23 ม.ค. 2023 เวลา 01:30 • สุขภาพ

โรคจิต (Psychotic Disorder)

🔸 “ว๊าย โรคจิต!!” เป็นคำที่สาว ๆ ในละครไทยกรีดร้องด้วยความหวาดกลัว ไม่ก็อุทานด้วยความตกใจ เมื่อเจอชายหนุ่มทำหน้าหื่นกามกำลังสอยกางเกงในตามหอพักมาดม เจอชายวัยกลางคนเปิดเสื้อคลุมโชว์ร่างกายล่อนจ้อนให้ดู หรือเจอคุณลุงกำลังแอบส่องรูเล็กๆเพื่อดูสาวๆทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำหญิง
🔸 แมวส้มก็อยากจะกรีดร้องสวนกลับไปว่า “โรคจิตมันไม่ใช่แบบนั้นโว๊ยยยยยยย!!!!” ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคจิตอย่างถูกต้องตามศาสตร์จิตวิทยากันครับ
🔸 ก่อนเข้าเนื้อหาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชทุกโรค แมวส้มต้องขอเตือนก่อนว่า ถึงแม้คุณผู้อ่านจะมีข้อมูลหรือมีความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากเพียงใด ก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้เองนะครับว่าตัวท่านเองและผู้อื่นป่วยเป็นโรคทางจิตเวช คุณผู้อ่านสามารถทำได้เพียงการคัดกรองว่าตัวท่านหรือคนรอบข้างมีความเสี่ยงจะเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ การวินิจฉัยนั้นเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ผ่านการฝึกมาแล้วเท่านั้น
🔸 ข้อมูลที่แมวส้มกำลังจะนำเสนอต่อไปนี้หลาย ๆ ส่วน ไม่ได้ใช้คำศัพท์ตาม ICD ที่พัฒนาโดยองค์การอนามัยโลก หรือ DSM-V ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ที่เป็นคู่มือการวินิจฉัยความผิดปกติทางจิต ที่จิตแพทย์ใช้กันทั่วโลกแบบเป๊ะๆ เพราะคำที่ใช้ในคู่มือนี้เต็มไปด้วยศัพท์ทางการแพทย์ แมวส้มจึงขอปรับภาษาเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ
🔸 โรคจิต (Psychotic Disorder) เป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจกลุ่มใหญ่ ที่มีอาการร่วมกัน คือ
1. หลงผิด (Delusion) คือ ความผิดปกติของเนื้อหาความคิด เชื่อสิ่งที่ไม่เป็นจริง โดยการหลงผิดแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภทคือ หลงผิดในเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้ เช่น คิดว่ามีคนสะกดรอยตาม มีคนปองร้าย มีคนจะฆ่า คิดว่าคู่รักของตัวเองนอกใจ หรือมีชู้ คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ และหลงผิดในเรื่องที่แปลกประหลาดที่ดูเป็นไปไม่ได้ เช่น หลงผิดว่ามีไมโครชิพฝังอยู่ในศีรษะตัวเอง หลงผิดว่ามีความสามารถพิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ เป็นต้น
2. ประสาทหลอน (Hallucination) คือ ความผิดปกติของการรับรู้ รับรู้ในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ได้ยินเสียงของพระเจ้า มองเห็นคนที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง รู้สึกเหมือนมีตัวอะไรไต่ตามตัว รวมถึงได้กลิ่นหรือรับรสไปเอง โดยผู้ป่วยจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าสิ่งที่ตนรับรู้นั้นมีอยู่จริง
3. การแสดงออกทางอารมณ์ผิดปกติ (Abnormal affect) คือ การแสดงออกทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ดูไม่สมเหตุสมผล เช่น นั่งยิ้มคนเดียว หัวเราะคนเดียว อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรุนแรงผิดปกติ หรือไม่มีการแสดงออกทางอารมณ์เลย
4. การพูดที่ผิดปกติ (Disorganized speech) คือ ลักษณะการพูดที่ผิดแปลกไปจากคนปกติ เช่น การพูดประโยคต่อประโยคหรือคำต่อคำโดยไม่สัมพันธ์กัน การพูดคำต่อคำที่ผสมปนเปไปกันหมด การพูดโดยการตะโกนตลอดเวลาหรือพูดเบามาก ทำปากขมุบขมิบไม่มีเสียง ไม่ยอมพูด หรือการใช้ภาษาแปลกๆที่คิดขึ้นเอง
5. พฤติกรรมผิดปกติ (Disorganized behavior) คือ การแสดงออกพฤติกรรมผิดแปลกไปจากคนปกติ เช่น ยกมือไหว้ต้นไม้ ทำท่าร้องรำทำเพลง กระโดดตบมืออย่างไม่สมเหตุสมผล อยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน ยืนนิ่งหรือนั่งนิ่งนาน ๆ ไม่กระดุกกระดิก
