18 ก.พ. 2023 เวลา 11:43 • ครอบครัว & เด็ก

วัยรุ่น วุ่นจริงไหม...

แปลกนะ ที่จริง เราก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน แต่ทำไม พอลูกเป็นวัยรุ่น หลายครั้ง เราเหมือนจะคุยกันไม่รู้เรื่อง....
พ่อแม่หลายบ้าน ไม่สบายใจเพราะรู้สึกว่า...
ลูกไม่เชื่อฟัง
Cr:นาพแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
เป็นบทสรุปสั้นง่าย แนวทางปฏิบัติ หลักการมีเท่านี้ แต่อาจตะแตกต่างที่รายละเอียดของแต่ละบ้านที่มีบริบทไม่เหมือนกัน...
เทคนิค​การพูด การสื่อสารสำคัญมาค่ะ... สำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทุกคน แม้แต่วัยรุ่น ว้าวุ่นใจ
ที่จริง เวลาตัวเองเจอคนไข้วัยรุ่น ก็ชอบเต๊าะวัยรุ่นนะ
เด็กกำลังเป็นหนุ่ม เป็นสาว 13 14 ปี..... เอ็นดูวววววว์...
บางคนเป็นหนุ่มน้อย เจาะหูมาข้างเดียว เรามองดูน่าสนใจนะ เค้าทำสำเร็จ ดึงดูดความสนใจเพศตรงข้าม..... รุ่นป้ามาเลยค่ะ 😆... ตุ้มหูเท่อะ คุยกันหน่อยซิ…
บางคน สักดีไหมหมอ อยากเท่ แต่ยังไม่แน่ใจ เอาไงดี จากมังกร อาจเหลือแค่หางจิ้งจก
มีฟง มีแฟนยัง บางทีหมอก็อยากรู้ หนุ่มๆเค้าก็มักจะมีคนคุยงี้....
เมื่อรับฟังในฐานะเพื่อน เราก็จะพลอยได้รู้ถ้าเขาสบายใจที่จะเล่า และในฐานะผู้ใหญ่ เราก็จะประเมินความเสี่ยงในแง่มุมการใช้ชีวิต เราอาจมีเวลาได้พูดคุย เพื่อให้เด็กระมัดระวังในบางเรื่อง อาจจะได้ฟังบางเรื่องที่เค้าไม่สบายใจ... เท่าที่เขาอยากบอกเรา…การแลกเปลี่ยความเห็น ต่างกับการสั่งสอน วัยรุ่นมักจะอึดอัดกับการถูกสั่งสอน คาดหวัง แต่เขามักรับฟังความคิดเห็นจากคนที่มีท่าทีเป็นมิตรได้ง่ายกว่า
เด็กผู้หญิง บางคน.... ยังไม่ถึง 15 แต่ชีวิตมาไกล ถึงเราก็ฝังยาคุมแล้ว.... ทำยังไงให้เด็กเดินต่อ อย่างเรียนรู้และไม่บอบช้ำมากไปกว่าเดิมอีก…อะไรเสียแล้วเสียไป ได้แน่ๆคือประสบการณ์ ต่อไปชีวิตหนูจะดูแลอย่างไร หนูต้องออกแบบเอง
การที่วัยรุ่นจะยอมคุยกับเรา มันก็ไม่ง่ายนะคะ ถ้าเขาไม่รู้สึกไว้ใจ ไม่คิดว่าเราเป็นพื้นที่ปลอดภัย
เขาจะไม่คุยอะไรด้วยเลย.... ทุกคำถาม มีคำตอบเดียวคือ... เงียบ + หน้าตาเบื่อสุด
ก่อนจะคุยกับเด็กๆ.... เราต้องเปิดใจ ปรับอารมณ์ มาเป็นเส้นปกติค่ะ ไม่ต้องดีดเป็นนางฟ้า ถ้าไม่ได้อยู่ในโหมดนั้นจริง มันเฟค เด็กรู้ค่ะ แต่ถ้าอารมณ์ดี ดี๊ด๊าก็ร่าเริงไปค่ะ เด็กๆเขาก็รู้ว่าผู้ใหญ่อารมณ์ดี เขาก็ชอบนะ
เวลาเด็กพูดเรื่อวอะไร ฟังให้จบ ถามเขาเพิ่มถ้าเราไม่เข้าใจ ฟังเนื้อหา เหตุผล และรับรู้อารมณ์ความรู้สึก ทั้งตอนที่พูด และเรื่องราวที่เราอยากรู้ ตอนนั้นเขาคิดและรู้สึกอย่างไร.... มันสำคัญพอๆกับเหตุผล
