15 ก.พ. 2023 เวลา 06:22 • การเมือง

แนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจ สร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า

ให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน : กรณีศึกษาจังหวัดแพร่
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ (นายสังศิต พิริยะรังสรรค์) ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ (นายอภิชาติ โตดิลกเวชซ์) และคณะทำงาน ได้ร่วมกันรายงานผลการพิจารณาศึกษาต่อที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๘ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ ๒) วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
สรุปได้ว่า คณะกรรมาธิการตระหนักถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจ และเห็นว่าการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำจะต้องแก้ไขที่เศรษฐกิจฐานราก จึงได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มช่องทางและโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในชุมชนและประชาชนในระดับฐานราก โดยเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" (Creative Economy)
ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยการเชื่อมโยงกับการใช้ทุนทางปัญญาและทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ องค์ความรู้ความคิดสร้างสรรค์อัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการผลิตสินค้าและบริการรูปแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดยุคใหม่
ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยศึกษาเฉพาะกรณีการผลิต จำหน่ายสุราชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสุราชุมชนในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยปัญหาสำคัญที่ได้จากการศึกษาเกี่ยวกับโรงงานผลิตสุราชุมชน คือ ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิต ภาษีแพงและการเสียภาษีซ้ำซ้อน และไม่สามารถทำการตลาดได้
นอกจากนี้ ในกระบวนการผลิตสุราชุมชนจะมีของเหลือใช้ ซึ่งเรียกว่า น้ำโจ้ หรือกากส่าเหล้า ซึ่งส่วนใหญ่นำไปใช้ผสมกับอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น หมู และบางส่วนนำไปทำน้ำจุลินทรีย์ (Effective Microorganisms: EM) และนำไปหมักขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ย
คณะกรรมาธิการจึงมีข้อเสนอแนะว่า รัฐควรส่งเสริม พัฒนากระบวนการผลิตสุรากลั่นชุมชนให้มีความหลากหลายเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สุราใหม่เข้าสู่ตลาด ควรส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่สามารถเป็นของที่ระลึกจากท้องถิ่น และส่งเสริมให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านการท่องเที่ยว ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตสุรากลั่นชุมชน เช่น เครื่องสำอาง
นอกจากนี้ ควรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดด้านกำลังผลิตสุรากลั่นชุมชน กฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๕๙ รัฐควรส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนในรูปแบบที่เหมาะสมให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทั้งในและต่างประเทศ
มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้านที่จะนำไปสู่การพัฒนา สร้างคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น และก่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ภายหลังที่คณะกรรมาธิการได้เสนอรายงานต่อที่ประชุมแล้ว สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น สรุปได้ว่า สมาชิกวุฒิสภาส่วนมากเห็นด้วยกับการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการพัฒนาให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสุราซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายได้เช่นเดียวกับ เหล้าสาเก ของประเทศญี่ปุ่น เหล้าเหมาไถ ของประเทศจีน หรือโซจู ของประเทศเกาหลี
อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกด้วย นอกจากนี้ การส่งเสริมการผลิตสุราท้องถิ่นดังกล่าวยังสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม โดยการลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงและเพิ่มส่วนผสมผลไม้ของไทยเป็นรสชาติใหม่เพื่อเป็นการส่งเสริมการเกษตรประเภทอื่นได้อีกด้วยซึ่งจะส่งผลดีในด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับฐานราก
แต่สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนก็มีความห่วงใยและเป็นกังวลในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน เนื่องจากปัจจุบันพบว่า การดื่มสุราเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญอันนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรม และการทำร้ายคนในครอบครัว รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพของผู้ดื่มสุรา ดังนั้น การส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสุราจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านด้วยความระมัดระวังมิให้เกิดผลกระทบด้านลบมากขึ้น
อีกทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นควรต้องเน้นเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจยุคใหม่ BCG ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ๓ ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ คือการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้เต็มประสิทธิภาพ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เรียกว่า เศรษฐกิจสีเขียว ได้อย่างสมดุล มั่นคงและยั่งยืน
นอกจากนี้ ควรพิจารณาปรับปรุงข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกำลังการผลิตของเครื่องจักรที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา (นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และคณะทำงาน ได้ชี้แจงประเด็นข้อสังเกตของสมาชิกวุฒิสภาว่า
โดยที่การแก้ไขปัญหาความยากจนไม่สามารถดำเนินการโดยอาศัยกฎหมายได้ แต่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างมีวิสัยทัศน์และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและพอเหมาะพอดีกับบริบทและยุคสมัยและความเป็นไปของโลก โดยต้องพิจารณาผลกระทบทั้งด้านดีและด้านเสียด้วย การศึกษาของคณะกรรมาธิการในเรื่องนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมผลผลิตมีจำนวนมากจึงควรนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งเสริมให้มีการจ้างงาน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน โดยมิได้เป็นการสนับสนุนให้ผลิตสุราอย่างเสรีหรือสนับสนุนให้เยาวชนและคนไทยบริโภคมากขึ้น
ซึ่งคณะกรรมาธิการตระหนักในเรื่องดังกล่าวและเข้าใจถึงความห่วงใยของสมาชิกวุฒิสภา และเห็นว่าสุรามิได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคมปัจจุบัน เช่น ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะปัญหาความยากไร้ความยากจนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ
คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่า การส่งเสริมการผลิตสุราพื้นบ้านจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนฐานรากมีรายได้ โดยรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสมและสามารถสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้เทียบเท่ากับสุราในต่างประเทศที่เป็นที่รู้จักกัน แต่ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ
ซึ่งหากมีกฎหมายควบคุมอย่างเหมาะสมแล้ว รัฐก็สามารถควบคุมการผลิตของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสังคม สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับกำลังการผลิตของเครื่องจักรตามที่เสนอไว้ในรายงานนั้น เป็นข้อเสนอตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้
ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการและมีมติให้ส่งรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป
โฆษณา