14 ก.พ. 2023 เวลา 06:53 • หนังสือ

แพรกหนามแดง (รวมเรื่องสั้น)

เขียนโดย คุณแดนอรัญ แสงทอง
สำนักพิมพ์สามัญชน พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2560
ภาพปกและภาพประกอบโดย คุณทองธัช เทพารักษ์
“เขาร่วงลงมาก็เรื่องของเขา เราก็มีหน้าที่กวาดของเรา”
คำกล่าวของหลวงพ่อเทียนให้แง่คิดกับเรา
ว่าเราจะเอาคำพูดของท่านมาปรับใช้อย่างไรในชีวิตประจำวัน
“ระโชหะระณัง” ผมก็เพิ่งได้ความรู้จากเรื่องสั้นในหนังสือแพรกหนามแดงนี้
แพรกหนามแดงเป็นชื่อหมู่บ้าน
ขอบปกหนังสือกล่าวว่า...
“เป็นสิ่งซึ่งก่อให้เกิดความหมายความทรงจำเฉพาะที่เฉพาะถิ่นขึ้นมา”
เป็นการเล่าผ่านมุมมองของเด็ก...
“สาระสำคัญในเรื่องจึงอยู่ที่ว่า ในฐานะผู้อ่านหรือผู้รับสาร เราวางตัวเองไว้ในจุดใด
เป็นผู้แสวงหาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์
หรือผู้ยินดีเปิดใจรับฟังอะไรต่อมิอะไรจากเด็กๆ อย่างไร้ข้อกังขา”
เรื่องราวจะค่อยๆ ถูกเล่าในช่วงราวพุทธศักราช 2500 ต้นๆ
ในบทแรก “แพรกหนามแดงกึ่งพุทธกาลหรือแม้แต่ก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย”
เหตุการณ์ราวกับว่าเราเป็นผู้มองดู
ขณะที่ผู้เขียนกำลังค่อยๆ ดึงให้เรารู้ตัวว่า...
เรากำลังอยู่ในเส้นเวลาไหนมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นมาบ้าง
แล้วก็ค่อยๆ จดจ่อขอบเขตที่กว้างขวางลงไปยังจุดหนึ่ง
ซึ่งก็คือชุมชนแพรกหนามแดง
บรรยายถึงสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่จนเรามองเห็นภาพ
เป็นภาพที่สละสลวยตามตัวอักษรที่ร้อยเรียงขึ้นมา
ให้เราย่างเยื้องเข้าไปยังมุมโน้นมุมนี้ทีละนิด
ลืมไปว่ากำลังอ่านหนังสือ
ราวกับว่าเรากำลังอยู่ที่แพรกหนามแดงแล้ว
บทต่อๆ ไปเราจะค่อยๆ ได้รู้จักผู้คนแต่ละคนมากขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องราวความสัมพันธ์ที่โยงใยและทอถักที่ละเล็กละน้อย
เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว วัยเยาว์ของพวกเขางดงาม
รู้จักการละเล่นของพวกเขาในวันเวลานั้นๆ
รู้ว่าแม้จะเป็นเด็ก พวกเขาก็มีการงานที่ต้องรับผิดชอบ
บทบรรยายทำให้ผู้อ่านจมจ่อมไปในห้วงนั้นราวกันฝัน (ที่มีจริง)
“แล้วบัดนี้แสงแดดอันเหลืองละมุนก็ส่องฉายผ่านริ้วเมฆลงมา
ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล ทิวตาลสลับสล้าง
ดงพืชไร่ ป่าละเมาะน้อยใหญ่และแม้แต่ตัวหมู่บ้านเอง
ดูสุกปลั่งเหมือนทำด้วยทองคำและเพ้อฝันจนหลงละเมออยู่กับความงามของตนนั้น
อยู่ในความสงัดเงียบของสนธยากาล”
(ภาพเหมือนของเด็กชายคนหนึ่ง)
ถ้าใครสักคนได้มาอ่าน คุณจะเหมือนลอยละล่อง
เห็นภาพและความรู้สึกในแต่ละมุมของหมู่บ้านแห่งนี้
ตัดมาที่สำนวนบู๊กันบ้าง ทำไมดูน่ารักได้ขนาดนี้
“แต่กูตั้งใจไว้แล้วว่ากูจะเป็นมือปืนรับจ้างนิสัยดีให้จงได้
คือกูจะมีสัมมาคารวะกับผู้หลักผู้ใหญ่
สุภาพกับผู้หญิง เป็นกันเองกับเด็ก”
(เมื่อพรานลูกทุ่งน้อยๆ สองคน เขาสนธนาพาทีกัน)
บทนี้ผมชอบเด็กชายหญ้าแฝกกับพี่รอนของเขา
และสำนวนหนึ่งที่อ่านแล้วทำให้อบอุ่นใจก็คือ...
