มีระดับสินทรัพย์และการครอบครองที่อยู่อาศัยต่ำ จะมีอัตราการแต่งงานที่ต่ำ และมีอัตราการหย่าร้างที่สูง ซึ่งแพทเทิร์นนี้พบได้ทั้งในสหรัฐฯ เดนมาร์ก เยอรมนี สวีเดน ฟินแลนด์ และในหลายประเทศที่ได้ทำการศึกษา
พวกเขามักจะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสได้ง่ายๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ได้ไปจำกัดทางเลือกและพฤติกรรมบางอย่าง ดังนั้นคู่รักที่มาจากชนชั้นสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อเสียเปรียบในหลายๆ ด้านมากกว่าคู่ที่มาจากชนชั้นในสังคมระดับบน
คนที่อยู่ในชนชั้นระดับล่างๆ มักมีแนวโน้มที่จะแยกตัวจากสังคม, มีความกินดีอยู่ดีน้อยกว่า, เผชิญกับความเศร้ามากกว่า, ได้รับการซัพพอร์ทจากเพื่อนและครอบครัวน้อยกว่า และมีแนวโน้มที่จะต้องพบเจอสถานการณ์ความขัดแย้งกับคนอื่นๆ ที่มากกว่า
นอกจากนี้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีความเกี่ยวโยงกับสุขภาพ เช่น คนที่มาจากระดับชั้นสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมล่างๆ มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด มีโอกาสเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เป็นข้อจำกัดต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน มีอัตราการตายของทารกสูง และมีอายุคาดเฉลี่ยน้อยกว่าคนที่อยู่ในสังคมระดับบนๆ
ในเรื่องของการทำงาน คนกลุ่มนี้มักมีอัตราการว่างงานสูง และเมื่อถูกจ้างงานก็มักจะเป็นงานที่ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่สามารถลาป่วยได้ ไม่ได้มีชั่วโมงการทำงานตรงตามปกติ รวมถึงเป็นงานที่ไม่มีสวัสดิการสุขภาพ
จะเห็นได้ว่าข้อเสียเปรียบต่างๆ นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เป็นอย่างยิ่ง
📌 ระดับการศึกษา ฐานะทางสังคม กับกลยุทธ์การเลือกคู่ครอง
นักเศรษฐศาสตร์สองคน คือคุณ Carbone และคุณ Cahn ชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนของผู้หญิงผู้ชายที่ต่างกันในแต่ละสังคม ส่งผลให้กลยุทธ์การเลือกคู่ของคนในแต่ละระดับสังคมแตกต่างกัน
ถ้าอธิบายให้เป็นภาพคือ ในสังคมที่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายก็จำเป็นจะต้องแข่งขันเพื่อให้ได้คู่ครองที่ปรารถนา ด้วยการลงทุนในการศึกษา หน้าที่การงาน สร้างเนื้อสร้างตัว เพื่อดึงดูดผู้หญิงที่เหมาะสม และสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว มีข้อสังเกตว่าผู้ชายกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะซื่อสัตย์กับผู้หญิงมากกว่า ดังนั้นในสังคมเช่นนี้จะมีอัตราการแต่งงานสูง อัตราการหย่าร้างต่ำ การแต่งงานนอกสมรสต่ำ
ในทางกลับกันถ้าในสังคมนั้นมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ชายก็จะมีทางเลือกเยอะ กลายเป็นผู้หญิงจำนวนมากต้องแข่งขันเพื่อให้ได้ผู้ชายที่ปรารถนา ผู้ชายจึงรู้สึกว่าไม่ต้องคบใครจริงจังมากก็ได้ ในขณะที่ผู้หญิงทางเลือกน้อยก็อาจจะต้องยอมรับให้ได้เรื่องการนอกใจของคู่ครองตนเอง ดังนั้นในสังคมเช่นนี้ อัตราการแต่งงานจะต่ำ อัตราการหย่าร้างจะสูง และการมีบุตรนอกสมรสสูง
แล้วเมื่อเรามาลองสังเกตดู ตำแหน่งบริหารระดับสูงๆ หรือ C-level ของหลายบริษัทมักจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ตำแหน่งงานในระดับล่างๆ ก็มีผู้ชายทำงานมากกว่าผู้หญิง
จากสมมติฐานที่ว่าทุกคนมีแนวโน้มที่จะเลือกคู่ครองที่ฐานะใกล้กัน การศึกษาใกล้กัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในกลุ่มสังคมรายได้ระดับบน จะมีสัดส่วนของผู้ชายที่เพียบพร้อมมากกว่าผู้หญิง ในขณะที่ในกลุ่มสังคมรายได้ระดับล่าง จะมีสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายส่วนน้อยที่มีงานทำดีๆ และมีรายได้พอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้
ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ว่า คนที่มีสถานะทางสังคมในระดับบน จะมีต้นทุนชีวิตที่มากพอที่จะได้เจอคู่ที่เหมาะสม และเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ในความสัมพันธ์ ก็จะมีทรัพยากรและความช่วยเหลือต่างๆ มาช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้
ในขณะที่สำหรับคนที่มีสถานะทางสังคมในระดับล่าง ความสัมพันธ์นั้นเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากหลายๆ ด้าน เช่น สุขภาพ การเงิน การงาน และเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและความช่วยเหลือที่จะทำให้ผ่านปัญหาไปได้ง่ายๆ จึงมีแนวโน้มที่จะยุติความสัมพันธ์ไปได้ง่ายกว่า
การจะรักใครสักคนอาจเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่การจะดูแลให้ความสัมพันธ์นั้นราบรื่นเป็นเรื่องของเหตุผล สภาพแวดล้อม และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย
เพราะความรักไม่ได้ชนะทุกอย่างในโลกใบนี้
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา