11 ก.พ. 2023 เวลา 10:55 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิตัลในบริษัทยาและเครื่องมือแพทย์ชั้นนำของโลก ตอนที่ 2

ในตอนที่แล้วเราได้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิตัลของอุตสาหกรรมแล้ว
คราวนี้จะชวนมองลึกลงไปที่ห่วงโซ่มูลค่า (value chain) ของอุตสาหกรรมด้านยาและเครื่องมือแพทย์ หรือที่มีชื่อเรียกเพราะ ๆ ว่าอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (life sciences)
ห่วงโซ่มูลค่านี้ เริ่มต้นจากการวิจัย ที่มุ่งค้นหายาใหม่ หรือเครื่องมือแพทย์ หรือซอฟท์แวร์แบบใหม่ที่จะนำมารักษาโรคที่ยังไม่สามารถรักษาหรือป้องกันได้ ขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในห้องแล็ป
การยื่นจดสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบอื่นก็ตาม จะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้
จากนั้นเข้าสู่การพัฒนา (development) เจ้าของจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ยา เครื่องมือแพทย์ หรือซอฟท์แวร์ที่คิดค้น หรือค้นพบนั้นมีความปลอดภัย ใช้แล้วได้ผล หรือมีวิธีการนำส่งไปสู่เป้าหมายที่ได้ผลดีที่สุด ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งคือจะต้องมีการทดลองในคนเพื่อให้รู้แน่ชัดว่าปลอดภัยสำหรับคนหมู่มาก และได้ผลจริงตามที่คาดหวังหรือโฆษณา
แล้วจึงเข้าสู่การผลิต อันหมายถึงการขยายสเกลจากห้องแล็ปให้สามารถผลิตได้ตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) รวมถึงมาตรฐานและข้อกำหนดอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถยื่นขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมาย
ถึงวันนั้นแล้ว จึงค่อยมาพูดกันเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือการติดตามให้บริการหลังขาย ถ้าไม่ผ่าน อย. เสียอย่าง ที่เหลือทั้งหมดก็จะไม่เกิดขึ้น
การลงทุนด้าน DnA เกิดขึ้นแล้วในส่วนไหนบ้าง? ถ้าดูจากข้อมูลในสหรัฐอเมริกา จะพบว่าการลงทุนพุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่การลงทุนโดย venture funding ขึ้นถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากนั้นก็ปรับตัวลดลงมา แต่ยังอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่าของยอดการลงทุนในอดีต
ประมาณครึ่งหนึ่งของการลงทุนเหล่านี้มุ่งไปที่การหาคำตอบใหม่ในเชิงพาณิชย์ให้แก่ลูกค้า หมายถึงมุ่งเน้นในช่วงปลายน้ำ ถัดมาจึงเป็นการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ที่เป็นช่วงต้นน้ำเข้าสู่กลางน้ำ
การลงทุนในการแพทย์ดิจิตัลโดย venture funding ของสหรัฐอเมริกา (ที่มา: Rock Health Digital Health Venture Funding Database, Rock Health, Jan 2023 / McKinsey & Company)
แล้วทีนี้ลองมาดูกันว่า (digital transformation) นำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาสู่วงการนี้แล้วบ้าง?
ถ้ามองย้อนกลับไปช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา digital and analytics (DnA) ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบมาบ้างในระดับหนึ่งต่ออุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เช่น
  • 1.
    ในขั้นตอนวิจัยและการพัฒนาในช่วงต้น เกิดความเข้าใจในสถานะของโรคและเป้าหมายของการบำบัดรักษา (ในระดับโมเลกุล) มากขึ้น
  • 2.
    ในขั้นตอนการพัฒนาช่วงปลาย และการทดลองในคน (clinical trial) เริ่มใช้เทคโนโลยี DnA ในการวางแผนและลงมือทำ
  • 3.
    ขั้นตอนการยื่นขึ้นทะเบียนต่อผู้กำกับดูแล การควบคุมความปลอดภัยและตลอดห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ
กระนั้นก็ตาม การลงทุนในเรื่องการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิตัลของบริษัทชีววิทยาศาสตร์ระดับผู้นำของโลก ก็ไม่ได้รวดเร็วเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าดูจากพลวัตในการลงทุนยังถือว่าช้าอยู่มาก ยิ่งถ้าเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีก็จะพบว่าทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่น
ยิ่งจะเห็นชัดขึ้น ถ้าเทียบดูจากปริมาณการลงทุนของบริษัท big tech (amazon, apple, etc.) ที่พากันเทมาลงในด้าน health care ก็ยังน้อยกว่าอีก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือบริษัทที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพโดยตรง ลงทุนในด้าน DnA น้อยกว่าบริษัทดิจิตัลที่หันมาสนใจตลาดสุขภาพ
วัฒนธรรมองค์กร และความเคยชินกับตลาดของบริษัทกลุ่ม life science ที่มีมาอย่างเก่าแก่ยาวนาน ก็เป็นตัวบอกท่าทีที่มีต่อเทคโนโลยี digital & analytics และอธิบายเหตุผลได้ว่า ทำไมการเดินหน้าในเรื่องนี้ถึงเป็นไปโดยช้ากว่าที่ควรจะเป็น
ในตอนหน้าเราจะมาขุดเรื่องนี้ดูกันว่า ปัจจัยอะไรที่บริษัทผู้นำด้านชีววิทยาศาสตร์ยังขาดอยู่ ทำไมจึงยัง "ไม่ติดลมบน" ในด้านดิจิตัล ความท้าทายในอนาคตคืออะไร และเขาหาทางแก้ไขกันอย่างไรครับ
อ่านเพิ่มเติม:
โฆษณา