11 เม.ย. 2023 เวลา 01:47 • ประวัติศาสตร์

สังคายนา...เชื่อมกาลสานธรรม

ใกล้รุ่งของคืนวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ณ สาลวโนทยานสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ยังความเศร้าเสียใจให้แก่เหล่าพุทธบริษัท ๔ ทว่ากลับมีภิกษุนามว่าพระสุภัททะได้กล่าวจาบจ้วงดูหมิ่นพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้พระมหากัสสปะเถระเรียกประชุมสงฆ์เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์หลังพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน
ถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์
อีกร้อยปีต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๐ ได้เกิดกรณีพิพาทเมื่อภิกษุวัชชีบุตรเมืองไพศาลีได้บัญญัติและประพฤติตามวัตถุ ๑๐ ประการ ซึ่งขัดต่อพุทธบัญญัติจึงเป็นเหตุให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ ขึ้น
ถัดมาอีกร้อยกว่าปี ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาทำให้มีเดียรถีย์จำนวนมากปลอมเข้ามาบวชเพื่อหวังลาภสักการะ เป็นเหตุให้พระเจ้าอโศกมหาราชเห็นภัยที่เกิดขึ้น จึงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาครั้งที่ ๓ ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร
วาลิการาม เมืองเวสาลี และวัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร สถานที่กระทำสังคายนาครั้งที่ ๒ และ ๓
การสังคายนา ๓ ครั้งดังกล่าว ณ ดินแดนชมพูทวีปเป็นที่ยอมรับตรงกันของนักวิชาการและพระภิกษุในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ไทย พม่า และศรีลังกา แต่วิธีนับสังคายนาตั้งแต่ครั้งที่ ๔ เป็นต้นไปของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
เนื่องมาจากภายหลังการสังคายนาครั้งที่ ๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณฑูตจำนวน ๙ สาย ออกเผยแผ่ ปักหลักพระพุทธศาสนายังดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดการชำระพระธรรมคำสอนเฉพาะในดินแดนของตนในกาลต่อมา
พระเจ้าอโศกทรงเป็นองค์อุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๓ มีพระโมคคลีบุตรติสสะเถระเป็นประธานสงฆ์ / Cr : Anandajoti (ภาพ)
สำหรับประเทศไทยนับการสังคายนา ๓ ครั้งแรกที่ชมพูทวีปเช่นเดียวกับประเทศพม่าและศรีลังกา แต่เริ่มนับการสังคายนา ณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ เกาะลังกา พ.ศ. ๒๓๘ มีพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมถ์เป็นสังคายนาครั้งที่ ๔
การสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่ปฐมสังคายนาจนถึงสังคายนาครั้งที่ ๔ นี้ เป็นลักษณะท่องสวดแบบปากเปล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัยปฐมสังคายนา โดยศิษย์สายพระอุบาลีทรงจำพระวินัยปิฎก ศิษย์สายพระอานนท์ทรงจำพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกสืบกันมาโดยมิได้ขาดสาย
พระอานนท์ได้กล่าวต่อคณะสงฆ์ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ว่า “เอวัมเม สุตัง” แปลว่าข้าพเจ้า (คือพระอานนท์เถระ) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ / Cr : Anandajoti (ภาพ)
จนกระทั่งการสังคายนาครั้งที่ ๕ ราวพ.ศ. ๔๐๐ เศษ ได้มีการจารจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนใบลานเป็นครั้งแรก ณ อาโลกเลนสถาน ในลังกาทวีป
นับจากนั้นวิธีสืบทอดพระไตรปิฎกในเกาะลังกา คือ การสังคายนาครั้งที่ ๖ และ ๗ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจารจารึกลงในคัมภีร์ใบลาน และธรรมเนียมการสืบทอดพุทธธรรมบนแผ่นใบลานนี้ได้ขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ
ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๘ ซึ่งนับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในแผ่นดินไทย พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งล้านนาทรงโปรดฯ ให้จารพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรธรรมล้านนาลงบนแผ่นลาน เพื่อชำระคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วิปลาสคลาดเคลื่อนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
สังคายนาครั้งที่ ๘ กระทำเมื่อพ.ศ. ๒๐๒๐ ณ วัดโพธาราม เมืองเชียงใหม่
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดให้จารจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นลานด้วยอักษรขอม เมื่อคราวกระทำสังคายนาครั้งที่ ๙ ณ กรุงเทพมหานคร วิธีสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ ๕ จนถึงครั้งที่ ๙ นี้ จึงเป็นแบบการจารจารึกลงบนแผ่นลานทั้งสิ้น
Cr : หนังสือวิวัฒน์การอ่านไทย (พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่)
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เจริญก้าวหน้าวิธีสืบทอดพุทธธรรมจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๑๐ ทรงมีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มแบบฝรั่งมี ๓๙ เล่ม
พระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๒ เป็นพระไตรปิฎกพิมพ์ชุดแรกของโลก
และต่อมาเมื่อมีการสังคายนาครั้งที่ ๑๑ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ได้พิมพ์พระไตรปิฎกเพิ่มอีก ๖ เล่มจนครบ ๔๕ เล่มในหนึ่งชุด
นับแต่หลังพุทธปรินิพพานเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบันการสังคายนาแต่ละยุคสมัยมีรูปแบบการสืบทอดแตกต่างกันไป ทั้งแบบมุขปาฐะ การจารจารึก และพิมพ์เป็นหนังสือ เพื่อสืบทอดธำรงและเชื่อมคำสอนครั้งพุทธกาลให้ส่งผ่านกาลเวลามาสู่เราชาวพุทธในปัจจุบันให้คำสอนนั้นเป็นแสงนำทางในการดำรงชีวิตของเราต่อไปตราบนานเท่านาน
ติดตามความรู้เนื้อหาสาระดีๆ ได้ที่
โฆษณา