ถูกผิดเรื่องหนึ่ง ความเข้าใจกันอีกเรื่องหนึ่ง คนเป็นแม่อาจจะต้องลงโทษถ้าหนูผิด แต่แม่รู้ว่าตอนนั้นหนูทำเพราะรู้สึกอย่างไร เพราะตกใจ เพราะกลัว หรือเพราะเหตุผลบางอย่าง
แม่ยังรักแต่แม่ก็โกรธ กับความประพฤติที่ไม่ดี ไม่ได้โกรธเพราะตัวหนูไม่ดี แต่ที่โกรธเพราะสิ่งที่หนูทำลงไปมันสร้างความเดือดร้อน ให้ตัวเองและคนอื่นได้ ซึ่งมันแก้ไขได้ หลีกเลี่ยงได้ ไม่ทำอีกได้ ....
การสื่อสารที่ดีจะทำให้เรากับวัยรุ่น เติบโตไปด้วนกันค่ะ
เริ่มต้น 7 ขั้นตอนง่ายๆกับวัยรุ่นที่ไม่ฟังพ่อแม่แล้ว
หลักการอ่านดูง่ายแต่ก็ไม่ง่ายนักสำหรับชีวิตจริง สถานการณ์จริง แต่ก็ไม่ยากเลย ไม่ยากเกินไปสำหรับความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก
ตั้งสติค่ะ แล้วเราจะมองเห็นจะคุมเกมส์นี้ได้
พ่อแม่ยอมปรับ ลูกจะเปลี่ยนค่ะ ถ้าตัวเราไม่ยอมเปลี่ยนเวอร์ชั่น ทำตัวเป็นพ่อแม่แบบเดิมๆที่ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย วิ่งหนี หรือต่อต้าน แล้วจะบังคับให้ลูกมาเชื่อฟังคงจะยาก
ยอมเปลี่ยนตัวเองเถอะค่ะ ง่ายกว่าบังคับ อบรม หรือสั่งสอนลูกเยอะ เราสอนตัวเองง่ายกว่า เดี๋ยวเด็กๆกลับมาเอง เมื่อเขารู้สึกปลอดภัย
เราจะได้ลูกกลับมา.... ในเวอร์ชั่นใหม่เหมือนกัน
📌 ขั้นตอนที่หนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการยอมแพ้
การยอมแพ้ คือการยอมรับและการเข้าใจความจริงและไม่ฝืน เมื่อเราไม่ฝืน มันคือการลดแรงต่อต้านแบบง่ายๆเลยค่ะ
ยอมรับซะว่าลูกโตขึ้น เขาไม่ใช่คนเดิมที่น่ารักตะมุตะมิ เชื่อฟังเราไปหมดทุกสิ่งอีกต่อไป แต่ทุกอย่างคือเขา ที่อย่างไรเราก็ยังรักเขาเหมือนเดิมทั้งส่วนที่ดี และแย่ในตัวเขา
การยอมรับว่าเราแพ้ คือจุดเริ่มของการยอมรับตัวตนของลูก …. คือ จุดเริ่มต้นของ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขให้กลับมาอีกครั้งค่ะ
📌 ขั้นที่สอง คือ หยุดพูด และหยุดทำ
สิ่งที่เราทำมาอย่างเคยชิน ถ้ามันได้ผล ลูกคงไม่ดื้อ ไม่วิ่งหนีเราในตอนโตแบบนี้ ทำแล้วไม่เวิร์ค ก็หยุดเถอะค่ะ หาวิธีใหม่ หยุดพูด หยุดทำ
ทำใหม่ เปลี่ยนวิธีเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูก เด็กวัยรุ่นไม่ชอบฟังอะไรซ้ำๆ และมักหงุดหงิดกับคำพูดพร่ำสอนเดิมๆ เขาคิดเองได้ ที่จริงเด็กคิดเอง แก้ปัญหาเองได้ตั้งแต่เด็กๆแล้วค่ะ แต่เขามักจะไม่มีโอกาสเพราะพ่อแม่คุ้นชินกับการ “จัดการ”ให้ เพราะ “ไม่ไว้ใจ” ว่าลูกจะทำได้ “ดั่งใจ” เรา เอาง่ายๆนะคะ แค่เรื่องกินข้าว บางบ้านป้อนลูกจนเจ็ดขวบ เพราะกลัวลูกกินเองแล้วจะกินน้อยเกินไป เราไม่ไว้เขาแม้แต่เรื่องกินของตัวเอง
