31 ม.ค. 2023 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี

จากการประมาณการของธนาคารกลางเกาหลีใต้ พบว่า เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้จะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ซึ่งตัวเลขหดตัวในครั้งนี้ อาจมีส่วนช่วยให้ธนาคารหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
คุณ รี ชาง-ยง ผู้ว่าการธนาคารกลางขอเกาหลีใต้ ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะหดตัวเมื่อเขาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดอีก 25 basis points
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ทำให้ตลาดคาดการณ์กันว่าจะเป็นจุดสิ้นสุดของวงจรการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอ
GDP ของเกาหลีใต้ลดลง 0.4% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ซึ่งการหดตัวในครั้งนี้เป็นผลมาจากการลดลงของ 2 ตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การบริโภคภาคเอกชน และ การส่งออก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ก็พบว่า GDP ลดลงในไตรมาสสุดท้าย เพราะว่า การบริโภคของภาคเอกชนลดลง 0.4% การหดตัวในภาคการผลิต 4.1% รวมกับการส่งออกที่หดตัวตัวถึง 5.6% จากความต้องการในสินค้าส่งออกสำคัญ ๆ อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ และ สินค้าเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน จากการที่ต้องนำเข้าสินค้าประเภทน้ำมันและอาหาร
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงทั่วโลก ทำให้บริษัทหยุดการลงทุน กระทบไปยังความต้องการสินค้าจากเกาหลีใต้ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และ เหล็ก
การหดตัวในไตรมาสสุดท้ายนี้ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่ได้รับผลกระทบจาก อัตราเงินเฟ้อ และ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ยิ่งไปกว่านั้น หากในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวอีกครั้ง
อาจส่งผลให้เกาหลีใต้ เข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ GDP ของเกาหลีใต้จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากการเปิดประเทศของจีน
คุณ Goohoon Kwon นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Goldman Sachs ให้ความเห็นว่า
เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน
ซึ่งการเปิดประเทศในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับเกาหลีใต้อย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการหยุดชะงักของอุปทานที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน
ซึ่งทำให้อุปสงค์ชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงอย่างมาก
นอกจากนี้ คุณ Goohoon Kwon ยังคาดการณ์อีกว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะขยายตัวในไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจากจีนกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง การแบกภาระการใช้จ่ายด้านการคลังไว้ล่วงหน้า และวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกำลังจะสิ้นสุดลง
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ย จากการที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใส อาจทำให้ธนาคารกลางต้องชะลอการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด
โดยครั้งล่าสุดที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ราคาสินค้าคงที่ เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูง และ ความจำเป็นที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยให้เท่าทันธนาคารกลางสหรัฐ เพื่อ ป้องกันเงินทุนต่างประเทศไหลออก และรักษาเสถียรภาพเงินสกุลวอน อาจจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงยังส่งผลให้ตลาดสินเชื่อของเกาหลีตึงเครียด การผิดนัดชำระหนี้
ความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอย เนื่องจากราคาบ้านที่ลดลงก็ยังเป็นอีกหนึ่งความกังวลสำหรับผู้กำหนดนโยบาย
เกาหลีใต้จะสนับสนุนผู้ส่งออกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลังจากที่เกาหลีใต้รายงานภาวะเศรษฐกิจหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
ซึ่งการหดตัวในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงประกอบกับความเสี่ยงที่ประเทศจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญสูงสุดในการสนับสนุนผู้ส่งออก
โดย รัฐบาลจะมุ่งเน้นด้านนโยบายกระตุ้นการส่งออกและการลงทุนอีกครั้ง เช่น การยกเลิกกฎระเบียบ การเสนอการสนับสนุนด้านภาษีและการเงินเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออก
นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของเกาหลีอย่างมากในปีที่แล้วจะผ่อนคลายลงเนื่องจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของจีน
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีความกังวลบางส่วนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มมาตรการควบคุมของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนเกี่ยวกับการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากเกาหลีมีโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่ในจีน
สุดท้ายนี้ ในปี 2022 ธนาคารกลางแห่งประเทศเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% จากปีก่อนหน้า
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา