3 ก.พ. 2023 เวลา 14:33 • สิ่งแวดล้อม

วิกฤติฝุ่น PM2.5ในกรุงเทพและภาคกลางของไทย

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุ FM. 96 Mhz. ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเกิดวิกฤติฝุ่น PM2.5ในกรุงเทพและภาคกลางของไทย
ว่า …ฝุ่นนี้ส่วนหลักๆ คือฝุ่นจากการเผาไร่ในกัมพูชาที่ลมตะวันออกพัดพาข้ามมาผสมเข้ากับฝุ่นจากเครื่องยนต์ดีเซลที่มีอยู่ในเมืองและการเผาในที่โล่งในพืชไร่และการเผาวัชพืช ทั้งที่เผาในภาคตะวันตกแถบราชบุรี กาญจนบุรีแล้วจะค่อยๆ ไล่ขึ้นเหนือไป
ทางแก้ไขที่พึงทำคือ รัฐบาลแบ่งงานแต่ละรองนายกฯให้กำกับแต่ละภาคของไทยอยู่แล้ว หากทุกภาคของไทยจะมีตำแหน่ง ‘’มิสเตอร์ฝุ่น’’ เพื่อติดตามข้อมูลจากดาวเทียม ซึ่งมีหลายดวง เพื่ออ่านผลเรื่อง ‘’จุดความร้อนจากการเผา ‘’ และอ่านทิศทาง ‘’ลม’’พัด ได้ต่อเนื่อง เก็บสถิติย้อนหลังตลอดหลายปีมาเทียบกัน เราก็จะสามารถระบุต้นตอของฝุ่นที่ดาวเทียมอ่านได้ในทุกพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จะได้เร่งแก้ที่ต้นเหตุ
รวมทั้งควรแปลภาพดาวเทียมเป็นภาษาของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งให้ผู้บริหารของแต่ละแขวงแต่ละเขตของประเทศเพื่อนบ้านได้ทราบการบันทึกจากดาวเทียมเหล่านี้เรื่อยๆ ทั้งนี้เพื่อให้เห็นได้ร่วมกันว่า ลมเปลี่ยนทิศแต่ละครั้งก็จะนำฝุ่นจากเราไปถึงเขาและจากเขามาถึงเราได้ สุขภาพของประชาชนทั้งอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงพึ่งพากันและกันเสมอ
ปัญหาของไทยต่างจากกรณีการแก้ปัญหาอากาศเป็นพิษที่ปักกิ่ง เพราะปักกิ่งรับควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อทางการจีนทยอยเปลี่ยนแหล่งพลังงานได้สำเร็จ ปัญหามลพิษทางอากาศของปักกิ่งก็คลี่คลายไป
แต่ของลุ่มน้ำโขงคือไฟในป่าเบญจพรรณและไฟที่จุดเพื่อทำลายตอซังของพืชไร่ และใบอ้อยเป็นส่วนมาก
การเปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูกพืชไร่ร่วมกันทั้งภูมิภาคเท่านั้นจึงจะคลี่คลายปัญหาเรื่องฝุ่นควันที่บัดนี้ใหญ่เกินผู้บริหารเมือง ผู้บริหารประเทศหนึ่งประเทศใดจะแก้ไขเองได้
รับชมย้อนหลัง :
โฆษณา