ที่จริงเด็กถูกเลี้ยงดูมาอย่างไม่ไว้ใจว่าเขาทำได้ จะออกมาในแบบของ ใส่ใจมากจนเหมือนตรวจสอบ ปกป้อง ดูแลให้แบบมากเกินไป เพราะรัก เราใส่ใจลูกหรือไม่อยากให้ลำบาก
ถ้าเป็นการใส่ใจเราไปที่ใจลูกเราจะเห็นอารมณ์และความต้องการของลูกมากกว่าความต้องการของตัวเอง
แต่ถ้าทำแบบนี้แล้วแม่สบายใจ ส่วนลูกสบายใจไหม ไม่รู้ แม่พอใจที่จัดการได้เรียบร้อยดี ดูแลง่ายกว่าปล่อยลูกทำเอง แม่ทำ เลือก หรือให้ทำแล้วก็ได้ดั่งใจแม่ ... อันนี้เรียกถูกใจเรา
ในตอนที่ยังเล็ก ก็ยังไม่กล้าที่จะแหกคอกที่พ่อแม่ล้อมไว้ อะไรก็ดูง่าย แต่เมื่อร่างกายใหญ่โตขึ้นจนไม่อาจจะขังไว้ในเปลได้ โลกกว้างกว่าแค่ในบ้าน พลังฮอร์โมนสูงพอ เขาก็พร้อมที่จะไม่เชื่อฟังใครอีกแล้ว อย่ามาบังคับ
การพูดซ้ำจึงน่ารำคาญ เราคิดว่าสอนจึงหมายถึง ไม่ไว้ใจ.... ไม่เชื่อเหรอว่าเขาก็คิดแบบนั้นได้....
มันจะจบลงที่ทำตรงกันข้ามกับที่แม่บอก บางครั้งเขาอาจจะยังยั้งได้บ้าง ไปแต่ยังไม่สุด แต่เราอย่าทำฟางเส้นสุดท้ายขาด มันจะไปได้จนสุดทางร้าย....
การที่เราไว้ใจ มั่นใจในตัวลูกตั้งแต่เล็กๆ ปล่อยให้เขาได้คิด ได้ทำ ได้เลือกเองเมื่อถึงเวลาอันสมควรที่จะคิดทำ และเลือกเองได้ตามช่วงวัย...
เรากล้าปล่อยลูกลองถูกลองผิด ปล่อยซนตามวัย
เขาจะไม่ดื้อมากเมื่อเข้าวัยรุ่น เพราะเขาได้ลองถูกลองผิดมาบ้างแล้ว และรู้ว่า แม้ผิดพ่อแม่ยังเป็นพวกของเราอยู่ การเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูกตั้งแต่เล็กๆ มีผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น
📌 ขั้นที่สาม หยุดวิเคราะห์
เลิกคิดค่ะ ว่าเพราะอะไรลูกถึงมาเป็นแบบนี้ เลิกหาคนผิด เลิกหาการตัดสินใจที่ผิดพลาดของใคร ไม่มีประโยชน์ บั่นทอนความสุข ทำร้ายจิตใจตัวเอง อดีตให้ทิ้ง อยู่แค่กับวันนี้ เราทำอะไรได้บ้าง แล้วทำค่ะ เอาง่ายๆคือ เลิกฟุ้งซ่านคิดวนในอดีต
📌 ขั้นที่สี่ เอาตัวเองกลับมากำหนดเป้าหมาย
กลับมาที่แม่คนเดิมค่ะ รักเขาแบบไร้เงื่อนไข ไม่ต้องเป็นอะไรแบบไหน วางการวาดหวัง วางสิ่งที่แม่ต้องการให้เขาเป็น เพื่อ….จริงๆคือ เราหวังดีแหละ แต่ก็เพื่อให้เราสบายใจ
กลับมารัก และหวังดี อย่างไม่คาดหวัง ….. มันยากนะคะ สำหรับคนเป็นพ่อแม่ แต่เราต้องดึงตัวเองออกจากความต้องการของเราให้ได้ค่ะ ปล่อยลูกให้เป็นอิสระจากกรอบที่มองไม่เห็น ให้เรากลับมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกอีกครั้งค่ะ
📌 ขั้นตอนที่ห้า สร้างแม่ที่น่าปลอดภัย อีกครั้ง….
