7 ก.พ. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิป้องกันโควิด-19 ชนิดไบวาเลนต์ หรือไม่

ในปี พ.ศ. 2566 ข่าวคราวเรื่องไวรัสโควิด-19 ดูเหมือนจะซาลง ไม่ค่อยได้ยินข่าวการแพร่ระบาดหรือความรุนแรงของเชื้อมากเท่าไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมีความรุนแรงน้อย เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ผ่านมา และผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกันมากขึ้น และที่สำคัญนานาประเทศ ได้เปิดประเทศกันเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะล่าสุดประเทศจีนที่ตอนแรกดำเนินนโยบายซีโร่โควิดอย่างแข็งขันเปลี่ยนมาเป็นนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งสื่อมวลชนต่าง ๆ ได้ลดความสำคัญของข่าวคราวโควิดนี้ลง
ถึงกระนั้น จากสถิติล่าสุด ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อราว 3000 คนต่อวัน รักษาอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 800 กว่าราย และเสียชีวิต 30 คนต่อวัน จะเห็นว่าแม้ว่าจะไม่ได้มีผู้เสียชีวิตเป็นหลักร้อยเหมือนในสมัยที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าระบาด แต่ก็ยังมีความสูญเสียเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้ที่อายุมากและมีโรคประจำตัวหลายโรค
เมื่อปลายปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาทางบริษัทไฟเซอร์และโมเดิร์นน่า ได้ออกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวใหม่ วัคซีนกระตุ้นภูมิป้องกันไวรัสโควิดชนิดไบวาเลนต์ (Bivalent Boosters) สำหรับเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน BA.4.6 BA.5 BQ1 และ BQ1.1 รวมถึงสายพันธุ์ดั้งเดิม และได้เริ่มฉีดในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2565 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่า ประสิทธิผลของวัคซีนตัวใหม่นี้เป็นอย่างไร
จากข้อมูลทางการแพทย์จากวารสาร New England Journal of Medicine ต้นปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ตีพิมพ์ผลวิจัยศึกษาติดตามประสิทธิผลของการฉีดกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดใหม่ไบวาเลนต์เปรียบเทียบกับการกระตุ้นภูมิด้วยวัคซีนตัวเก่าโมโนวาเลนต์ (Monovalant booster) มีผู้ที่ได้รับวัคซีนตัวใหม่ราว 1 ล้านราย และตัวเก่า 6 ล้านราย
ผลวิจัยพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนจะสูงสุดหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์และจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง โดยพบว่าวัคซีนตัวใหม่มีประสิทธิผล (Vaccine effectiveness) ในการป้องกันความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 58.7 ในขณะที่วัคซีนตัวเก่ามีประสิทธิผลเพียงร้อยละ 25.2
นอกจากนี้วัคซีนไบวาเลนต์มีประสิทธิผลป้องกันความเสี่ยงจากการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 61.8 ในขณะที่วัคซีนโมโนวาเลนต์ตัวเก่ามีประสิทธิผลเพียงร้อยละ 24.9 ส่วนผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนทั้งสองตัวไม่แตกต่างกัน (มีความปลอดภัยสูงนั่นเอง)
ดังนั้นแล้วการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดไบวาเลนต์นั้นมีประสิทธิผลสูงกว่าวัคซีนตัวเก่า (แน่นอนมีประสิทธิผลกว่าการไม่ฉีดอะไรเลยแน่ ๆ) ด้วยประสิทธิผลของการป้องกันความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ดีและผลข้างเคียงที่ต่ำ
แนะนำว่า ถ้าวัคซีนไบวาเลนต์นี้ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย คาดว่าน่าจะเป็นเดือนมีนาคม 2566 นี้ เราควรไปฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว (วัคซีนไบวาเลนต์นี้รับรองในคนอายุ 12 ปี เป็นต้นไป ยังไม่มีงานวิจัยถึงประสิทธิผลในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ข้อมูลต้นปี พ.ศ. 2566)
อ้างอิง
Lin DY, Xu Y, Gu Y, Zeng D, Wheeler B, Young H, Sunny SK, Moore Z. Effectiveness of Bivalent Boosters against Severe Omicron Infection. N Engl J Med. 2023 Jan 25. doi: 10.1056/NEJMc2215471. Epub ahead of print. PMID: 36734847.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา