24 ม.ค. 2023 เวลา 12:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

รู้จักที่มาของ Podcast และการก้าวสู่ตลาดไทย โดยคนไทย

ยุคนี้เป็นยุคที่ Podcast ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้งในไทยและต่างประเทศ เราจึงมีสิ่งที่น่าสนใจมาให้ได้อ่านกัน นั่นก็คือ ประวัติที่มาของ Podcast ว่ามีที่มาอย่างไรและเกิดขึ้นมาได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นของ Podcast
ในปี 2004 “Adam Curry” อดีต VJ ของ MTV ร่วมมือกับ “Dave Winer” ได้ร่วมมือกันหาวิธีพัฒนาระบบที่ทำให้สามารถดาวน์โหลดรายการวิทยุออนไลน์ได้เพื่อนำไปลงในอุปกรณ์ของ Apple ชื่อดังอย่าง iPod เพื่อนำไปฟังได้ทุกที่ (สมัยนั้นยังต้องดาวน์โหลดจากคอมพิวเตอร์เพื่อโอนถ่ายสู่ iPod) คุณ Winer ได้เขียนซอฟต์แวร์ RSS และ Curry ได้เขียนซอฟต์แวร์ iPodder ซึ่งสามารถแยกไฟล์เสียงที่อยู่ในฟีดข่าว RSS ทำให้โอนถ่ายไปยัง iPod ได้
ต่อมามีการเสนอการตั้งชื่อสิ่งที่ได้พัฒนาขึ้น โดยตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียกว่า “Audioblogging” เนื่องจากสื่อให้เห็นภาพว่า มันคือ Blog ในรูปแบบเสียง และมีการคิดชื่ออื่นอีกสองชื่อ แต่สุดท้ายก็ตกลงจะใช้ชื่อ “Podcast” เนื่องจากมันเป็นการผสมคำ ระหว่าง iPod กับ Broadcast นั่นเอง
ในเดือนตุลาคมปี 2004 ผู้ให้บริการ Podcast รายแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในชื่อ Libsyn.com มีนักข่าวได้เล่าข่าวในรูปแบบเสียงในแบบฉบับ Podcast ต่อมาในปี 2005 Podcast ได้รับความสนใจในอเมริกามากขึ้น มีผู้ผลิตรายการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จน New Oxford American Dictionary ยกให้คำว่า “Podcast” เป็นคำแห่งปี อีกทั้งมีหนังสือ “Podcasting: Do-It-Yourself Guide” สำหรับมือใหม่หัดทำ Podcast ออกมาด้วย
ในปีเดียวกัน Yahoo! เปิดหน้าเว็บสำหรับค้นหา Podcast โดยเฉพาะ และมีการตลาดบน Podcast เกิดขึ้น โดยที่รายการ Podcast ชื่อ ”Mommycast” ที่คุยเรื่องสุขภาพและโภชนาการโดยคุณแม่ ได้ลงนามกับแบรนด์ Dixie และแล้ว Apple ก็นำฟีเจอร์ Podcast มาใส่ใน iTunes เวอร์ชั่น 4.9 จนได้ และได้สาธิตการใช้โปรแกรม Garageband ในการสร้างสรรค์การผลิต Podcast และรายการวิทยุชื่อดังในอเมริกา “This American Life” ก็ได้โดดลงมาทำเวอร์ชั่น Podcast
ความนิยมที่มากขึ้นของ Podcast
ในปี 2007 Podcast นิยมมากขึ้นเป็นวงกว้างในอเมริกา และนักแสดงตลกชาวอังกฤษ Ricky Gervais ได้ทำลายสถิติกินเนสส์ว่า Podcast ของเขามีการดาวน์โหลดมากที่สุด แม้ภายหลังถูกแทนที่โดย Adam Carolla เนื่องจาก Podcast ของเขาชื่อ The Adam Carolla Show ได้รับการดาวน์โหลดที่ไม่ซ้ำกัน 59 ล้านครั้ง
และ Podcast ก็เริ่มนำไปสู่อุปกรณ์อื่น และมีการปล่อยให้ดาวน์โหลดในรูปแบบไฟล์เสียงปกติบนหน้าเว็บอย่างไฟล์ MP3 เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตรายการบางรายอย่าง TWIT เรียกตัวเองว่า Netcasts แทน เพื่อให้ไม่ติดภาพอุปกรณ์ Apple iPod (ปัจจุบันกลับมาเรียกตัวเองว่า Podcast แล้ว)
นักเขียน Nicholas Quah ตั้งข้อสังเกตว่า ” การฟังยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังระหว่างปี 2008 ถึง 2010 และมีบริษัทสื่อลงมาเล่นตลาดนี้มากขึ้น จนแซงหน้า Podcast รายเล็กในชั่วขณะหนึ่ง