จำได้ว่าตอนตัวเองเป็นวัยรุ่นซัก มอสี่มอห้า กลับบ้านค่ำทุกวัน เลิกเรียนต้องเถลไถลกับเพื่อนก่อนจนค่ำค่ะ หกโมงครึ่ง ทุ่มหนึ่งถึงบ้าน แต่สิ่งที่เราได้ยินเสมอทุกวันคือ
กลับค่ำมาก พ่อเป็นห่วง แม่เป็นห่วง มากินข้าว ถึงเวลามื้อเย็นแล้ว เขาพูดแค่นี้
แล้วพ่อแม่ รอกินข้าวเย็นด้วยทุกวัน เวลาทานข้าว เป็นช่วงเวลาที่ใีความสุข ได้เล่าวีรกรรมของตัวเองและเพื่อนให้พ่อแม่ฟัง สารพัดทั้งเรื่องดี และเรื่องแย่ ทำผิดกฎระเบียบ ทำสิ่งชั่วร้ายอะไรมาเพื่อนคนไหนทำอะไร พ่อแม่นั่งฟัง ไม่ว่าอะไรซักคำ ไม่เคยห้ามคบเพื่อนคนไหน จนเขารู้จักเพื่อนเราไปหมด … เราไม่ใช่เด็กถูกระเบียบ เดินตรงเส้นเป็นไม้บรรทัด แต่ก็ไม่ใช่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ทุกอย่างมีลิมิต
จนเราโต เรียนจบ ทำงานเป็นสิบปี เขาถึงเล่าให้เราฟังว่า ข้างบ้านนินทา ว่าลูกสาวบ้านนี้เสเพล กลับบ้านค่ำมืด จะสอบติดอะไร พ่อแม่ไม่เคยดุ ว่า ด่าหรือไม่เคยบอกเราเลยว่าป้าข้างบ้านมหาภัยขนาดไหน
พ่อบอกว่า พ่อเลี้ยงของพ่อมา พ่อไว้ใจ
แม่มีบ่นบ้างตามประสา แต่เขาจะบอกตรงๆว่า เป็นห่วง กลับค่ำมืด
เขาไม่เคยเอาคำพูดคนอื่นมาเป็นอารมณ์กับเรา
เรานึดว่า เพื่อนบ้านเอ็นดูเราทุกคนด้วยซ้ำ 😆😆😆
และสุดท้าย ก็ได้เป็นกติกาว่า กลับค่ำก็ได้ แต่ไม่ให้เกินทุ่มหนึ่ง หน้าหนาวให้เร็วกว่านั้น ไม่เอาพระอาทิตย์ตกดินจนมืดค่ะ
และพ่อแม่น้อง จะรอทานข้าวเย็นด้วยทุกวัน…
แล้วเด็กที่คนอื่นมองว่าเสเพลที่ไหนจะกล้ากลับเกินหนึ่งทุ่ม อย่างมากก็เกือบๆ …
📌 ขั้นที่หก บำเพ็ญบารมี
พ่อม่ที่หนักแน่น มั่นคงทางอารมณ์ ไว้ใจลูก จะช่วยให้เขาก้าวผ่านความขัดแย้งในตัวเอง อยากออกจากอ้อมอกพ่อแม่ อยากดูเก่งกล้าห้าวหาญให้เพื่อนยอมรับ แต่ก็ยังหวาดกลัวต่อโลก อยากให้พ่อแม่ปกป้องคุ้มครอง เมื่อหันกลับมาก็ยังอยากมองเห็นพ่อแม่ยืนอยู่ฝ่ายเรา ยังอยากได้ อ้อมอกอุ่น บ้านปลอดภัย อาหารอร่อย ที่นอนนุ่ม กับเสียงเชียร์เวลาผิดพลาดหกล้ม เพื่อลุกเดินใหม่ค่ะ...
