5 มี.ค. 2023 เวลา 11:01 • ข่าวรอบโลก

เรื่องราวเกี่ยวกับเอมิเรตส์กับสถานีอวกาศนานาชาติ

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ยาน Dragon ของ SpaceX ได้นำส่งนักบินอวกาศ 4 คนเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จ หนึ่งในนักบินอวกาศที่เดินทางไปกับยานได้แก่ Sultan Al Neyadi นักบินอวกาศระยะยาวคนแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ถ้าใครที่ติดตามข่าวด้านอวกาศกันมาในช่วง 4-5 ปีนี้ จะพบว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นั้น ได้ก้าวข้ามหมุดหมายสำคัญมากมาย เช่น การส่งยาน HOPE ไปสำเร็จดาวอังคารสำเร็จ การฝึกนักบินอวกาศกลุ่มแรก การเป็นเจ้าภาพงาน IAC 2021 และการตั้งเป้าหมาย การตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารอย่างเต็มรูปแบบในปี 2117 (หนึ่งร้อยปีหลังจากนี้)
กิจกรรมดังกล่าว ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานอย่าง active จากสองหน่วยงานได้แก่ UAE Space Agency และ Mohammed Bin Rashid Space Centre (MBRSC) ที่ผลักดันกิจกรรมอวกาศของประเทศ
โดยเฉพาะ Mohammed Bin Rashid Space Centre นั้น ซึ่งตั้งอยู่ที่นครรัฐดูไบ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ ที่ก่อตั้ง Centre แห่งนี้ในปี 2015 เพื่อดันงานด้านอวกาศ
เรียกได้ว่า ภารกิจ Crew-6 ที่ผ่านมานั้นเป็นที่ตื่นเต้นให้กับชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอย่างมาก แม้ Sultan Al Neyad จะไม่ใช่นักบินอวกาศคนแรกของประเทศ (คนแรกคือ Hazza Al Mansouri ที่เดินทางไปกับภารกิจ MS-15) แต่การเดินทางของ Al Mansouri นั้น กินระยะเวลาเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น ในรอบนี้ Al Neyad จะอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเต็มระยะ Expendition (ประมาณ 6 เดือน) ซึ่งนับว่าเป็นภารกิจระยะยาวครั้งแรก
Al Neyad จะอยู่บนสถานีอวกาศในการนับ Expendition ที่ 68, 69, และ 70 และกลับโลกในช่วงแรกของปลายปีนี้
สิ่งนี้ชวนให้เรากลับมามองถึงการตั้งเป้าหมายระยะยาวของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการทำงานด้านอวกาศ ที่ก่อนหน้านี้ ชาติอาหรับนั้นมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิปัญญาให้กับโลกใบนี้มาเป็นเวลากว่า 1,000 ปีทั้ง ดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, เคมี, ปรัชญา และภูมิศาสตร์ มากมาย
ในขณะเดียวกัน กระแส "Arab Space Spring" ก็เกิดขึ้นตาม ๆ กัน เมื่อชาติอย่างซาอุดิอาระเบีย ก็ประกาศผลักดันโครงการอวกาศของตนเช่นกัน และเป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าจับตามองในกลุ่มชาติอารับ
โฆษณา