Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
HR Talk by Tamrongsak
•
ติดตาม
15 ก.พ. 2023 เวลา 23:34 • ธุรกิจ
ลูกน้องมาสาย..หัวหน้าควรทำยังไง ?
ปัญหายอดนิยมสำหรับคนที่เป็นหัวหน้ามักต้องเจอคือลูกน้องมาสาย
ถ้ามาสายแบบมีเหตุมีผลหรือนานๆครั้งและมีเหตุผลที่ฟังขึ้นก็คงไม่เป็นปัญหาสักเท่าไหร่
แต่ถ้าลูกน้องเป็นคนประเภท "สุดสาย" หรือ "สายสุด" (เผลอๆสายหยุด) หรือ "สายเสมอ" ล่ะ หัวหน้าควรทำไงดี?
ก็ตอบได้ดังนี้ครับ
1. หัวหน้าควรตักเตือนลูกน้องที่มาทำงานสายตามระเบียบของบริษัท หวังว่าบริษัทของท่านจะต้องมีระเบียบเรื่องการมาทำงานนะครับ เช่น ถ้าใครมาทำงานสายจะถูกตักเตือนด้วยวาจาก่อน ต่อมาถ้ายังสายอีกก็จะถูกตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรไปจนถึงที่สุดก็อาจจะถูกเลิกจ้างถ้ายังผิดซ้ำคำเตือนเรื่องมาทำงานสาย เป็นต้น
2. การตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น หัวหน้าควรเตรียมหนังสือตักเตือนให้พร้อมซึ่งตรงนี้ HR จะต้องเป็นคนที่รู้และให้คำแนะนำได้ว่าควรมีข้อความอย่างไรบ้าง หรือ HR จะเตรียมหนังสือตักเตือนให้หัวหน้างานก็ได้
"แต่ HR ไม่ใช่คนที่จะเรียกพนักงานที่ไม่ใช่ลูกน้องของตัวเองมาตักเตือน!!"
เพราะ HR ไม่ใช่หัวหน้าของพนักงานทั้งบริษัทนะครับ
ซึ่งการตักเตือนควรมีพยานรู้เห็นการตักเตือนอย่างน้อย 1 คน ซึ่งอาจจะให้ HR ช่วยเป็นพยานในการตักเตือนก็ได้
3. เมื่อตักเตือนเสร็จแล้วหัวหน้าก็เซ็นชื่อลงในหนังสือตักเตือนในฐานะผู้บังคับบัญชา ให้พยานเซ็นชื่อ แล้วก็ให้พนักงานที่มาสายเซ็นชื่อในหนังสือตักเตือน พร้อมทั้งส่งสำเนาหนังสือตักเตือนให้กับพนักงานที่มาสายไว้ที่เป็นระทึก..เอ๊ย..ระลึกได้รับทราบว่าถูกเตือนเรื่องมาสายในครั้งนี้ไปแล้วหนา
ซึ่งในหนังสือตักเตือนวรรคสุดท้ายจะต้องบอกให้ชัดทำนองว่า “ขอตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายไม่ให้พนักงานมาทำงานสายอย่างนี้อีก
ถ้าพนักงานยังฝ่าฝืนคำตักเตือนบริษัทจะลงโทษด้วยการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น” ซึ่งขั้นตอนการตักเตือนที่กว่าจะมาเป็นครั้งสุดท้ายนี้ก็ต้องว่ากันไปตามระเบียบของบริษัทว่าเขียนเอาไว้ว่าจะต้องเตือนกันกี่ครั้งกว่าจะมาถึงการเตือนครั้งสุดท้ายนี้
4. ถ้าพนักงานยังฝ่าฝืนและผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องมาสายในครั้งสุดท้ายอีก บริษัทก็ควรจะทำตามที่เตือนไว้คือ “เจ็บแต่จบ” ด้วยการเชิญพนักงานมาบอกให้เขียนใบลาออกไป
ถ้าพนักงานไม่เขียนใบลาออกบริษัทก็ต้องทำหนังสือเลิกจ้างโดยระบุสาเหตุการเลิกจ้างคือประพฤติตัวฝ่าฝืนระเบียบการมาทำงานของบริษัท มาทำงานสายซึ่งบริษัทได้ออกหนังสือตักเตือนมาแล้วกี่ครั้งก็ว่าไปจนถึงครั้งสุดท้ายก็ยังฝ่าฝืนอีกบริษัทก็เลยต้องเลิกจ้าง
ซึ่งก็จะเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานทุกคนในบริษัทรับรู้ว่าบริษัทไม่ยอมรับพฤติกรรมอู้งานมาทำงานสาย ถ้าบริษัทตักเตือนหลายครั้งแล้วยังฝ่าฝืนพนักงานก็คงจะไปกับบริษัทไม่ได้
5. แต่ถ้าหัวหน้าหรือผู้บริหารยังไม่ทำอะไรแม้แต่จะตักเตือนพนักงานที่มาสาย ก็จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือเอาอย่าง หรือพฤติกรรม “Me too” เพราะเห็นว่าทีคนนั้นยังมาสายได้ หัวหน้าก็ไม่เห็นจะทำอะไร ฉันก็ขอมาสายมั่งฮี่ (Me too) ยิ่งกว่าสายย่อคือสายเสมอ สายประจำ ทำเอาเพื่อนระอา
6. ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการหักค่ามาสาย เพราะพนักงานมักจะอ้างว่า “ก็ฉันยอมจ่ายค่ามาสายแล้วไง ยังจะมาตักเตือนอะไรกันอีก” เรียกว่าเอาเงินซื้อเวลาไปแล้วนี่ แถมบางบริษัทก็หักค่ามาสายแบบเอาเปรียบพนักงานอีกต่างหาก เช่น ถ้ามาทำงานสาย 3 ครั้งใน 1 เดือนจะหักค่ามาสาย 1 วัน ทั้ง ๆ ที่การมาสาย 3 ครั้ง ๆ ละ 5 นาที รวมมาสาย 15 นาที แต่ดันไปหักค่ามาสายเขาถึง 8 ชั่วโมง อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกันนะครับ
7. จากข้อ 6 จึงมีคำถามว่า “งั้นควรทำยังไงดีล่ะ” ผมเสนอให้นำข้อมูลการมาสายไปพิจารณาร่วมกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือการจ่ายโบนัส เช่น มาสายกี่ครั้งจะได้ขึ้นเงินเดือนน้อยลงไปเท่าไหร่หรือได้รับโบนัสลดลงจากที่ควรจะได้รับเท่าไหร่ หรือบางแห่งก็ไปโยงไว้กับ “เบี้ยขยัน” (เบี้ยตัวนี้ยังเป็นดราม่ามหากาพย์อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจะเอาไว้คุยกันวันหลังนะครับ)
ซึ่งก็จะเป็นการเตือนพนักงานให้รับรู้ว่าบริษัทไม่ต้องการคนมาสายนะ และถ้ายังมาสายจนถูกตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายอีกก็ต้องจบตามข้อ 4 ข้างต้นแหละครับ
ทั้งหมดที่ผมบอกมานี้ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผมทั้งหมดนะครับ ควรใช้หลักกาลามสูตรด้วยถ้าเห็นว่าดีและนำไปปฏิบัติได้ก็ยินดีด้วย
แต่ถ้าบริษัทไหนผู้บริหารจะไม่ยอมทำอะไรสักข้อก็แนะนำให้ฟังเพลงน้าแอ๊ดคาราบาวคือเพลงสบายกว่ากันเยอะเลย..อยู่เฉย ๆ ดีกว่า....กันต่อไปนะครับ
แต่จะสบายในระยะยาวจริงไหมก็ต้องรอติดตาม🤣
แรงงาน
พัฒนาตัวเอง
กฎหมาย
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย