9 ก.พ. 2023 เวลา 05:00 • การเมือง

นโยบายค่าแรง คิดใหญ่หรือขายฝัน

จากการที่มีพรรคการเมืองเปิดตัวนโยบายการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ จำนวน ๖๐๐ บาท ภายในปี ๒๕๗๐ ภายหลังจากการประกาศนโยบายดังกล่าวก็เกิดกระแสความคิดเห็นอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐ พรรคการเมือง นักวิชาการ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ พนักงานลูกจ้าง กระแสความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ต่างมีคำถามว่าการขึ้นค่าแรงงานจะทำได้จริงหรือและจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการอย่างไร
โอกาสนี้ วารสาร “สารวุฒิสภา” ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ของพลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ประเด็น “นโยบายค่าแรง คิดใหญ่หรือขายฝัน” มาให้ความรู้แลกเปลี่ยนความคิดสะท้อนมุมมองผ่านทางรายการทันข่าววุฒิสภา จากเพจ Facebook วุฒิสภา นำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบ ดังนี้
พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
Q : จากการที่พรรคการเมืองได้เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำจำนวน ๖๐๐ บาท ภายในปี ๒๕๗๐ ซึ่งเรื่องนี้มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่ท่านดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
A : ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และอีกตำแหน่งหนึ่งคือ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา นั้น มีหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย แรงงานไทยในต่างประเทศ ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ การให้สวัสดิการการประกันสังคม ความปลอดภัยในการทำงาน อาชีวอนามัย การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแรงงานอย่างยั่งยืน
รวมทั้งประสานกับองค์กรภายในประเทศ ต่างประเทศ ประชาคมภายในประเทศ และนานาชาติเกี่ยวกับงานด้านแรงงาน พิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผมเห็นว่าการขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม อย่างน้อยก็คือกลุ่มนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่จะจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงาน กลุ่มลูกจ้างซึ่งจะต้องได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับงานที่ทำ และรัฐบาลโดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งบังคับใช้กฎหมายที่กำกับดูแลเรื่องอัตราค่าจ้างที่ควรจะเป็น
ดังนั้น ทุกกลุ่มจึงต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ องค์กรใดหรือพรรคการเมืองใดจะประกาศนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอัตราค่าจ้างแรงงาน ควรจะต้องระมัดระวังโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ทั้งในข้อกฎหมาย ความต้องการและความพร้อมของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆเหล่านี้ด้วย
Q : การที่พรรคการเมืองประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเพื่อหาเสียง ท่านมองว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง
A : ข้อดี คงจะชัดเจนว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้รับความนิยม ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่ม ข้อเสีย คือ อาจเสียคะแนนเสียงหรือความนิยมจากบางกลุ่มเช่นกัน นอกจากนั้น หากมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศจริง แต่ไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้ตามที่หาเสียงไว้เพราะติดขัดด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็อาจจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองนั้นต้องเสียคะแนนความนิยมมากขึ้นไปอีก
การประกาศนโยบายของพรรคการเมืองและการชูประเด็นในการหาเสียงเลือกตั้งของนักการเมืองนั้น ต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมายสำคัญ ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น กำหนดชัดเจนในมาตรา ๕๗ ว่า การประกาศนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้นำเงินงบประมาณแผ่นดินมาบริหารจัดการต้องพิจารณาความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ และคำนึงถึงความเสี่ยง
เมื่อพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สิ่งที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้ย่อมผูกพันพรรคการเมืองนั้นติดเข้ามาในรัฐสภาด้วย หากทำไม่ได้ตามที่หาเสียงหรือประกาศเป็นนโยบายไว้ ก็ย่อมจะส่งผลเสียต่อพรรคการเมืองเหล่านั้นด้วย
Q : กลไกการกำหนดนโยบายขึ้นค่าแรงงานของไทยในปัจจุบันมีกระบวนการอย่างไรบ้าง
A : ค่าแรงงานของประเทศไทยแบ่งตามประเภทแรงงานได้สองส่วนใหญ่ ๆคือ แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ในที่นี้ ขอกล่าวถึงแรงงานในระบบซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์การได้มาของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดไว้ในหมวด ๖ ว่าการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้แทนจากองค์กรผู้มีส่วนได้เสียทั้ง ๓ ฝ่าย
ได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ ๕ คนเท่ากันรวม ๑๕ คนเรียกว่า “ไตรภาคี” โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานกรรมการ และมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนกลุ่มนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ ๕ คน รวม ๑๕ คน ระบบไตรภาคีนี้ ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการพิจารณากำหนดอัดราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะนำไปสู่การขึ้นค่าแรงงานมากน้อยเพียงใด โดยในมาตรา ๘๗ และมาตรา ๘๘ กำหนดชัดเจนว่าในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสิ้น ๙ ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบที่จะได้มาซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เหล่านี้คือกระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย ซึ่งถือกลไกการกำหนดนโยบายขึ้นค่าแรงงานของไทยที่ถูกต้องในปัจจุบัน