“สำหรับเด็กๆ แล้วพวกเขาดีใจ -
เด็กยากจนอนาถาล้วนแล้วแต่ปีติยินดีต่อของขวัญเสมอ
ไม่ว่าของขวัญนั้นมันจะไร้ราคาค่างวดสักเพียงใดก็ตาม”
บทที่กล่าวเรื่องฉีดวัคซีน
มีขนมเบื้องญวนปรากฏขึ้นมาให้ผมได้เปิดหูเปิดตา
ผมมารู้เอาเสียเดี๋ยวนี้ว่าขนมเบื้องที่เคยรางเลือนในความทรงจำผม
มันใกล้เคียงกับขนมเบื้องญวนของยายขมมาก
แต่ยุคปัจจุบันผมไม่เคยเจอเลย
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็พลันให้คิดถึงยุคนั้น
ตอนเด็กผมไม่เคยกินสูตรยายขมเลย
มันน่ากินกว่าสูตรที่ผมเคยกินแล้วเป็นไหนๆ
ถึงกับต้องอ่านประโยคนั้น กลับไปกลับมาให้เกิดภาพจำในหัว
ว่านั่นน่ะ ขนมเบื้องเต็มสูตรนะ
เรื่อง “ขยันไปโรงเรียน” เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามมาก
แล้วผู้ใหญ่แกก็อำมหิตจริงๆ พูดซะให้เด็กกลัว (ผี)
เด็กชายคนนั้นนอกจากกลัวผีแล้ว พอมาถึงโรงเรียนแล้วกลับยืนงุนงง
ทั้งน่าขันและน่าสงสาร
รู้สึกเหมือนตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้นเลย
สมัยเด็กพวกผมกับเพื่อนๆ ก็กลัวกันจริงๆ จังๆ
เพราะผู้ใหญ่เขาเล่าเรื่องแปลกๆ ทำนองนี้ให้ฟังแหละ
ในชั้นเรียนก็ยังมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
อย่างเรื่องกล่องยาอมโบตันผมก็เคยได้ยินคุณแดนอรัญแกพูดในคลิปมาบ้างแล้ว
พอมาอ่านผมก็เข้าใจเรื่องราวตั้งแต่ต้น
เรื่องของเด็กชายชูชีพ ภุมพคาม ผมก็เคยไปฟังที่แกเคยเล่าในคลิปมาก่อนอ่านแล้ว
ก็เป็นเพราะฟังคลิปนั้น เลยอยากอ่านแพรกหนามแดงขึ้นมาก
และพอได้แพรกหนามแดง ก็สนุกจริงๆ จนลืมเรื่องกังวลอื่นๆ ไปเลย
มันเป็นเรื่องที่ดูอบอุ่นดี
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยายขม หรือเรื่องของครูบุญเกื้อ
จะมีเรื่องที่ออกเศร้าก็บทของ “พี่สาวกับน้องชาย”
สงสาร ด.ญ.เพียงใจเหมือนกัน
เธอคงคิดถึงน้องชายของเธอที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ
เรื่อง “รักแรก” ก็น่าจะเป็นเรื่องที่แสนประทับใจของใครต่อใครหลายคน
ผมก็ชอบเรื่องนี้ อดคิดถึงยามที่ตนเป็นเด็กในยามรักนั้นไม่ได้เหมือนกัน
มันทั้งดูตลก ทั้งซื่อ แต่ในหนังสือจะบันเทิงกว่าที่ผมพบเองเป็นไหนๆ
“มะขามต้นนั้น” เป็นบทที่เปิดโลกทัศน์สำหรับผม
เหมือนเรามองดูการตั้งอยู่และดับไปของสรรพสิ่ง
ส่วน “สร้างบ้านแปงเมือง” นั้น ตลกดี
เด็กก็คิดกันตามซื่อ แล้วก็ปิดฉากได้ดีเพราะไอ้เสือเมฆเสียด้วย
แค่บางส่วนเท่านั้นที่ผมย่อมาเล่า
บางวรรคเราต้องกลับไปอ่านซ้ำๆ เพราะมันสวยงามมาก
บางตอนเรายังต้องกลับไปพลิกๆ ดูอีกอย่างไม่รู้ตัว
และบางครั้งเราก็หัวเราะขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
(เพียงเพราะไปนึกถึงบางบทบางตอนของแพรกหนามแดง)
“แพรกหนามแดง” ในตอนแรกที่ผมรู้ชื่อ
ต่างจาก “แพรกหนามแดง” หลังจากที่ผมอ่านจบ
เด็กชายหญ้าแฝกและผองเพื่อนอีกหลายคน
ผู้คนในชุมชนนั้นอีก... พวกเขาจะอยู่ในความทรงจำของผม
ซึ่งผมก็ไม่เคยรู้เลยว่า บนโลกนี้จะมีมุมเล็กๆ
ที่ให้ความรู้สึกหลากหลายความรู้สึกอยู่ที่นั่น
ที่แพรกหนามแดงที่ผมไม่รู้จัก
ที่ตอนนี้ผมก็พอรู้จักบ้างแล้ว...
(หากผิดพลาดหรือล่วงเกินผู้ประพันธ์และงานเขียนประการใด
ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)
โฆษณา