17 ก.พ. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ออกกำลังกายหนักไป อาจไม่ดีต่อสุขภาพ

พออ่านหัวข้อแล้ว ผู้อ่านอาจรู้สึกประหลาดใจว่า การออกกำลังกายที่หน่วยงานทางสุขภาพต่าง ๆ รณรงค์ สนับสนุน เพื่อสุขภาพกายที่ดี หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง มันแย่จริงหรือ ทำไมมันจะไม่ดีต่อสุขภาพนะ
อย่าพึ่งตกใจและหยุดออกกำลังกายนะครับ การออกกำลังกายทั่ว ๆ ไปนั้นดีต่อสุขภาพ ดีต่อหัวใจและหลอดเลือดแน่ ๆ แต่การออกกำลังกายที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือ “การออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง” (very vigorous intensity exercise) อาจไม่ดีต่อสุขภาพอย่างที่คิด
ข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยในวารสารทางการแพทย์ Circulation ตีพิมพ์ ปีพ.ศ. 2566 นี้ ศึกษาติดตามนักกีฬาที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อายุเฉลี่ย 54 ปี ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการตรวจวัดแคลเซียมที่เกาะผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ (หลอดเลือดแดงเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) ซด้วยวิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามีแคลเซียมเกาะปริมาณมากบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
งานวิจัยติดตามผู้เข้าร่วมไปเฉลี่ยราว 6.3 ปี เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียมที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจอย่างไร และนำมาวิเคราะห์เทียบกับความหนักของการออกกำลังกาย (exercise intensity) ว่าสัมพันธ์กันหรือไม่
ก่อนไปที่ผลวิจัย ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหนักของการออกกำลังกาย (exercise intensity) ในงานวิจัยนี้ ใช้ METs (Metabolic equivalent) เป็นตัวบอกความหนัก ซึ่ง ค่าMETs คือ หน่วยของพลังงานที่ใช้ในการเคลื่อนไหวออกแรง/ออกกําลังกาย โดยเปรียบเทียบกับพลังงานที่ใช้ในขณะพักซึ่ง กําหนดให้มีค่าเท่ากับ 1 (1 MET = 1 Kcal / kg / hr ≈ Oxygen consumption rate 3.5 ml / kg / min)
ตัวอย่างเช่น
นั่งบนชักโครกใช้พลังงาน 1 MET
ยืนอาบน้ำ ใช้พลังงาน 2 METs
เล่นโบว์ลิ่ง ใช้พลังงาน 3 METs
ทำงานบ้านหลายอย่าง 4 METs
ถีบจักรยานล้อเดียว 5 METs
เดินสลับวิ่งเหยาะ 6 METs
วิ่งเหยาะ ๆ 7 METs
วิ่ง pace 12 นาทีต่อ 1 ไมล์ 8 METs
เล่นอเมริกันฟุตบอล 9 METs
เล่นยูโด คาราเต้ หรือมวยไทย 10 METs
ว่ายน้ำท่าผีเสื้อ 11 METs
1
ผลวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมที่ออกกำลังกายหนักหน่วง (very vigorous intensity exercise) หรือออกกำลังกายหนักตั้งแต่ระดับ 9 METs ขึ้นไป (เช่นวิ่งเร็วต่ำกว่า pace 8 นาทีต่อไมล์ วิ่งครอสคันทรี่ เล่นฟุตบอล) โดยเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของการออกกำลังกายทั้งหมด พบว่า สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของแคลเซียมที่เกาะผนังหลอดเลือดหัวใจ ส่วนการออกกำลังกายที่หนักน้อยกว่า (6-8.9 METs) สัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือดหัวใจที่ต่ำกว่า
ผู้วิจัยอธิบาว่า การออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงนั้น จะเพิ่มสารแคทีคอลามีน (catecholamines) เช่น อดรีนาลีน นอร์อดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดในระดับสูงมาก ส่งผลทำให้หัวใจบีบตัวอย่างหนัก ทำให้หลอดเลือดหัวใจได้รับแรงกระแทกและได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังกระตุ้นการอักเสบภายในหลอดเลือด ทำให้มีแคลเซียมมาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งผิดปกติ
อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นงานศึกษาขนาดเล็ก ทำเฉพาะในชาวเนเธอร์แลนด์ และยังไม่มีการวัดผลทางคลินิกอื่น ๆ เช่น อัตราการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงไม่สามารถสรุปได้ชัดว่า ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงนั่นส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
มาถึงตรงนี้แล้ว ระหว่างที่รอผลวิจัยเพิ่มเติม ว่าออกกำลังกายหนักไป อาจไม่ดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ เรายังสบายใจได้ครับ ขอให้ออกกำลังกายกันต่อไป
แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงมาก ๆ บ่อยครั้ง อาจลองปรับการออกกำลังกายให้หลากหลายมากขึ้น มีทั้งหนัก ทั้งเบา หรือจะออกแบบปานกลางตามทางสายกลางไว้ก่อนก็ดีครับ
(ในงานวิจัยนี้ ไม่ได้นำคนที่ไม่ออกกำลังกายมาเทียบครับ อย่าเหมารวมว่าออกกำลังกายหนักจะแย่กว่าไม่ออกกำลังกาย เพราะจริง ๆ แล้วมีงานวิจัยอื่น ๆ ยืนยันว่า ออกกำลังนั้นดีต่อสุขภาพมากกว่าไม่ออกกำลังกายครับ อ่านเพิ่มเติม https://www.blockdit.com/posts/62b2c6fd7512a71902a48e0b และ https://www.blockdit.com/posts/62fad720c87045db090934cc)
อ้างอิง
Aengevaeren VL et al. Exercise volume versus intensity and the progression of coronary atherosclerosis in middle-aged and older athletes: Findings from the MARC-2 study. Circulation 2023 Jan 4; [e-pub].
โฆษณา