และเมื่อ iPhone ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งก็มีคุณสมบัติการฟัง Podcast ในตัว ต่อมาก็มีการใส่แอป Podcast แยกมาพร้อมกับเครื่องในปี 2012 และยุคที่อินเทอร์เน็ตแรงขึ้น เน็ตมือถือใช้งานได้สะดวกขึ้น ก็มีการนำระบบสตรีมมิ่ง แต่ไม่ใช่รายการสดนะครับ (ซึ่งตอนนั้นมีการใช้กับวิดีโออย่าง YouTube อยู่แล้ว) มาใช้กับ Podcast เพื่อให้ผู้ใช้สามารถฟังได้ทันทีออนไลน์ โดยไม่ต้องรอโหลดจนครบมาเก็บไว้ในเครื่องก่อน
ผู้ให้บริการ Podcast Streaming มีเพิ่มขึ้นมากมาย แม้กระทั่งสตรีมมิ่งเพลงต่าง ๆ เช่น Spotify ก็ลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย และเริ่มได้มี Video Podcast เกิดขึ้น ฟังก็ได้ ดูก็ดี เริ่มมีภาพบรรยกาศการจัดรายการมาให้ชมด้วย จำนวนผู้ฟัง Podcast รายเดือนในอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 5 ปีหลังปี 2014 จากประมาณ 39 ล้านคนเป็น 90 ล้านคนโดยประมาณ ภายในปี 2019 มีรายงานว่าผู้คน 165 ล้านคนฟัง Podcast และชาวอเมริกัน 90 ล้านคนฟัง Podcast ทุกเดือน
ในปี 2019 Spotify ได้ซื้อสตูดิโอพอดคาสต์รายใหญ่ Gimlet Media ซื้อแพลตฟอร์มการสร้าง Podcast ชื่อ Anchor และซื้อบริษัทผลิต Podcast ชื่อ Parcast
และ Podcast ไทยละ ใครคือเจ้าแรก เริ่มต้นเมื่อไหร่ ?
ตรงนี้หลายท่านอาจยังไม่ทราบว่า แล้ว Podcast ไทยรายแรกคือรายการอะไร และเริ่มต้นเมื่อไหร่ ? เราจึงไปสืบค้นข้อมูลมา (จริง ๆ ตัวผู้เขียนเองพอจะจำได้ว่าเป็นรายนี้ แต่หาข้อมูลมายืนยันซึ่งก็ตรงกับที่ผมจำได้เลย) Podcast รายแรกของไทยคือ “รายการช่างคุย (Changkhui)” โดยผู้ดำเนินรายการคือ ภาสร หงส์หยก ใช้เวลาว่างจัด Podcast เรื่องเทคโนโลยีที่ตนเองสนใจ เริ่มครั้งแรก 20 สิงหาคม 2549 และต่อมาขยายไปเรื่องอื่น ๆ ด้วย แตกรายการย่อย สุดท้ายเหลือแค่รายการหลักคือ ช่างคุย รายการเดียว
การเผยแพร่เริ่มจากใช้ไฟล์เสียงธรรมดา ลงไว้ในเว็บ Siampod ของตัวเองเพื่อให้ดาวน์โหลด (ภายหลังมีเว็บของรายการเอง) และมีการไปโพสต์ใน Pantip ปัจจุบันรายการนี้ไม่มีการผลิตแล้ว แต่ยังมีการจดโดเมนเว็บ www.changkhui.com ไว้ อยู่แล้วโพสต์ไว้ว่าเตรียมลงรายการเก่า ๆ แต่ยังไม่มีการอัปเดตอะไร ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นที่มาในช่วงปี 2555-2558 ก็มี Witcast (วิทย์แคส) Podcast สายวิทยาศาสตร์ฟังสนุกฮา ซึ่งปัจจุบันก็ยังดำเนินรายการอยู่
ความนิยมในไทย
ระยะแรก ๆ ก็เป็นสิ่งที่คนเฉพาะกลุ่มสนใจ เช่นสนใจเรื่องไหน ก็ฟังเรื่องนั้น และยังถือว่าเป็นวงแคบ ต้องเป็นคนสายเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ จน Podcast ไทยเริ่มได้รับความนิยมเป็นวงกว้างในช่วงปี 2558-2559 ที่มีบริษัทสื่อรายใหญ่เริ่มมาลงสนามนี้ อย่างเช่น The Momentum ได้ยกระดับโปรดักชั่นให้ฟังง่าย สนุก คุณภาพเสียงการบันทึกดี มีการหาสปอนเซอร์จริงจัง คอนเทนท์มีความหลากหลายและแมสมากขึ้น ใช้สื่อ Social Media ในการโปรโมท
บางรายเล็กก็ตั้งบริษัทแต่บางรายยังทำในนามบุคคลอยู่ และหลังปีดังกล่าวสื่อรายใหญ่รายอื่น รวมถึงสื่อเดิมอย่างวิทยุก็ลงมาเล่นตลาดนี้กันมากขึ้น ทำให้รายเล็กหลายรายบางรายก็ปรับตัว ยกระดับโปรดักชั่น ขยายรายการเพิ่มจนเพิ่มฐานคนฟังได้มาก แต่ก็มีบางรายที่ตัดสินใจเลิกทำไปเช่นกัน
เรียบเรียงโดย ณัชธนัท จุโฬทก
The Track - Read Now, Growth Now.
Contact: thetrackth@gmail.com / #TheTrackTH
โฆษณา