6. พฤติกรรมตามปกติหายไป (Negative symptoms) คือ การทำพฤติกรรมที่ควรทำเป็นปกติในการดำเนินชีวิตประจำวันลดลงหรือหายไป เช่น ไม่ใส่ใจใยดีกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แยกตัวออกจากสังคม ไม่มีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่น ไม่มองหน้าคนอื่น เฉยชา ไม่กระตือรือร้น ไม่ทำกิจวัตรประจำวันที่ควรทำ
🔸 โรคจิตนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด แต่ละชนิดก็สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มอาการย่อย ๆ ลงไปได้อีก แต่ก็พอจะจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 6 กลุ่ม ดังนี้
1. โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคจิตประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป อาการของโรคจะเริ่มจากระยะอาการนำ ที่มักจะเกิดตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตนเอง ซึ่งระยะอาการนำกินเวลานานเป็นปีก่อนจะเข้าสู่ระยะโรคจิตเต็มขั้นที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในตนเองได้แล้ว
2. โรคจิตอารมณ์แปรปรวน (Schizoaffective Disorder) เป็นโรคที่มีอาการของโรคจิตและโรคทางอารมณ์เป็นอาการเด่น ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคใดโรคหนึ่งได้
3. โรคจิตหลงผิด (Delusional disorder) เดิมถูกเรียกว่าโรคจิตแบบหวาดระแวง โรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงผิดในเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้ นานอย่างน้อย 1 เดือน และอาการไม่เข้าตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจิตเภท โดยทั่วไปผู้ป่วยจะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และมักเริ่มมีอาการในขณะที่มีอายุค่อนข้างมากกว่าในผู้ป่วยโรคจิตเภท
1
4. โรคจิตชนิดเฉียบพลัน (Brief Psychotic Disorder) เป็นโรคที่มีอาการคล้ายกับโรคจิตเภทแต่แสดงอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยมีอาการนานตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป และมักจะหายภายในเวลา 1 เดือน และไม่มีอาการตกค้างหลังจากการรักษาแบบโรคจิตเภท
1
5. โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกาย (Organic Psychotic Disorders) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น สมองเสื่อม เนื้องอกในสมอง โรคซิฟิลิสขึ้นสมอง หรือสมองเสียหายจากอุบัติเหตุ อาการมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการประสาทหลอน เสียการรับรู้เวลา สถานที่ และบุคคล รวมทั้งความจำและเชาวน์ปัญญาเสื่อมลง
6. โรคจิตที่เกิดจากสารเสพติด (Substance-Induced Psychotic Disorder) เป็นโรคที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ทำให้สารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน หลงผิด รู้สึกหวาดระแวงและอาจคุ้มคลั่งทำร้ายตนเองและคนรอบข้างได้
🔸 แมวส้มต้องขอย้ำอีกครั้งนะครับว่าถ้าหากคุณผู้อ่านรู้สึกสงสัยว่าคนรอบข้างเป็นโรคจิต คุณผู้อ่านไม่ควรวินิจฉัยด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด สิ่งที่คุณผู้อ่านสามารถทำได้มีเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้มีเพียงคุณหมอเท่านั้นครับ
🔸 สุดท้ายนี้ แมวส้มอยากขอให้คุณผู้อ่านหลีกเลี่ยงการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับโรคจิต ไม่ใช้คำว่าโรคจิตเพื่อด่า แซว หรือบูลลี่ผู้อื่น เพราะมันทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย และทำร้ายตัวผู้ป่วยและคนใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่าที่เราคิดนะครับ
โฆษณา