17 ม.ค. 2023 เวลา 23:00 • การศึกษา

สิ้นสุดกันที..!! ต่อไปนี้ไม่ต้องพกบัตร

เชื่อว่าหลายคนอาจรู้สึกเบื่อหน่าย กับการพกบัตรประจำตัวประชาชนอยู่บ้าง แต่วันนี้สยามประเทศเริ่มแล้ว กับบัตรประชาชนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ผ่านสมาร์ตโฟน เพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และในไม่ช้า เราคงไม่มีความจำเป็น ต้องพกการ์ดที่เรียกว่า "บัตรประชาชน" อีกต่อไป
1
ปัจจุบันหากใครยังพกกระเป๋าสตางค์ คงรับรู้ถึงความหนานูน ที่ไม่ได้แปลว่ามีแบงก์เป็นฟ่อน ๆ แต่หากหมายถึง กระเป๋าที่เต็มไปด้วยบัตรประจำตัว และไม่ประจำตัวนานาชนิด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า หนึ่งในการ์ดพลังนั้น ต้องมีบัตรประชาชนรวมอยู่ด้วย
เหตุผลที่เราต้องพกบัตรประชาชน ก็เพราะมันเป็นสิ่งช่วยยืนยันตัวตน เป็นดั่งเครื่องมือบ่งชี้สถานภาพเรา ณ เวลานั้น อีกทั้งยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากเราไม่สามารถนำมาแสดง เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ร้องขอ
อิงตามพระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 5 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ ซึ่งมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้าน จะต้องมีบัตรประชาชน
โยงใยไปจนถึง มาตรา 17 ของกฎหมาย กำหนดไว้ว่า “ผู้ถือบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ ซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตร หรือใบรับ หรือใบแทนใบรับ เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท”
ฟังดูน่าสับสนดี เอาเป็นว่าหากคุณอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่มีบัตรประชาชน คุณจะถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท แต่ไม่ใช่ว่าคุณเจ้าหน้าที่ท่านไหน ก็จะขอตรวจบัตรคุณได้ ซึ่งกฎหมายก็กำหนดเอาไว้ว่า จะต้องเป็นเจ้าพนักงาน ยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรี หรือเทียบเท่าขึ้นไปเท่านั้น
มีข้อยกเว้นสำหรับเจ้าพนักงาน นายตำรวจชั้นประทวน จะขอดูบัตรประชาชนได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ ณ จุดตรวจ หรือที่เรา ๆ เข้าใจว่าด่านตรวจ และต้องเป็นด่านที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
สำหรับประชาชนชาวไทย อายุ 7-14 ปี ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำบัตรประชาชนได้นั้น ไม่ได้บังคับให้ต้องพกบัตร ในกรณีนี้เป็นการให้ทำไว้ก่อน จึงไม่มีผลทางกฎหมายใด ๆ
ส่วนถ้าใครถูกเจ้าหน้าที่ ขอดูบัตรประชาชน คุณก็สามารถขอดูบัตรข้าราชการของตำรวจได้เช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่า เป็นตำรวจจริงๆ หรือมียศนายร้อยหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เข้ามาขอดูบัตร
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณเจ้าหน้าที่สามารถขอดู หรือตรวจสอบได้อย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายรูปได้ และห้ามยึดบัตรโดยเด็ดขาด รวมถึงห้ามทำให้เสียหายด้วย
แต่ต่อไปนี้ปัญหาการพกบัตรประจำตัวประชาชน จะหมดสิ้นไป รวมทั้งปัญหาการปลอมแปลงบัตร ปัญหาบัตรหาย ปัญหาการถูกสวมรอย สวมชื่อ และอื่น ๆ ด้วยแผนงาน บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่กำลังถูกปล่อยให้ดาวน์โหลด
นับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ประชาชนผู้มีสัญชาติไทย สามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล บนเครื่องมือสื่อสาร หรือที่เราเรียกกันว่า "สมาร์ตโฟน" ผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดง ด้วยบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และคุณเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้
บัตรประชาชนทางดิจิทัล หรือ Digital ID ยังสามารถใช้เพื่อระบุยืนยันตัวตนบนโลกออนไลน์ ใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือแม้แต่การเข้ารับบริการ สวัสดิการจากภาครัฐ ก็จะสามารถใช้ได้เหมือนบัตรประชาชนทั่วไป
สำหรับผู้สนใจใช้ระบบ Digital ID สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ลงในสมาร์ตโฟน ซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android)
จากนั้นก็ดำเนินการลงทะเบียนตามที่ขั้นตอนกำหนด โดยในระยะแรก ประชาชนที่ประสงค์จะใช้ Digital ID สามารถนำบัตรประชาชนตัวจริง ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ได้ที่สำนักทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในระยะต่อไป ระบบลงทะเบียนจะมีการพัฒนาเป็นระบบออนไลน์ และขยายพื้นที่ตามลำดับ
ปิดท้ายโพสต์นี้ ด้วย 10 เรื่องน่ารู้ ที่คุณอาจไม่รู้ เกี่ยวกับบัตรประชาชน
1. ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะขอมีบัตรประชาชนต่อไป หรือไม่มีก็ได้
2. หลักที่ 1 ในเลขบัตรฯ หมายถึง ประเภทบุคคล มี 8 ประเภท
4. หลักที่ 2 ถึงหลักที่ 5 ในเลขบัตรฯ หมายถึง รหัสของสำนักทะเบียน
5. หลักที่ 6 ถึงหลักที่ 10 ในเลขบัตรฯ หมายถึง กลุ่มที่ ของบุคคลแต่ละประเภท ตามหลักที่ 1
6. หลักที่ 11 ถึงหลักที่ 12 ในเลขบัตรฯ หมายถึง ลำดับที่ของบุคคลในแต่ละกลุ่มประเภท
7. ชิปสีทองที่มีในบัตรประชาชน มีไว้เพื่อดึงข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับธุรกรรมต่าง ๆ
8. ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยปี 2556 การถ่ายสำเนาบัตรประชาชนที่ถูกต้องคือ "ถ่ายเพียงด้านหน้าด้านเดียว"
9. ควรเลือกเซ็นด้วยปากกาสีดำแทนสีน้ำเงิน เพราะเครื่องถ่ายเอกสารบางรุ่น สามารถปลอมเอกสารจากหมึกสีน้ำเงิน
10. เลขบัตรประชาชน สามารถใช้ดูดวงได้ (อันที่จริง คนไทยก็ดูได้หมดทุกเลขน่ะแหละ)
3
ติดตามบทความย้อนหลังได้ที่
ติดตามเรื่องสนุก ๆ ได้ที่
www.topranking.one
โฆษณา