18 ม.ค. 2023 เวลา 14:00 • หนังสือ

Muji เพราะไม่มีอะไรจึงมีอะไร

เราเพิ่งมีโอกาสได้ย้ายบ้านในไม่กี่เดือนก่อน ตอนที่คุยกับ Interior Designer เขาถามว่าชอบแนวตกแต่งแบบไหน เราตอบไปว่า “อยากให้บ้านเป็นสไตล์มูจิ”
ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ที่เราใช้คำว่า “มูจิ” ที่เป็นชื่อแบรนด์เป็น Adjective ในการอธิบายสิ่งของต่างๆ ที่เรียบๆและเน้นการใช้งาน เวลาเราเดินเข้าร้านทีไร ตอนแรกกะจะซื้อแค่ของไม่กี่ชิ้น จบที่เต็มตะกร้าทุกที 😅 เรียกได้ว่าเราเป็นแฟนตัวยงของมูจิก็คงไม่ผิดเท่าไหร่
พอเราเห็นว่าประธานใหญ่ของ Muji ทาดามัตสึ มัตสึอิ ออกหนังสือว่า Muji ทำยังไงถึงมีสาขากว่า 700 สาขา ใน 20 กว่าประเทศ เราเลยสนใจมาก และพบว่าในหนังสือก็ยังมีเรื่องราวที่ขนาดแฟนตัวยงอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย
ในเล่มนี้จะเน้นไปที่ว่าหลักการในการเปิดสาขาต่างประเทศว่ามีหลักการและข้อควรระวังอะไรบ้าง ถ้าให้สรุปออกมาสั้นๆใน 1 ประโยคคือ “การปรับตัวให้เข้ากับตลาดท้องถิ่น แต่ยังคงเป็นตัวเองอยู่”
Muji มาจากคำว่า Mujirushi Ryohin ที่แปลว่า “สินค้าคุณภาพดีที่ไม่มียี่ห้อ” Muji มีปรัชญาความเรียบง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน เน้นคุณภาพและการออกแบบที่มีรายละเอียดที่ทำให้ชีวิตง่ายแบบคิดไม่ถึง นี่คือความเป็น Muji ในคำนิยามของบริษัท …แต่เท่านั้นมันไม่เพียงพอที่ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศค่ะ
Muji เองก็ประสบปัญหาในการเปิดสาขาในต่างประเทศเหมือนกัน บางแห่งขายไม่ดีจนต้องปิดตัว หรือบางสาขาต้องอดทนขาดทุนอยู่หลายปีมากๆกว่าจะเริ่มมีกำไร หรือก็คือ “ทำสินค้าคุณภาพดีอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมี Localisation ด้วย” คำว่า Localisation มาจากคำว่า Local (ท้องถิ่น) ถ้าให้แปลตรงๆก็คือ ความเข้าใจในตลาดท้องถิ่นนั้นเอง
1
สินค้า Muji มีทั้งหมดกว่า 7500 ตัว แต่เวลาไปเปิดสาขาในที่ต่างๆ สินค้าที่เลือกไปขายไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นยุโรปสินค้าพวกพลาสติกจะขายดี ถ้าเป็นเอเชียก็คือพวกเสื้อผ้า สินค้าใช้ทั่วไป ซึ่งทีมต้องทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของแต่ละประเทศให้ดี
Muji มีปรัชญาว่าพวกเขาไม่ได้สร้างสินค้า แต่เสาะหาสินค้า เพราะเชื่อว่าของที่ดีมีอยู่ทั่วโลก ที่มนุษย์เราประดิษฐ์ขึ้นที่ทำให้ชีวิตเราง่าย หน้าที่ของ Muji คือไปหาของเหล่านั้นและพัฒนาขึ้นให้เป็นระดับโลก และนี่คือที่มาของ Found Muji (Found ที่แปลว่าถูกพบ)
1
Found Muji คือร้านที่มีสาขาที่ญี่ปุ่น (ในไทยยังไม่มี) เป็นการรวมสินค้าที่พัฒนาจากข้าวของเครื่องใช้ของวัฒนธรรมประเทศต่างๆ เดิมทีสินค้า Muji ก็พัฒนามาจากการใช้งานจริงของคนญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ Muji ไปเอาของดีในวัฒนธรรมอื่นๆมาทำเป็นสินค้าด้วย
เช่น เอาชุดชาวไร่และหมวกงอบของเวียดนามมาทำเป็นชุด เอาเก้าอี้ไม้ของจีนมาทำเฟอร์นิเจอร์ และที่เราชอบที่สุดคือ การเอาถุงเท้าของคุณยายคนนึงในสาธารณรัฐเช็กที่ถักเองเป็นตัวแอล ทำมุม 90 องศา อ่านแล้วอาจจะงงๆว่าแล้วมันแปลกตรงไหน ปกติแล้วถุงเท้าจะทำมุม 120 องศา เพราะจะสามารถผลิตได้มาก และ เวลาพับจะเป็นรูปทรงที่สวยงาม
แต่จากการใช้งานแล้ว ถ้าทำถุงเท้าที่ทำมุม 90 องศาจะใส่สบายและกระชับส้นเท้ากว่ามาก Muji ก็เลยเอาไอเดียของคุณยายคนนึงมาทำเป็นถุงเท้าที่เราซื้อกันในร้านทุกวันนี้ :)
เสน่ห์ของ “ความไม่มีแบรนด์” ก็เป็น “แบรนด์” ชนิดนึง การที่ทำสินค้าโดยที่ไม่ขายของ ไม่ตะโกนโลโก้ตัวใหญ่ๆ ก็สามารถขายได้ดีเช่นกัน พออ่านเล่มนี้จบแล้วคิดว่าไปห้างครั้งหน้า น่าจะต้องไปเดินเสียเงินให้ร้านนี้อีกซักรอบแล้วค่ะ :)
ปล. วิธีการเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้เป็นแบบตอนสั้นๆ คล้ายๆ ไดอารี่ ตัวเราไม่ค่อยชินกับวิธีการเขียนแบบนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าใครชอบอ่านเรื่องตอนสั้นๆน่าจะเหมาะเลยค่ะ :D
ซื้อหนังสือ Muji เพราะไม่มีอะไรจึงมีอะไร ได้เลยที่ https://shope.ee/1q3ZeVLxtw
โฆษณา