เมื่อเขายังไม่แน่ใจ เขาจะท้าทาย พยศ แผลงฤทธิ์ แม่รักเขาจริงไหม
พื้นที่ปลอดภัย กับปกป้องตามใจลูกจนไม่รู้ผิดชอบชั่วดีต่างกันนะคะ
📌 ขั้นตอนที่เจ็ด คุมเงิน
มันได้ผลสำหรับสายสัมพันธ์ที่ดี ไม่มีต้องสร้างให้แข็งแรงก่อนค่ะ ทำข้อ 1 ถึง 6 ให้แข็งแรงถึงจะใช้ข้อ 7 ได้
ตัวเองก็เคยเจอดาบนี้ สมัยมัธยมว่าเฮี้ยว (สายเฮี้ยวนะคะ ไม่ใช่ สาย 11รด 🤭เป็นเด็กเรียนที่เรียนดีด้วย เข้าห้องปกครองด้วย ตอนเช้ามาสายเป็นปกติ แถวพิเศษนี่เข้าประจำ พ่อไปส่งเองทุกวัน ก็สายทุกวัน เพราะไม่สายมันไม่ยอมออกจากบ้าน แต่ละวันกลับบ้าน มีแต่วีรกรรมว่า วันนี้แอบฉีกกฎอะไรของโรงเรียนเล่นบ้าง) มีสี่ห้าคนที่เฮี้ยวกว่าเพื่อนผู้หญิงคนอื่นในห้อง
พอเข้ามหาวิทยาลัย สนุกมาก สนุกลืมบ้าน มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน แต่ไม่เคยกลับบ้านเลย เดือนก็แล้ว สองเดือนก็แล้ว พ่อแม่รอจนใจเสีย จนเดือนที่สาม พ่อบอกว่า ถ้าแกไม่กลับบ้านเดือนนี้แกไม่ต้องเอาตังค์ เอทีเอ็มแกจะกดแล้วไม่มีตังค์ออกมา ให้รู้จักบ้าน รู้จักพ่อแม่มั่ง
เอวังตั้งสติได้ค่ะ … สนุกไปหน่อย หลังจากนั้นก็กลับบ้านทุกเดือน จนขึ้นปีสอง เรียนหนักขึ้น หนักกว่าคณะอื่นมาก ก็ไม่ได้กลับบ้านอีกเลยถ้าไม่ใช่ปิดเทอม
สายสัมพันธ์ สำคัญที่สุดค่ะที่จะดึงวัยรุ่นไว้ …..เขาทำผิด ทำพลาด เขาไม่ทำสุดโต่งจนทำลายตัวเอง และเขาจะกลับมาบ้านเสมอ บ้านที่มีพ่อแม่ที่ปลอดภัยอยู่ในนั้น ….
ความผูกพันกับแม่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ที่พัฒนาต่อเนื่องกันจนกระทั่งคลอดผ่านวันเวลา เรียก... สายสัมพันธ์ (Attachment)
เริ่มตั้งแต่สายรก ในท้องแม่ เมื่อสายรกถูกตัดขาด แม่ยังอุ้มติดตัวนานเท่านาน บ่อยเท่าบ่อยตลอด 12 เดือนแรกของชีวิต เพื่อสร้างความไว้วางใจ (trust)
มาสร้างสายสัมพันธ์ สร้างความไว้วางใจกับลูกกันค่ะ สร้างตั้งแต่วันที่เขาเกิด เพื่อวัยรุ่นที่ไม่บอบช้ำหรือบาดเจ็บ เพราะเขาต้องเติบโต เขาจึงต้องพยศและแยกจากอีกครั้ง
ตามลิงก์นี้ค่ะ
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ
เอามาเขียนต่อให้ยาวค่ะ 😄
โฆษณา