10 ก.พ. 2023 เวลา 09:27 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิตัลในบริษัทยาและเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของโลก ตอนที่ 1

หลายปีที่ผ่านมากระแส digital transformation พัดโหมกระหน่ำในทุกวงการ รวมทั้งในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (life sciences) ที่หมายถึงกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์
1
บทความนี้จะสรุปสถานการณ์ในปี 2022 ที่เพิ่งผ่านไปของธุรกิจอุตสาหกรรมนี้ เน้นที่การปรับตัวและการลงทุนด้าน digital and analytics (DnA) โดยเราจะเอาตัวเลขการลงทุนจริงมาคลี่ดูกันให้เห็นว่าเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง
บอกไว้ก่อนนะครับว่า เหตุการณ์ที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือสถานการณ์ภาพรวมของโลก โดยเน้นที่ผู้นำวงการคือสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และจับตาไปที่กลุ่มผู้เล่นในระดับผู้นำโลก (บริษัทยายักษ์ใหญ่ 20 อันดับแรก และบริษัทเครื่องมือแพทย์หรือ medtech 20 อันดับแรก)
แต่เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกินไป ก็จะขอแบ่งเป็นตอน ๆ นะครับ ในตอนแรกนี้จะฉายให้เห็นสถานการณ์ภาพรวมของอุตสาหกรรม life sciences ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี จากนั้นจึงจะไปดูจากการลงทุนในเทคโนโลยี DnA
มาเข้าเรื่องกันเลย
แต่ไหนแต่ไรมา บริษัทยาชั้นนำของโลกรายใหญ่ (big pharma) หรือแม้แต่ผู้เล่นระดับกลาง ๆ (pharma) และบริษัทเครื่องมือแพทย์/เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medtech) มีจุดแข็งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จมาตลอด คือความสามารถในการสร้างนวัตกรรม (หมายถึงยาใหม่หรือเครื่องมือแพทย์ใหม่ที่เข้าสู่กระบวนการอนุมัติของผู้กำกับดูแล) รวมทั้งความผูกโยงที่เหนียวแน่นกับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย
1
(ความผูกโยงที่ว่านี้ในประเทศไทยถ้าไม่ใช่แพทย์หรือบุคลากรในโรงพยาบาลเราคงจะนึกภาพไม่ออก วันหลังถ้าไปโรงพยาบาลลองหมั่นสังเกตอาจจะเห็นดีเทลยา มักเป็นสาว ๆ แต่งตัวสวย ๆ หิ้วของเข้า ๆ ออก ๆ มาฝากแพทย์บ่อย ๆ ส่วนในต่างประเทศอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่ปล่อยให้มีการโฆษณายาตรงไปที่ผู้บริโภคอย่างโจ่งแจ้ง เราก็จะคุ้นเคยกับหนังโฆษณาที่มักฉายภาพคนไข้ที่ฟื้นตัว มีรอยยิ้ม และเดินลอยตัวอยู่กลางทุ่งหญ้าที่มีแสงแดดอ่อน ๆ)
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากผ่านการระบาดของ COVID-19 ธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ผู้เล่นเหล่านี้ถูกท้าทายให้จำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการหลอมรวมเอา DnA เข้ามาเป็นความสามารถใหม่ขององค์กรด้วย
เขาทำอย่างไรกัน?
