19 มี.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ วัยเด็กของหลวงพ่อปัญญา

จากหนังสือ ลำธารริมลานธรรม
เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล
หลวงพ่อปัญญา หรือปัญญานันทภิกขุ เป็นสหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มีชื่อเสียงมากในด้านการเผยแผ่ธรรมคำเทศนาของท่านเข้าใจง่าย
เป็นเหตุเป็นผล ระคนด้วยมุขชวนขันมุ่งพาคนออกจากความงมงายหลงใหลในไสยศาสตร์ และการหมกมุ่นในอบายมุข
ทุกหนแห่งที่ท่านแสดงธรรม จะมีญาติโยมติดตามไปฟังเป็นจำนวนมาก เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ก็ตามฟังจากรายการวิทยุ หรือไม่ก็จากตลับเทป
หลวงพ่อปัญญาเกิดที่จังหวัดพัทลุง ในครอบครัวชาวนานามเดิมว่า ปั่น บิดามารดาของท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรมและมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หาอะไรมาได้ก็จะแบ่งปันให้เพื่อนบ้านอยู่เสมอแม้ไม่ได้ร่ำรวย
ท่านพูดถึงความรู้สึกในช่วงที่เป็นเด็กว่า “ครั้งเป็นเด็ก ๆ นี้เบื่อที่สุดในการที่จะเอาแกงไปแจกบ้านโน้น เอาขนมไปแจกบ้านนี้ เวลาโยมทำอะไรกิน
เช่น ได้เนื้อมาก้อนหนึ่ง เอามาขึ้นแกงหม้อหนึ่ง ต้องตักไปแจกทุกบ้าน ได้ทุเรียนมาสองสามผล ทำน้ำกะทิอ่างใหญ่ ๆ ต้องเอาไปแจกทุกบ้าน ถ้าได้ปลามาเป็นเข่ง ต้องเอามาแบ่งเป็นกอง ๆ
1
เด็กต้องเอาไปแจก เรือนนั้นกอง เรือนนี้กองได้อะไรมาก็ไปแจกอยู่อย่างนั้น สมัยเด็ก ๆ นี่เบื่อเต็มทีพอเห็นเขาแบ่งกองปลาก็คิดว่า แย่อีกแล้ววันนี้ วิ่งกันเต็มที่ละน่าเบื่อจริง ๆ”
เวลามีใครเดือดร้อน บิดามารดาของท่านก็ยินดีช่วยเหลือเต็มกำลัง ครอบครัวของท่านมีควาย ๒๐ ตัว แต่ก็ให้เพื่อนบ้าน
ยืมไปใช้ทำนาถึง ๑๘ ตัว เหลือไว้ใช้งานเพียง ๒ ตัว
ยิ่งไปกว่านั้นหากมีคนมาขอที่เหลือไปอีก ก็พร้อมจะให้ด้วยความยินดี “คนที่มาขอยืม เขาลำบากกว่าเรามาก เราหาเอาใหม่ได้” คือเหตุผลที่บิดามารดาบอกกับลูกชาย
ไม่ใช่กับเพื่อนบ้านเท่านั้น กับคนแปลกหน้า บิดามารดาของท่านก็เอื้อเฟื้อด้วยความยินดี บางคราวมีชาวบ้านสัญจรผ่านมาและขอพักที่บ้านถึง ๑๕ คน ทั้งสองท่านก็กุลีกุจอจัดหาที่พักและทำอาหารต้อนรับอย่างดียิ่ง วันที่แขกจะเดินทางกลับ มารดาของท่านก็จะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อจัดอาหารเช้าให้ พร้อมทั้งห่ออาหารกลางวันไปกินกลางทางด้วย
เด็กชายปั่นได้เห็นแต่เล็กว่า “การต้อนรับขับสู้เหล่านี้ให้ความสุขใจ ได้มิตรภาพเป็นกำไร คนเดินทางเหล่านี้มักนำอาหารหรือของแปลก ๆ มาฝากบ่อย ๆ เหมือนกัน มิใช่เป็นค่าจ้างแต่เป็นเครื่องหมายแห่งความระลึกถึงกัน”
1
สมัยนั้นพัทลุงขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นนักเลงและดงโจร มีการปล้นวัวควายเป็นประจำ แต่น่าแปลกที่วัวควายของครอบครัวท่าน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือปล่อยไว้กลางทุ่ง ไม่เคยถูกโจรขโมย ตรงข้ามกับเพื่อนบ้าน วัวควายหายอยู่เนือง
1
เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวบิดาของท่านไม่เคยนิ่งเฉย รับเป็นธุระไปตามกลับมาให้ ซึ่งก็มักประสบความสำเร็จเสมอ ไม่ใช่เพราะบิดาของท่านเป็นผู้มีอิทธิพลที่โจรเกรงกลัว แต่เป็นเพราะความดีของท่าน
ท่านเล่าว่าบิดาของท่าน “คบคนทุกเหล่า ให้ทุกอย่างที่เขาต้องการ วัวควายที่มีอยู่ไม่เคยหวง ใครขอไปกี่ตัว ใช้กี่วัน ได้ตามปรารถนา เป็นความเอื้อเฟื้อของบิดามารดาอาตมาที่ช่วยปกป้องควายไว้ได้”
อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ “บางทีบรรดาโจรอาจจะเคยมาอาศัยบ้าน กินข้าวปลาอาหารครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เลยสำนึกในบุญคุณ”
1
เป็นเพราะมีบิดามารดาที่เปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ท่านจึงมีจิตใจใฝ่ธรรมตั้งแต่เยาว์วัย เป็นนิสัยปัจจัยให้ท่านน้อมใจในพระศาสนา หลังจากที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๘ ปี ท่านก็ไม่ได้หวนคืนสู่เพศคฤหัสถ์อีกเลย
เจริญมั่นคงในสมณเพศโดยตลอด ยินดีในการบำเพ็ญทานไม่หยุดหย่อน เช่นเดียวกับโยมบิดามารดาของท่าน แต่แทนที่จะเป็นวัตถุทาน ก็มอบธรรมทาน ซึ่งเป็นทานอันประเสริฐสุด จวบจนท่านมรณภาพด้วยวัย ๙๖ ปี
โฆษณา