21 ก.พ. 2023 เวลา 05:10 • การศึกษา

บุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมหรือไม่

มารู้จักคำว่าบุตรบุญธรรมกันก่อน “บุตรบุญธรรม” หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ได้รับบุคคลหนึ่งมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนเช่นบุตรของตนเอง กล่าวคือ ไปรับดำเนินการอุปถัมภ์รับเด็กมาเลี้ยงโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดแต่อย่างใด ซึ่งในการอุปการะเลี้ยงดูนั้นจะต้องมีคุณสมบัติและจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง มิฉะนั้นจะไม่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมแต่อย่างใด
ตามกฎหมายความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม-บุตรบุญธรรมต้องคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องมีอายุแก่กว่าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
2. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง
3. ผู้เป็นบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง
4. ผู้รับบุตรบุญธรรมหากมีคู่สมรสจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน
5. เมื่อบุตรบุญธรรมได้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้รับบุตรบุญธรรมใดแล้วจะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกไม่ได้ เว้นแต่ เป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
เมื่อมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายถือเป็นผู้สืบสันดานลำดับที่ 1 ของผู้รับบุตรบุญธรรม มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่บุตรบุญธรรมไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้เพราะไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง (ผู้สืบสายโลหิตอย่างแท้จริง)
การรับบุตรบุญธรรมเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต่อมาต้องการจะยกเลิกการรับบุตรบุญธรรมก็สามารถทำการยกเลิกกันได้โดยการจดทะเบียนเลิกรับบุตรบุญธรรม เช่น กรณีบุตรบุญธรรมบรรลุนิติภาวะก็สามารถตกลงกับผู้รับบุตรบุญธรรมให้ยกเลิกความเป็นบุตรบุญธรรม แต่ถ้าบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาโดยกำเนิด และหากบุตรบุญธรรมอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บุตรบุญธรรมต้องยินยอมด้วย
นอกจากนี้ การยกเลิกความเป็นบุตรบุญธรรมอาจเกิดจากคำสั่งศาลให้ยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม หรือเกิดจากการที่บุตรบุญธรรมสมรสกับผู้รับบุตรบุญธรรม เนื่องจากไม่ใช่บิดามารดาที่แท้จริงจึงซึ่งเป็นเหตุให้ต้องเลิกความเป็นบุตรบุญธรรม
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บุตรบุญธรรมเป็นเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นผู้สืบสันดาน จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมได้นั่นเอง
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.net
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา : www.bsru.ac.th
เฟสบุ๊คสาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : https://www.facebook.com/SchoolofLawBSRU/
เว็บไซต์สาขาวิชานิติศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา : http://site.bsru.ac.th/law/
โฆษณา