Q : เมื่อเปรียบเทียบผลิตภาพแรงงานไทยโดยรวมและเงินเฟ้อที่สะท้อนถึงค่าครองชีพค่าแรงงานขั้นต่ำ ท่านคิดว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
A : ในส่วนของค่าครองชีพและค่าแรงงานของประเทศไทย คณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ก็ได้มีการติดตามมาโดยตลอด พร้อมทั้งประชุมหารือร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลจากกระทรวงแรงงานว่าตัวเลขผู้ว่างงานในประเทศไทยปัจจุบันมีประมาณ ๔.๖๓ แสนคน คิดเป็นอัตราผู้ว่างงานร้อยละ ๑.๒ ซึ่งถือว่าต่ำ เพราะโดยปกติใช้เกณฑ์ตัวเลขอัตราผู้ว่างงานไม่ควรเกินร้อยละ ๓ สะท้อนให้เห็นว่ามีความสมดุลในระดับหนึ่ง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านการพิจารณาของไตรภาคีให้สมดุลระหว่างผลิตภาพของแรงงานและอัตราเงินเฟ้อนั้น
จะบังคับใช้อยู่ในแรงงานในระบบซึ่งขณะนี้มีจำนวนประมาณ ๑๑.๔๘ ล้านคน และมีผลต่อเนื่องเทียบเคียงไปยังแรงงานนอกระบบจำนวนประมาณ ๑๙.๖ ล้านคนด้วย ซึ่งก็มองว่าระบบการกำหนดค่าแรงงานขั้นต่ำของไทยนั้นมีความเหมาะสมและสมดุลระหว่างผลิตภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ และที่สำคัญคือมีการทบทวนปรับปรุงแก้ไขโดยองค์กรไตรภาคีและประกาศเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจตลอดเวลา จึงเห็นว่าระบบนี้มีความเหมาะสมอยู่แล้ว
Q : มีข้อกังวลว่าการขึ้นค่าแรงงานจะไปกระทบต่อกับผู้ประกอบการซึ่งอาจจะไม่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ ท่านมองประเด็นนี้อย่างไรบ้าง
A : การขึ้นค่าแรงงานจะนำไปสู่ผลกระทบกับผู้ประกอบการก็เป็นสาระสำคัญที่คณะกรรมการระบบไตรภาคี ตลอดจนรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาร่วมกัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ พบว่าบางประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าการจ้างในประเทศไทย
ดังนั้น หากประเทศไทยจะขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่าประเทศอื่นจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะค่าจ้างแรงงานถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบกิจการในประเทศไทย
Q : ปัญหาหลักของแรงงานไทยที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อที่จะพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต้องพัฒนานโยบายใดเพื่อที่จะให้การพัฒนาประสบผลสำเร็จ
A : ผมมองว่าบ้านเราคงต้องพัฒนาด้านการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง ซึ่งอัตราค่าจ้างแรงงานประเภทนี้ย่อมสูงว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับแรงงานทั่วไปที่ไม่มีทักษะในการปฏิบัติงานมาก่อนหรือเป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำที่เรียกกันทั่วไปว่างาน 3D ซึ่งเป็นลักษณะงานที่พบว่าเป็นแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำแทนคนไทยมากพอสมควร การที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะสูงก็ควรพิจารณาตลาดแรงงานและผู้ผลิตให้สอดคล้องกัน
ปัจจุบันประเทศไทยมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ต้องไปพิจารณาว่าอุตสาหกรรมในกลุ่มของ EEC มีประเทศใดบ้าง เห็นว่าแรงงานในบ้านเราที่ขาดแคลนคือกลุ่มแรงงานที่สำเร็จการศึกษาด้านอาชีวศึกษาแรงงานกลุ่มนี้มีทักษะวิชาชีพที่ตอบสนองต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม กลุ่มนี้เมื่อสำเร็จการศึกษาก็มีอาชีพรองรับ ส่วนกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาสาขาอื่นในระดับปริญญาตรีอาจจะไม่ตอบรับหรือตอบสนองแนวโน้มในอนาคตได้
ดังนั้นแรงงานในบ้านเราควรจะพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับภาคการผลิตที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาดำเนินการให้สอดคล้องกันก็จะเป็นการดี
พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา
Q : ภารกิจของคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา กำลังผลักดันเรื่องใดเป็นพิเศษในขณะนี้
A : ภารกิจของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ในขณะนี้จะติดตามผลักดันการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาศึกษาประมวลกฎหมายแรงงานเพื่อที่จะรวบรวมจัดทำเป็นข้อมูลในการสืบค้น เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีแนวคิดที่จะรวบรวมข้อกฎหมายที่มีทั้งพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อมูลไว้จึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ก็ได้นำมาพิจารณาศึกษาค้นคว้าทำความเข้าใจและรวบรวมสาระสำคัญเพื่อจัดทำเป็นร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐบาล
Q : ฝากถึงพี่น้องประชาชนที่สนใจการขึ้นค่าแรงงานซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในขณะนี้
A : ประเด็นเรื่องนี้ขออนุญาตฝากพี่น้องประชาชนติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร จากการที่ได้ติดตามการขึ้นค่าแรงงานมาโดยตลอดพบข้อมูลว่าการประกาศขึ้นค่าแรงงานสูงสุดอยู่ที่ประมาณ ๓๕๔ บาท ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และภูเก็ต สำหรับค่าแรงงานขั้นต่ำที่พรรคการเมืองได้ประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ จำนวน ๖๐๐ บาท ภายในปี ๒๕๗๐ เมื่อคำนวณแล้วจะขึ้นประมาณปีละ ๑๔ เปอร์เซ็นต์
พี่น้องประชาชนคงต้องช่วยกันพิจารณาว่า ๑๔ เปอร์เซ็นต์กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราเงินเฟ้อ ผลิตภาพของแรงงาน และปัจจัยอื่นอีกรวม ๙ ปัจจัยองค์ประกอบนั้น สอดคล้องกันหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจถ้าฝ่ายพรรคการเมืองมีมุมมองและคำตอบที่ชัดเจนในจุดนี้ได้ก็เป็นเรื่องดีของแรงงานและผู้ประกอบการ ข้อสรุปจะเป็นประการใดอยู่ที่กรอบของข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ ตลอดจนการพิจารณาขององค์กรไตรภาคี ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ นายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไรครับ.
โฆษณา