บริษัทเหล่านั้นจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มครับ รูปแบบแรกคือการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกิจการในบริษัทเทคโนโลยี (ดิจิตัล) ที่มีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองให้ไกลกว่านั้นก็ต้องบอกว่า ในทุก ๆ ก้าวที่บริษัท life sciences รุกเข้าไปหา DnA เขาก็จะมีโมเดลในการ transform ธุรกิจของเขาไปพร้อมกันด้วย
เพราะสุดท้ายนั้น เขาจะต้องสามารถขยาย scale ของความเป็น DnA ให้ครอบคลุมธุรกิจยาหรือเครื่องมือแพทย์ที่ทำอยู่ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือตลาดเดิม ลูกค้ากลุ่มเดิม แต่ใช้ DnA เพื่อสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยวิธีการที่แยบยลหลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็คือการสเกลอัพ (scale up) นั่นเอง
ซึ่งในมุมกลับกัน เราก็คงจะเห็นการขยายตัวเข้ามาในธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี (big tech) อย่าง Apple, Amazon, Microsoft, Alphabet, Facebook ด้วยใช่ไหมครับ
ความต้องการของ big tech เหล่านี้เป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือพวกเขาต้องการขยายฐานตลาดสู่ธุรกิจใหม่ที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน เพราะเห็นช่องทางทำกำไรจากการเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ที่มาพร้อมกับสังคมสูงวัย และความตระหนักในสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า
บรรดาบริษัทด้าน life sciences ก็มองเห็นปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ดังนั้นนอกจากการซื้อหรือควบรวมกิจการ (acquisitions) แล้ว ก็จึงใช้โอกาสนี้แสวงหาพันธมิตรด้วยการทำ partnership กับบริษัทเทคโนโลยีด้วย
โมเดลนี้ดูไปก็จะคล้าย ๆ กับเวลาที่บริษัทมือถือเห็นว่ากล้องถ่ายรูปเป็นเสน่ห์ดึงดูดสำคัญที่ทำให้คนซื้อสินค้าของเขา ก็จะไปจับมือกับบริษัทกล้องถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงอย่าง Leica หรือ Carl Zeiss ตามที่เราเห็นกันอยู่ กลายเป็นสินค้าโทรศัพท์มือถือที่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ฉันใดก็ฉันนั้น
สองสามปีที่ผ่านมาเราเห็นการประกาศจับมือกันระหว่างบริษัทยายักษ์ใหญ่และบริษัทเทคโนโลยีด้าน DnA จำนวนมาก ซึ่งกลุ่มหลังมักเป็นบริษัทเทคโนโลยีหรือซอฟท์แวร์ขนาดเล็กเมื่อเทียบกับบริษัทยายักษ์ใหญ่
รูปแบบที่สองคือการสร้างหน่วยธุรกิจเฉพาะด้านหรือบริษัทลูกที่มีความเป็นธุรกิจดิจิตัล แยกออกมาจากบริษัทแม่ ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนเฉพาะด้าน การพัฒนาคนเฉพาะทาง แต่มีข้อดีขึ้นเป็นการเริ่มใหม่ที่ทำได้อย่างคล่องตัวเนื่องจากแยกตัวออกมาเลย การควบรวมหรือซื้อบริษัททางด้านดิจิตัลเข้ามาก็อาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างทางลัดในการปั้นบริษัทลูกที่มีความสามารถใหม่ ๆ และมุ่งไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่
รูปแบบที่สาม ซึ่งถือว่ายากที่สุดในทางปฏิบัติ ก็คือสร้างการเปลี่ยนผ่านทางดิจิตัลให้เกิดขึ้นในธุรกิจแกนหลัก (core business) ของบริษัทชีววิทยาศาสตร์เอง รูปแบบนี้น่าจะเป็นวิธีสร้างมูลค่าได้มากที่สุดในระยะยาว แต่ก็ต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจของผู้ถือหุ้นเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและความเคยชินของพนักงานที่อยู่แบบเดิม ๆ มานานแล้ว ยังอาจจะเกิดผลกระทบที่ไม่คาดหวังในระยะสั้นด้วย
การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่สามนี้ จะทำให้บริษัทเหิรบินสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน แต่จำเป็นต้องตัดใจละทิ้งบางสิ่งบางอย่างที่ทำกำไรให้บริษัทได้อย่างงดงามในปัจจุบันด้วย แต่นี่มิใช่หรือก็คือแก่นแท้ของ digital transformation?
ในบทความตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิตัลของกลุ่มบริษัทชีววิทยาศาสตร์ สร้างผลกระทบในจุดไหนอย่างไรบ้างครับ
อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา